ASTVผู้จัดการรายวัน - ผู้นำตลาดวิตามินอันดับหนึ่งของโลก ทุ่ม 6 ล้านเหรียญสหรัฐซื้อแบรนด์ดังยาแก้ไอสมุนไพร “ยูกิก้า” ในเวียดนาม พร้อมพัฒนาสินค้าใหม่อีก 59 ชนิดจากเดิมที่มีถึง 627 ชนิด เพิ่มกำลังผลิตอีก 2 เท่าเป็น 3.8 พันล้านแคปซูลต่อปีในปี 57
นายวิเวก ดาวัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และหัวหน้าฝึกอบรม บริษัท เมก้า ไลฟ์ไซแอ๊นซ์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทดำเนินธุรกิจ 3 ด้านคือผลิตและจำหน่ายเวชภัณฑ์คุณภาพสูง รวมถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและยารักษาโรคภายใต้ชื่อ “เมก้า วี แคร์” ธุรกิจขนส่งและกระจายสินค้าในประเทศพม่า เวียดนาม และกัมพูชา ภายใต้ชื่อ “แมกซ์แคร์” นอกจากนี้ยังมีการรับจ้างผลิตในลักษณะ OEM ให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆ อีกด้วย
ปัจจุบันบริษัทมีโรงงานตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรปราการ 2 แห่ง และในประเทศออสเตรเลีย 1 แห่ง โดยในส่วนของโรงงานในประเทศไทยมีกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์ 627 ชนิด รวมทั้งสิ้นเป็นจำนวน 1.9 พันล้านแคปซูลต่อปี ทำการจำหน่ายภายในประเทศ 35% ส่วนที่เหลือ 65% เป็นการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน เอเชีย แอฟริกาใต้ และอื่นๆ รวมทั้งสิ้น 29 ประเทศทั่วโลก
ในปี 2555 บริษัทมีรายได้ทั้งสิ้น 6,034 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากการผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ของบริษัท 44.5% คิดเป็นจำนวนเงิน 2,700 ล้านบาท รายได้จากการขนส่งและกระจายสินค้า 45.7% คิดเป็นจำนวนเงิน 2,766 ล้านบาท และรายได้จากการรับจ้างผลิตในลักษณะ OEM 9.8% คิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 500 ล้านบาท โดยรายได้ทั้งหมดคิดเป็นสัดส่วนที่จำหน่ายในประเทศไทย อาเซียน เละเอเชีย 83.3% ส่วนที่เหลือมาจากการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ในทวีปแอฟริกาใต้ 16.7% โดยคาดว่าภายในปี 2556 บริษัทจะมีรายได้เติบโตขึ้นประมาณ 20%
“ประเทศไทยถือเป็นตลาดหลักที่สำคัญและเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดของบริษัท แต่บริษัทก็มีการขยายตลาดใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอาเซียนซึ่งเรามีสำนักงานขายเกือบครบทุกประเทศยกเว้นเพียงลาวและบรูไน ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนรายได้ในอาเซียนและเอเชีย 83.3% นั้นมาจากกลุ่มประเทศอินโดจีนสูงถึง 78.8% โดยเฉพาะในประเทศพม่าซึ่งบริษัทเข้าไปบุกเบิกตั้งแต่ปี 2538 จนปัจจุบันถือเป็นผู้นำตลาดและธุรกิจขนส่งยา วิตามิน และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารรายใหญ่ที่สุดด้วยสัดส่วนประมาณ 30% “
ขณะเดียวกันบริษัทยังพร้อมที่จะเปิดตลาดใหม่ๆ ในทวีปแอฟริกาเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่เริ่มทำตลาดใน 5 ประเทศคือ ไนจีเรีย กานา เคนยา ยูกานดา และแทนซาเนีย โดยคาดว่าในปี 2557 จะทำตลาดใหม่เพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 5 ประเทศ เช่น ซูดาน กินี และอื่นๆ”
นายวิเวกกล่าวด้วยว่า บริษัทเพิ่งใช้เงินลงทุน 6 ล้านเหรียญสหรัฐในการซื้อแบรนด์ “ยูกิก้า” ยาอมแก้ไอสมุนไพรที่มีส่วนผสมของยูคาลิปตัสซึ่งถือเป็นแบรนด์อันดับหนึ่งในตลาดประเทศเวียดนาม โดยจะยังคงให้บริษัท โฮง แซง ฟาร์มาซูติคอล-DHG จำกัด ในประเทศเวียดนามเป็นผู้ผลิตต่อไป แต่กิจการจะถูกควบรวมเข้ากับเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่มีความเชี่ยวชาญด้านแบรนดิ้งและการตลาดระดับโลกที่แข็งแกร่งของเมก้า ไลฟ์ไซแอ๊นซ์ โดยขณะนี้บริษัทกำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาว่าจะเริ่มทำตลาดและจดทะเบียนยาในประเทศใดก่อน โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มทำตลาดได้ภายในปี 2557 และคืนทุนได้ภายในเวลา 5 ปี
“การซื้อแบรนด์ยูกิก้าครั้งนี้ถือเป็นการลงทุนเพื่อการพัฒนาธุรกิจ เนื่องจากเราเห็นประโยชน์จากการรวมอุตสาหกรรมเวชภัณฑ์ที่หลากหลายในตลาดที่กำลังเติบโตเข้าด้วยกันผ่านการซื้อแบรนด์ต่างๆ ซึ่งหากเราเห็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ก็พร้อมจะซื้อแบรนด์อื่นๆ เพิ่มขึ้นด้วย โดยในส่วนของแบรนด์ยูกิก้านี้ถือว่ามีช่องทางการทำตลาดที่มีอนาคตทั้งในประเทศเวียดนามและประเทศอื่นๆ เนื่องจากในประเทศเวียดนามมีร้านจำหน่ายยามากกว่า 5 พันแห่ง หากเราสามารถกระจายสินค้าได้ครบก็ย่อมจะทำรายได้เพิ่มขึ้นอีกมาก ขณะเดียวกัน ในส่วนของตลาดยาในประเทศไทยก็มีมูลค่ากว่า 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถ้าเราสามารถทำตลาดได้ก็จะทำให้ครองส่วนแบ่งได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน”
ปัจจุบันบริษัทถือเป็นผู้นำตลาดวิตามินอันดับหนึ่งของโลก โดยขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นอีก 59 ชนิด พร้อมกับกำลังอยู่ในช่วงขึ้นทะเบียนเพื่อจำหน่ายในประเทศต่างๆ อีก 79 ชนิดภายในปี 2556 โดยบริษัทยังมีแผนเพิ่มกำลังผลิตเป็น 3.8 พันล้านแคปซูลต่อปีภายในปี 2557 พร้อมกับเตรียมพื้นที่ 30 ไร่ภายในนิคมอุตสาหกรรมบางปู เพื่อก่อสร้างโรงงานแห่งที่สามในประเทศไทยในอนาคตอันใกล้นี้
ล่าสุดบริษัทมีเป้าหมายในการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SEC) โดยมีบริษัท หลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ โดยระบุแผนที่จะออกหุ้นจำนวน 216.31 ล้านหุ้น (ทุนจดทะเบียน 0.50 บาทต่อหุ้น) โดยหุ้นจำนวน 129.78 ล้านหุ้นจะเป็นหุ้นใหม่ ส่วนที่เหลือ 86.52 ล้านหุ้นเป็นหุ้นจากผู้ถือหุ้นเดิม ภายหลังจากการจดทะเบียน ผู้ถือหุ้นเดิมจะถือหุ้นร้อยละ 75 ในขณะที่ร้อยละ 25 จะถือโดยผู้ถือหุ้นรายใหม่ๆ