เอ็นไวโรเซล เผยวิจัย 3 หัวเมืองใหญ่ ย่างกุ้ง เนปิดอว์ และมัณฑะเลย์ ในพม่า เจาะลึกพฤติกรรมผู้บริโภค สู่แผนการตลาดแบบตรงเป้า เครื่องมือสำคัญของนักลงทุนที่สนใจขุดทองในพม่า
นางสาวสรินพร จิวานันต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอนไวโรเซล ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทได้จัดทำวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคในประเทศพม่าขึ้นช่วงเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ใน 3 เมืองหลักคือ ย่างกุ้ง เนปิดอว์ และมัณฑะเลย์ โดยทั้ง 3 เมือง คิดเป็น 70% ของกำลังซื้อทั้งประเทศ ซึ่งเป็น 3 เมืองหลักที่ขับเคลื่อนประเทศพม่าและมีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจสูงมาก
โดยผลวิจัยพบว่า ย่างกุ้งมีประชากรกว่า 4 ล้านคน มัณฑะเลย์ 1-2 ล้านคน และเนปิดอว์ 9 แสนคน ทั้งนี้ข้อมูลด้านกายภาพของชาวพม่า มีประชากรชายคิดเป็น 46% และเพศหญิงคิดเป็น 54% อายุเฉลี่ยของชาวพม่า อยู่ที่ 35 ปี โดยที่ 70% จะเป็นคนที่อายุน้อยกว่า 45 ปี ส่วนในเรื่องของรายได้ 77% ชาวพม่ามีรายได้เฉลี่ยน้อยกว่า 6,000 บาทต่อเดือน ด้านการศึกษาส่วนใหญ่อยู่ในระดับมัธยมต้นถึงมัธยมปลาย ตามที่รัฐสนับสนุน หรือมีผู้ที่มีระดับการศึกษาสูงถึงระดับปริญญาเพียง 19.8% เท่านั้น อีกทั้ง 60% ของคนพม่าแต่งงานแล้ว และเป็นการแต่งงานที่อายุยังน้อยและนิยมมีลูก เฉลี่ยต่อครอบครัวมีสมาชิก 4-5 คน และมีอัตราการหย่าร้างต่ำมาก
ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบทั้ง 3 เมืองพบว่า ย่างกุ้ง คนส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตที่มีความโมเดิร์นและทันสมัยมากกว่า มีผลให้ขนาดครอบครัวมีขนาดเล็กกว่าคนเมืองอื่น อีกทั้งมีการใช้ชีวิตที่ทันสมัย เปิดรับความทันสมัยเข้ามามากสุด ปรับตัวได้ดีกว่าอีก 2 เมือง ขณะที่เมืองเนปิดอว์เป็นเมืองผสมระหว่างการเปิดรับนวัตกรรมใหม่และความเป็นคนหัวเก่า ส่วนเมืองมัณฑะเลย์มีวิถีแบบอนุรักษ์นิยมหรือค่อนข้างหัวโบราณ
อย่างไรก็ตาม ยามว่างคนพม่านิยม 1.ใช้เวลาอยู่บ้านดูทีวี ซึ่งใช้เวลาราว 2 ช.ม.ต่อวัน 2.ไปวัด และ 3.พบปะตามร้านน้ำชาข้างถนน ขณะที่กลุ่มคนรุ่นใหม่อายุ 14-34 ปี เริ่มมีการสังสรรค์ หรือพบปะกันตามศูนย์การค้าที่เริ่มเปิดให้บริการเพิ่มขึ้น จากปกติชาวพม่าส่วนใหญ่ยังนิยมเดินตลาดและไปตลาดทุกวัน นิยมทำกับข้าวเองที่บ้าน รวมถึงทำกับข้าวไปรับประทานที่ทำงาน
“พฤติกรรมโดยรวมจะพบว่า คนพม่ามีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย คิดเพียงแค่ทำงานหาเงินเลี้ยงตัว กลัวไม่มีเงินใช้ ดังนั้นการนำเสนอสินค้าสู่ชาวพม่า เบื้องต้น ควรเป็นสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือย รวมถึงบริการต่างๆ ที่ตอบสนองความต้องการให้แก่ตัวเองมากขึ้น เช่น ความสวยความงาม สปา เป็นต้น ซึ่งสินค้าและบริการเหล่านี้สามารถเข้ามาทำตลาดได้เช่นกัน แต่ต้องใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าจะทำตลาดได้ ซึ่งย่างกุ้งจะเหมาะแก่กลุ่มสินค้าวัยรุ่นมากสุด รวมถึงกลุ่มคนวัยทำงานด้วย ส่วนมัณฑะเลย์จะเป็นกลุ่มแรงงานค่อนข้างสูง”
สำหรับการคมนาคมกว่า 54% ใช้รถจักรยาน อีก 43% ใช้มอเตอร์ไซด์ โดย 3 เดือนที่ผ่านมานี้มีจำนวนรถยนต์ที่จดทะเบียนการค้าเติบโตขึ้น 4.37% ซึ่งส่วนใหญ่นิยมรถสีขาว ส่วนการบริโภคสื่อนั้นพบว่าโทรทัศน์ยังเป็นสื่อหลักที่เข้าถึงชาวพม่ามากสุด มี 4 ช่องหลักที่ได้รับความนิยมสูงสุดซึ่งเป็นฟรีทีวีคือ MRTV, MWD, MRTV4 และ Channe l7 ตามลำดับ ส่วนรายการที่ได้รับความนิยมสูงสุด 3 อันดับแรกคือ ซีรีย์เกาหลี และจีน, เกมโชว์ต่างประเทศ เช่น The Voice และ Dhamma Deliverance ซึ่งช่วงเวลาไพร์มไทม์ คือ 19.00-22.00น.
นางสาวสรินพร กล่าวต่อว่า การทำตลาดในพม่าจะต้องทำความเข้าใจในวิถีชีวิตของคนพม่าให้มากที่สุด ซึ่งวิธีการทำตลาดของไทยไม่สามารถใช้กับคนพม่าได้ ขณะที่คนพม่าจะเลือกซื้อสินค้าใช้ก็ต่อเมื่อคนรอบข้างบอกว่าดี ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดจึงยังคงต้องใช้วิธีให้ทดลองใช้ แจกตัวอย่างสินค้า รวมถึงโฆษณาทางโทรทัศน์ที่ถูกรสนิยมคนพม่า ที่ประสบความสำเร็จมาโดยตลอด คือใช้ดาราพม่าที่โด่งดังมานำเสนอสินค้าผ่านเพลง และต้องโฆษณานานถึง 1-2 นาที ขณะที่การซื้อ 1 แถม 1 ไม่เหมาะกับพฤติกรรมของพม่า และส่วนใหญ่ยังเลือกซื้อสินค้าที่มีความจำเป็นเท่านั้น เช่น ยังคงใช้ผงซักฟอกเป็นหลักมากกว่าที่จะใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มอีกขั้นตอนหนึ่ง ดังนั้นหากต้องการทำตลาดน้ำยาปรับผ้านุ่มควรใช้วิธีแถมไปกับผงซักฟอกจะดีที่สุด
ทั้งนี้พบด้วยว่า แบรนด์สินค้าที่ประสบความสำเร็จมากสุดในพม่าคือ แบรนด์โลคอล เกาหลี จีน และไทย โดยแบรนด์ไทยที่ประสบความสำเร็จนั้นคือ แบรนด์ที่มีขายผ่างทางชายแดนที่ทำมานานแล้วหลายปี ส่วนแบรนด์ใหม่ๆนั้นยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะจึงจะเห็นผล ที่สำคัญต้องปรับกลยุทธิ์และแผนการขายให้เข้ากับพฤติกรรมชาวพม่าด้วยจึงจะสำเร็จได้