- จำนวนผู้ว่างงานของเยอรมันในเดือน ส.ค. เพิ่มขึ้น 7,000 ราย เป็น 2.95 ล้านราย ขณะที่อัตราการว่างงานยังคงที่อยู่ในระดับ 6.8% ทั้งนี้นักวิเคราะห์ คาดว่า จำนวนผู้ว่างงานที่เพิ่มขึ้นเกินกว่าคาดการณ์ อาจจะเป็นผลมาจากปัจจัยฤดูกาล
- ความเชื่อมั่นผู้บริโภคของอิตาลีในเดือน ส.ค. เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 98.3 จุด จาก 97.4 จุดในเดือนก่อน จากมุมมองทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นแม้ว่าภาวะการว่างงานจะยังอยู่ในระดับสูงก็ตาม
- จำนวนผู้ขอสวัสดิการว่างงานของสหรัฐในรอบสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 24 ส.ค. ลดลง 6,000 ราย มาอยู่ที่ระดับ 331,000 ราย ลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 336,000 ราย บ่งชี้ว่า ตลาดแรงงานของสหรัฐยังคงมีการฟื้นตัวที่แข็งแกร่ง
- เศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาส 2 ขยายตัว 2.5% เพิ่มขึ้นจาก 1.7% ในการประเมินครั้งแรก จากตัวเลขการส่งออก และสต็อกสินค้าที่เพิ่มขึ้นชดเชยการปรับลดงบประมาณรายจ่ายของภาครัฐ
- แบงก์ ออฟ อเมริกา เมอร์ริล ลินช์ ระบุว่า ตลาดหุ้นจีนมีแนวโน้มลดลงจากการชะลอมาตรการ QE ของ FEDแม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะมีความพร้อมที่จะรับมือกับเหตุการณ์ดังกล่าวได้อย่างดีแต่การชะลอมาตรการ QE จะทำให้เกิดแรงเทขายจำนวนมากออกจากตลาดหุ้นในเอเชีย รวมถึงตลาดหุ้นจีน
- นายกรัฐมนตรีของอินเดีย ยอมรับว่า อินเดียกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจากสถานการณ์ความตึงเครียดในซีเรีย และความกังวลเรื่องการชะลอมาตรการ QE ของสหรัฐ รวมถึงปัจจัยภายในประเทศอีกหลายประการ
- ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยในเดือน ก.ค. หดตัวลง 4.5% จาก -3.2% ในเดือนก่อน ด้วยอัตราการใช้กำลังการผลิต 63.5% จาก 64.8% ในเดือนก่อน โดยเป็นผลผลิตที่ลดลงในอุตสาหกรรมกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ยานยนต์ และแผงวงจรไฟฟ้า
- รายได้ภาคเกษตรกรรมในเดือน ก.ค. หดตัว 1.2% จาก +10.3% ในเดือนก่อน เป็นผลมาจากผลผลิตที่ลดลง 2.7% จากปริมาณข้าว และกุ้งที่ลดลง ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรปรับเพิ่มขึ้น 1.5% ชะลอตัวจาก 2.6% ในเดือนก่อน
- จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือน ก.ค. เพิ่มขึ้น 22% เป็น 2.22 ล้านคน ทำให้ใน 7 เดือนแรกมีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 15 ล้านคน เพิ่มขึ้น 20.4%
- สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง คาดว่า เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และ GDP ในไตรมาส 3 จะฟื้นตัวมาขยายตัวไม่ต่ำกว่า 3% เนื่องจากตัวเลขชี้วัดเศรษฐกิจในเดือน ก.ค. มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน เช่น การส่งออกที่เพิ่มขึ้น 0.8% จากเดือนก่อน และการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มขยายตัว 5.5% จากปีก่อน ซึ่งเป็นตัวเลขสะท้อนการบริโภคภายในประเทศที่เริ่มฟื้นตัว
สรุปยอดสุทธิการซื้อขายของแต่ละกลุ่ม
- SET Index ปิดที่ 1,292.53 จุด เพิ่มขึ้น 16.77 จุด หรือ +1.32% ด้วยมูลค่าซื้อขาย37,334.76 ล้านบาท เป็นการปรับตัวขึ้นเป็นวันแรกใน 11 วันทำการสอดคล้องกับตลาดในภูมิภาค จากแรงบวกของหุ้นกลุ่มสื่อสารและขนส่งที่ฟื้นตัวหลังจากปรับตัวลงแรงก่อนหน้านี้ รวมทั้งหุ้นกลุ่มพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้น 1.5% ตามราคาน้ำมันที่จะปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากสถานการณ์ในประเทศซีเรีย
- ดัชนี SENSEX ของอินเดีย ปิดที่ 18,401.04 จุด เพิ่มขึ้น 404.89 จุด หรือ +2.25% หลังจากค่าเงินรูปีปรับตัวแข็งค่าขึ้นหลังจากอ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เป็นผลมาจากการที่ธนาคารกลางอินเดียมีแผนที่จะจัดสรรเงินดอลลาร์ให้กับบริษัทนำเข้าน้ำมันเพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินรูปี
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเปลี่ยนแปลงในช่วง -0.04% ถึง +0.11% มูลค่าการซื้อขายรวม 67,796 ล้านบาท โดยเป็นการปรับตัวขึ้นในตราสารระยะสั้นเป็นหลัก สำหรับวันนี้มีการประมูลพันธบัตรธปท. อายุ 14 วัน และ 3 ปี มูลค่ารวม 42,000 ล้านบาท
- ธนาคารกลางอินโดนีเซียมีมติขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็น 7.00% จากเดิม 6.5% เพื่อแก้ปัญหาค่าเงินรูเปียห์ที่อ่อนค่าลง และปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ธนาคารกลางอินโดนีเซียเพิ่งมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา แต่ด้วยค่าเงินรูเปียห์ที่อ่อนค่าอย่างรวดเร็ว ทำให้จำเป็นต้องจัดประชุมนัดพิเศษขึ้นเพื่อจัดการปัญหาดังกล่าว