- ธ.กลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.5% สอดคล้องกับที่ตลาดคาด โดยระบุว่าอัตราดอกเบี้ยจะยังคงอยู่ที่ระดับปัจจุบันหรืออาจลดลงได้ในระยะต่อไป ซึ่งการผ่อนคลายทางด้านการเงินจะดำเนินต่อไปตราบเท่าที่เล็งเห็นว่ามีความจำเป็น อย่างไรก็ตาม ECB คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะฟื้นตัวจากภาวะถดถอยได้ภายในปีนี้หรือปีหน้า
- มาร์กิต รายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของยูโรโซนในเดือน ก.ค.เพิ่มขึ้นสู่ 50.3 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี และเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ ก.ค.2554 ที่ดัชนีอยู่เหนือระดับ 50 โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการผลิตและคำสั่งซื้อใหม่ในขณะที่ธุรกิจการส่งออกมีเสถียรภาพมากขึ้น ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาแยกตามรายประเทศสมาชิก พบว่าภาคการผลิตของประเทศสมาชิกส่วนใหญ่มีการปรับตัวดีขึ้น ยกเว้นสเปนเท่านั้นที่ลดลง
- ธ.กลางอังกฤษ (BOE) มีมติคงวงเงินในมาตรการเข้าซื้อพันธบัตรไว้ที่ 3.75 แสนล้านปอนด์และคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.5% ต่อไป ตามที่ตลาดคาด ถึงแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อในเดือน มิ.ย.ที่ 2.9% ต่อปีจะสูงกว่าเป้าหมายที่ 2% แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่แข็งแกร่ง ทำให้ BOE ไม่สามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อมาชะลอเงินเฟ้อได้
- Markit/CIPS รายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของอังกฤษเดือน ก.ค. ขยายตัว 4 เดือนติดต่อกันไปสู่ 54.6 จาก 52.9 ในเดือน มิ.ย. ส่งสัญญาณว่าภาคการผลิตจะเป็นปัจจัยช่วยผลักดันเศรษฐกิจของอังกฤษที่กำลังฟื้นตัวให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น
- คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของสหรัฐ มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ 0%-0.25% พร้อมเดินหน้าโครงการซื้อสินทรัพย์ (QE) ในวงเงินปัจจุบันที่ 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน โดยไม่ได้มีการส่งสัญญาณว่าจะลดวงเงิน QE ในเร็วๆนี้ ทั้งนี้ ที่ประชุมระบุว่าถึงแม้ตลาดแรงงาน การใช้จ่ายภาคครัวเรือน การลงทุนภาคเอกชน และตลาดที่อยู่อาศัย จะปรับตัวดีขึ้นจนส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรกของปีขยายตัวได้บ้างเล็กน้อย แต่เศรษฐกิจสหรัฐยังจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนต่อไป เพื่อผลักดันให้การฟื้นตัวแข็งแกร่งมากขึ้น รวมถึงช่วยสร้างความมั่นใจว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวขึ้นมาสู่อัตราเป้าหมายที่ 2% ในระยะกลาง อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ FOMC แสดงความกังวลได้แก่ อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายอย่างต่อเนื่องอาจเป็นความเสี่ยงต่อการปรับตัวทางเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ยจำนองที่ปรับตัวสูงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อตลาดที่อยู่อาศัยที่กำลังฟื้นตัว นโยบายการคลังกำลังสกัดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
- จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 ก.ค.ของสหรัฐปรับตัวลง 19,000 ราย สู่ 326,000 ราย ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2551 สะท้อนว่าตลาดแรงงานของสหรัฐกำลังฟื้นตัวต่อเนื่อง
- มาร์กิต รายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐในเดือน ก.ค. เพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือนที่ 53.7 เทียบกับเดือนมิ.ย.ที่ 51.9
- สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) รายงานว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคการผลิตของสหรัฐในเดือน ก.ค.ขยายตัวสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่กลางปี 2554 ไปอยู่ที่ 55.4จาก 50.9 ในเดือน มิ.ย โดยที่ภาคการผลิตแข็งแกร่งขึ้นในเกือบทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดสั่งซื้อสินค้าใหม่ทั้งจากในและต่างประเทศ รวมไปถึงการจ้างงาน
- HSBC รายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของจีนในเดือน ก.ค.ลดลง 2 เดือนติดต่อกันไปอยู่ที่ 47.7 จาก 48.2 ในเดือน มิ.ย. เนื่องจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ปรับตัวลงส่งผลต่อเนื่องให้คำสั่งซื้อและกิจกรรมการผลิตลดลง อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวสวนทางกับการสำรวจของสหพันธ์พลาธิการและการจัดซื้อของจีน (CFLP) ที่รายงานว่า ภาคการผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยตัวเลข PMI อยู่ที่ 50.3 เพิ่มขึ้นจากเดือน มิ.ย.ที่เป็น 50.1
- รัฐบาลออสเตรเลียเตรียมพิจารณาเรียกเก็บภาษีจากเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองในอัตรา 0.5%-1.0% จาก ธ.พาณิชย์ เพื่อเก็บไว้ใช้ในกรณีที่รัฐบาลจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือแก่ภาคธนาคารในอนาคต (ปัจจุบันที่รัฐบาลไม่ได้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมใดๆ จากธนาคารการคุ้มครองเงินฝาก)
- ยอดเกินดุลการค้าของเกาหลีใต้ในเดือน ก.ค.เพิ่มขึ้นสู่ 2.71 พันล้านดอลลาร์ อันเป็นการเกินดุลการค้า 18 เดือนติดต่อกัน เนื่องจากการส่งออกสินค้ากลุ่มไอทีประเภทสมาร์ทโฟนและเซมิคอนดัคเตอร์ขยายตัวมาก ทั้งนี้ เกาหลีใต้สามารถขายของให้กับทุกประเทศคู่ค้าได้เพิ่มขึ้นนอกจากญี่ปุ่นเนื่องจากเงินเยนอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินวอน
- ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของเกาหลีใต้เดือน ก.ค. ขยายตัว 1.4% เมื่อเทียบรายปี และ0.2% เมื่อเทียบรายเดือน เนื่องจากราคาสินค้าการเกษตรและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมปรับตัวสูงขึ้น
- อัตราเงินเฟ้อของอินโดนีเซียในเดือน ก.ค.ขยายตัวขึ้นl^jระดับสูงสุดในรอบกว่า 4 ปีที่ 8.61% จากเดือน มิ.ย.ที่ขยายตัว 5.9% หลังรัฐบาลเลิกอุดหนุนราคาน้ำมัน จึงเป็นไปได้ที่ ธ.กลางจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ แม้ว่าจะปรับขึ้นไปแล้ว 0.75% ในการประชุม 2 ครั้งล่าสุดไปแล้ว อนึ่ง ต้นทุนที่สูงขึ้นนี้อาจจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคภายในประเทศซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการขยายตัวของเศรษฐกิจอินโดนีเซียได้
- ก.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ในเดือน ก.ค. เพิ่มขึ้น 2.00% เมื่อเทียบรายปี และเพิ่มขึ้น 0.10% เมื่อเทียบรายเดือน ในขณะที่ตัวเลข CPI เฉลี่ย 7 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัว 2.60% เนื่องจากราคาอาหารสดเริ่มลดลงเข้าสู่ระดับปกติตามสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการที่ภาครัฐยังคงมาตรการดูแลด้านค่าครองชีพให้แก่ประชาชน ทั้งนี้ คาดว่าโน้มอัตราเงินเฟ้อในปีนี้จะลดลงจากเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว แต่ยืนยันว่าไทยยังไม่อยู่ในภาวะเงินฝืด อย่างไรก็ตาม ก.พาณิชย์เตรียมพิจารณาลดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อปีนี้จากปัจจุบันที่มีกรอบ 2.8-3.4% ต่อไป
- SET Index ปิดที่ 1,473.51 จุด เพิ่มขึ้น 14.37 จุด หรือ 1.01% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 32,718.54 ล้านบาท โดยดัชนีเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดภูมิภาค และปรับขึ้นตลอดช่วงการซื้อขายจากปัจจัยเกี่ยวกับการประชุม FOMC ครั้งล่าสุดที่ไม่มีการส่งสัญญาณลบต่อตลาดหุ้น ในขณะที่ปัจจัยการเมืองเรื่องการชุมนุมต่อต้านการร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ไม่น่าจะมีความรุนแรงในช่วงนี้ ถึงแม้รัฐบาลจะมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความมั่นคงฯ ในระหว่างวันที่ 1 - 10 ส.ค.นี้ ในบางพื้นที่ของกทม.ก็ตาม
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเปลี่ยนแปลง -0.02% ถึง +0.01% สำหรับวันนี้มีการประมูลพันธบัตร ธปท. อายุ 15 วัน มูลค่า 30,000 ล้านบาท
- รัฐบาลอินเดียเตรียมเปิดเสรีกฎการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ เพื่อดึงดูดเงินทุนจากชาวอินเดียในต่างประเทศ รวมถึงกวดขันการนำเข้าสินค้าที่ไม่จำเป็น เพื่อช่วยพยุงค่าเงินรูปีหลังจากที่ได้อ่อนค่าลงไปแล้วเกือบ 10% ตั้งแต่ต้นปี ในขณะที่ต้องเผชิญกับการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 4.8% ของ GDP