- การส่งออกของยูโรโซนเพิ่มขึ้น 3% ในเดือน มิ.ย. จาก -2.6% ในเดือนก่อน เป็นการกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 3 เดือนจากแรงหนุนในการส่งออกของเยอรมนีที่ขยายตัวถึง 6.3% ขณะที่นำเข้าเพิ่มขึ้น 2.5% จาก -2.1% ในเดือนก่อน ทำให้ยูโรโซนมียอดเกินดุลการค้าที่เพิ่มขึ้นเป็น 14.9 พันล้านยูโร จาก 13.8 พันล้านยูโรในเดือนที่แล้ว ทั้งนี้ เศรษฐกิจยูโรโซนได้กลับมาขยายตัวได้อีกครั้งในไตรมาสล่าสุด หลังอยู่ในภาวะถดถอยมานานถึง 2 ปี
- หนี้สาธารณะของสเปนในเดือน มิ.ย.เพิ่มขึ้นแตะ 9.43 แสนล้านยูโร หรือเพิ่มขึ้น 6.37 พันล้านยูโรจากเดือนก่อน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ของสเปน คิดเป็นสัดส่วน 90.2% ต่อ GDP โดยรัฐบาลคาดว่าหนี้สาธารณะจะแตะระดับ 91.4% ต่อ GDP ในสิ้นปีนี้
- การเริ่มสร้างบ้านใหม่ของสหรัฐในเดือน ก.ค.เพิ่มขึ้น 5.9% สู่ 896,000 ยูนิต ขณะที่ยอดการอนุญาตก่อสร้างเพิ่มขึ้น 2.7% แตะ 943,000 ยูนิต จากการเริ่มสร้างอพาร์ตเมนท์ที่เพิ่มขึ้น 26% แต่การเริ่มสร้างบ้านเดี่ยวลดลง 2.2% ทั้งนี้ การจ้างงานที่ดีขึ้นเป็นปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเป็นปัจจัยกดดันสำคัญ
- ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐเดือน ส.ค.ลดลงสู่ 80 จุด จาก 85.1 จุดในเดือนก่อน เพราะอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบ
- Richard Fisher ประธาน FED สาขาดัลลัส กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐที่พุ่งขึ้นเกิดจากการที่นักลงทุนรับรู้ว่ามาตรการ QE จะต้องสิ้นสุดลงในอนาคต โดยเห็นว่า FEDควรชะลอมาตรการ QE ในเดือนหน้า เนื่องจากตัวเลขการจ้างงานและตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐเริ่มฟื้นตัว ขณะที่ฐานะการเงินของบริษัทต่างๆก็แข็งแกร่งมากพอแล้ว
- หัวหน้าฝ่ายอัตราแลกเปลี่ยนของ UBS คาดว่า FED จะยังไม่ชะลอมาตรการ QE ในเดือนก.ย.หลังจากอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรพุ่งขึ้นแตะระดับ 2.8-2.9% เพราะตลาดกำลังมองว่ามีโอกาสถึง 75-80% ที่ FED จะเริ่มชะลอมาตรการ QE ในเดือนหน้า แต่ภาวะตลาดที่ตึงตัวนี้จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งในการประชุม FED ในเดือน ก.ค.ได้ระบุว่า ประธาน FED มีความกังวลต่อเหตุการณ์ดังกล่าว
- บริษัทชั้นนำ 111 แห่งในญี่ปุ่น 67% เห็นด้วยกับแผนขึ้นภาษีการขายในเดือน เม.ย.2557 ของรัฐบาล เนื่องจากจำเป็นในการฟื้นฟูฐานะการคลังของประเทศ โดยบริษัท 35 แห่งเห็นว่าควรขึ้นภาษีในกรณีที่เศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่อง และอีก 27 แห่งเห็นว่าขึ้นภาษีได้ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ขณะที่อีก 12 แห่งเห็นว่าควรขึ้นภาษีไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร
- ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นห่วงว่าแผนขึ้นภาษีการขาย 3% ในปีหน้าจะทำให้การบริโภคหดตัวรุนแรง เนื่องจากเศรษฐกิจยังไม่แข็งแกร่งเพียงพอ และจะส่งผลกระทบอย่างมาก จึงควรปรับขึ้นเพียงปีละ 1% เพื่อลดผลกระทบต่อการบริโภค
- จีนเตรียมผ่อนคลายเกณฑ์สำหรับการลงทุนจากต่างชาติในเขตการค้าเสรี โดยจะเลิกกฎเกณฑ์บางประการเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการลงทุนจากต่างชาติในพื้นที่บางแห่ง อาทิ เซียงไฮ้ ซึ่งเป็นอีกก้าวหนึ่งในการปฏิรูปเศรษฐกิจที่ต้องการลดบทบาทของรัฐต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจลง
- ราคาบ้านใหม่ของจีนในเดือน ก.ค.เพิ่มขึ้นใน 69 จาก 70 เมือง โดยเมืองกวางโจวเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ 17% จากปีก่อน รองลงมาคือปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ที่เพิ่มขึ้น 14% อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์คาดว่ารัฐบาลจะยังไม่มีมาตรการคุมเข้มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในระยะนี้โดยจะปล่อยให้ราคาปรับเปลี่ยนไปตามความต้องการของตลาด
- เศรษฐกิจฮ่องกงขยายตัว 3.3% ในไตรมาส 2 จากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ขยายตัวถึง 4.2% เพราะมีอัตราการว่างงานต่ำและมีนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้าฮ่องกงถึง 18.8 ล้านคนในครึ่งปีแรก ทั้งนี้ รัฐบาลได้ปรับเป้าการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 2.5-3.5% จากเดิมที่ 1.5-3.5%
- ผู้ว่า ธปท.แสดงความมั่นใจในการรับมือภาวะเงินไหลออกหาก FED ถอนมาตรการ QE เนื่องจากไทยมีพื้นฐานเศรษฐกิจที่สมดุลและแข็งแกร่ง รวมทั้งมีทุนสำรองระหว่างประเทศจำนวนมากพอที่จะรักษาเสถียรภาพไว้ได้ และแม้ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมามีเงินไหลออกจากไทยบ้างแต่ไม่ผิดสังเกตและเป็นปริมาณที่น้อยเมื่อเทียบกับหลายประเทศ ทั้งนี้ ผู้ว่า ธปท. เชื่อว่าผลกระทบจากการถอนมาตรการ QE จะน้อยกว่าช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากตลาดเริ่มรับรู้ไปบ้างแล้วและ FED ยังไม่มีแนวโน้มขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
- SET Index ปิดที่ 1,445.76 จุด ลดลง 7.31 จุด หรือ -0.5% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 38,084.79ล้านบาท โดยเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นในภูมิภาค จากความกังวลต่อการชะลอมาตรการ QE ของ FED หลังจากจำนวนผู้ขอสวัสดิการว่างงานของสหรัฐลดลงเกินกว่าที่นักวิเคราะห์คาดหมายไว้ สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้คือการประกาศตัวเลข GDP ไทยในไตรมาส 2 ในวันนี้ และการประชุม กนง.ครั้งที่ 6 ในวันที่ 21 ส.ค.
- ดัชนี SENSEX ของอินเดีย ปิดที่ 18,598.18 จุด ลดลง 769.41 จุด หรือ -3.97% ปรับตัวลดลงมากที่สุดในภูมิภาค จากความกังวลว่า รัฐบาลอาจมีมาตรการควบคุมเงินไหลออกหลังค่าเงินรูปีอ่อนตัวลงอย่างรวดเร็ว
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเปลี่ยนแปลงในช่วง 0.00% ถึง +0.02% ตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ปรับเพิ่มขึ้นก่อนหน้าจากตัวเลขจำนวนผู้ขอสวัสดิการว่างงานที่ลดลงเกินคาดหมาย สำหรับวันนี้ไม่มีการประมูล
- ในวันศุกร์ที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปีได้เพิ่มขึ้นแตะ 2.86% อันเป็นระดับสูงสุดในรอบ 2 ปีจากความกังวลต่อการชะลอมาตรการ QE ของ FED ในการประชุมเดือน ก.ย.
- Charlie Munger
“หากการลงทุนไม่ยากสักหน่อย ใครๆ ก็รวยกันหมดแล้วสิ”
- Warren Buffet
“ผู้ลงทุนควรถือหุ้นของบริษัทในดวงใจไว้เสมอ ไม่มากก็น้อย และถือหุ้นด้วยความคิดที่ว่าเขาเป็นเจ้าของกิจการคนหนึ่งที่มองอนาคตของธุรกิจในระยะยาวอยู่เสมอ และสิ่งเหล่านี้จะทำให้ผู้ลงทุนมองข้ามความผันผวนเล็กน้อยในระยะสั้นไปได้
ผู้ลงทุนส่วนมากจะมองว่าราคาหุ้นเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จหรือความล้มเหลวในการลงทุน แต่ผมไม่ได้มองอย่างนั้น ผมไม่ได้วัดความสำเร็จในการลงทุนจากราคาหุ้นที่ขึ้นลงแต่เพียงอย่างเดียว ผมใช้ความสำเร็จของธุรกิจที่เขาลงทุนเป็นตัวชี้วัด เพราะเชื่อว่าหากตัวธุรกิจทำได้ดีแล้ว ราคาหุ้นก็จะสะท้อนความสำเร็จได้เองในระยะต่อไป”