- จอห์น เคอร์รี่ รมว.ต่างประเทศสหรัฐ ระบุว่า ประธานาธิบดีซีเรีย บาชาร์ อัล อัสซาด สามารถหลีกเลี่ยงการถูกโจมตีทางทหารได้หากยอมส่งมอบอาวุธเคมีทั้งหมดภายใน 1 สัปดาห์ และอนุญาตให้มีการตรวจสอบทั้งหมด ในขณะที่ อัสซาด ประกาศว่า ซีเรียและกลุ่มพันธมิตรพร้อมดำเนินการตอบโต้หากถูกกองกำลังต่างประเทศบุกโจมตี และมันจะเป็นทุกอย่างที่สหรัฐน่าจะคาดหวังได้ ทั้งนี้ ล่าสุด CNN ได้แสดงหลักฐานภาพชาวซีเรียที่เสียชีวิตและทุกข์ทรมานจากอาวุธเคมี แต่ยังไม่มีหลักฐานใดใดว่ารัฐบาลซีเรียเป็นผู้ใช้อาวุธ
- องค์การการค้าโลก (WTO) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของมูลค่าการค้าทั่วโลกเหลือ 2.5% ในปีนี้และ 4.5% ในปีหน้า เนื่องจากเศรษฐกิจยุโรปยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ดังที่คาดไว้
- Sentix Research Group รายงานว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนในยูโรโซนเดือน ก.ย. เพิ่มขึ้น 11.3 จุดสู่ระดับ +6.5 ซึ่งสูงสุดและอยู่ในแดนบวกได้ในรอบกว่า 2 ปี เนื่องจากมุมมองของนักลงทุนที่ว่าเศรษฐกิจยูโรโซนกำลังจะพ้นจากภาวะถดถอยและมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง
- ธ.กลางฝรั่งเศส เพิ่มคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 3 จาก 0.1% เป็น 0.2% เนื่องจากภาคธุรกิจมีความเชื่อมั่นที่จะลงทุนมากขึ้น พร้อมทั้งระบุว่า ฝรั่งเศสฟื้นตัวจากภาวะถดถอยแล้ว หลังจากที่ GDP ในไตรมาสแรกขยายตัวได้สูงเกินคาดที่ 0.5%
- ธ.กลางอิตาลี รายงานว่า ยอดหนี้เสียภาคธนาคารเดือน ก.ค. เพิ่มขึ้น 22.3% เมื่อเทียบรายปี โดยวิกฤตเศรษฐกิจที่ยาวนานได้ส่งผลต่อคุณภาพสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง เป็นสาเหตุให้ ธ.พาณิชย์ในอิตาลียังคงลดการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของอิตาลีได้
- เอสเธอร์ จอร์จ ประธาน FED สาขาแคนซัสซิตี้ ระบุว่า ขณะนี้ถึงเวลาที่จะปรับลดขนาดมาตรการ QE แล้ว เนื่องจากสถานการณ์จ้างงานได้ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้น โดยสิ่งที่ FED ควรดำเนินการในการประชุมวันที่ 17-18 ก.ย.นี้ ได้แก่การปรับลดวงเงินเข้าซื้อสินทรัพย์ลงสู่ 7 หมื่นล้านดอลล่าร์ต่อเดือน จากปัจจุบัน 8.5 หมื่นล้านดอลล่าร์ รวมถึง เพิ่มความชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินนโยบายในอนาคตที่จะแบ่งการเข้าซื้อ MBS และพันธบัตรระยะยาวในสัดส่วนที่เท่ากัน เพื่อให้ตลาดสามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้
- S&P และ Moody’s คงอันดับความน่าเชื่อถือของออสเตรเลียที่ AAA เนื่องจากมีความยืดหยุ่นทางการเงิน มีการปรับตัวทางเศรษฐกิจ และเสถียรภาพของนโยบายสาธารณะของประเทศ นอกจากนี้ ยังคาดว่ารัฐบาลใหม่จะใช้ยุทธศาสตร์ทางการคลังที่มุ่งลดการขาดดุลงบประมาณในอนาคต ซึ่งคล้ายคลึงกับรัฐบาลชุดก่อนหน้า ส่งผลให้ออสเตรเลียเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ยังสามารถรักษาอันดับความน่าเชื่อถือไว้ที่ AAA ซึ่งเป็นระดับสูงสุดไว้ได้
- สนง. สถิติแห่งชาติจีน รายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน ส.ค.ขยายตัว 2.6% เมื่อเทียบรายปี ชะลอลงจาก เดือน ก.ค. ที่เป็น 2.7% ในขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ลดลง 1.6% เมื่อเทียบกับ เดือน ก.ค. ที่ชะลอตัวลง 2.3% ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำจะช่วยเอื้อให้รัฐบาลสามารถดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากขึ้น หลังจากที่รัฐบาลให้คำมั่นว่าจะผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจให้เป็นไปตามเป้าหมาย 7.5% ในปีนี้
- รัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่ม GDP ประจำไตรมาส 2 เป็นขยายตัว 3.8% เมื่อเทียบเป็นรายปีจากการประเมินครั้งก่อนที่ 2.6% เนื่องจากตัวเลขการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐบาลเติบโตมากกว่าที่คาดไว้ อนึ่ง การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้ส่งผลให้ความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 5% เป็น 8% ในเดือน เม.ย. ปีหน้าตามแผนที่วางไว้สูงขึ้นโดยจะมีการตัดสินใจในวันที่ 1 ต.ค. นี้
- ยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของญี่ปุ่นในเดือน ก.ค. ลดลง 12.9% จากปีก่อน มาอยู่ที่ 5.773 แสนล้านเยน ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากค่าเงินเยนอ่อนลง ส่งผลให้ต้นทุนสินค้านำเข้าสูงขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
- ดัชนีความเชื่อมั่นภาคบริการของญี่ปุ่นเดือน ส.ค. ลดลงสู่ 51.2 จาก 52.3 ในเดือน ก.ค.ลดลง 5 เดือนติดต่อกัน อาจเป็นสัญญาณว่าความเชื่อมั่นจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของ ชินโซ อาเบะ เริ่มลดลง
- ก. การค้า อุตสาหกรรมและพลังงานของเกาหลีใต้ ระบุว่า การส่งออกของเกาหลีใต้ปรับตัวดีขึ้น หลังจากยอดส่งออกสินค้าไอทีในเดือน ส.ค. ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งที่ 11.4% เมื่อเทียบรายปีจากอุปสงค์ของสมาร์ทโฟน ชิพ และโทรทัศน์ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ขณะที่ยอดส่งออกรถยนต์ขยายตัวในรอบ 7 เดือนที่ 38.9% อย่างไรก็ตาม ยอดส่งออกรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นนั้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานที่ต่ำในปีที่แล้วที่บริษัทรถยนต์หลายแห่งต้องหยุดการผลิตจากการประท้วงของพนักงาน
- ความเชื่อมั่นผู้บริโภคอินโดนีเซีย ณ สิ้นเดือน ส.ค.ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 1 ปีมาอยู่ที่ 107.8 เพราะความกังวลในภาวะเศรษฐกิจ ค่าจ้าง และตำแหน่งงาน ทำให้ผู้บริโภคลดการใช้จ่าย
- สนง. สถิติแห่งชาติ รายงานว่า เดือนมิ.ย ไทยมีจำนวนผู้ว่างงานลดลง 4.8 หมื่นคน ในขณะที่จำนวนผู้มีงานทำเพิ่มขึ้น 3.7 แสนคนเมื่อเทียบกับ มิ.ย.ปีที่แล้ว โดยมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในภาคเกษตรกรรม และสาขาพักแรม กับการบริการด้านอาหาร
- SET Index ปิดที่ 1,384,31 จุด เพิ่มขึ้น 48.06 จุด หรือ +3.6% ด้วยมูลค่าซื้อขาย49,039.11 ล้านบาท โดยดัชนีเคลื่อนไหวในแดนบวกตลอดทั้งวันและปิดในระดับสูงสุดของวัน ทั้งนี้ ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นตามตลาดต่างประเทศ โดยได้รับปัจจัยบวกจากตัวเลขทางเศรษฐกิจของจีน และญี่ปุ่นที่ส่งสัญญาณการฟื้นตัว รวมถึงมีแรงซื้อเข้ามาในกลุ่มพลังงานจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้น
สรุปยอดสุทธิการซื้อขายของแต่ละกลุ่ม
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเปลี่ยนแปลงอยู่ในกรอบแคบไม่เกิน 0.01% โดยมีมูลค่าการซื้อขายรวม 34,972 ล้านบาท สำหรับวันนี้มีการประมูลตั๋วเงินคลังอายุ 1 เดือน และ พันธบัตร ธปท. อายุ 3เดือน/6เดือน/1ปี มูลค่ารวม 116,000 ล้านบาท