xs
xsm
sm
md
lg

อ่อนปวกเปียก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แมงเม้าท์เล่าอินไซด์ มาแล้ววจร้า ... ตะหงิด อยู่นานแล้วสำหรับหุ้นไทยที่ทำเป็นขึ้นแบบไร้เรี่ยวแรง ในที่สุดต่างชาติก็ทนไม่ไหวยอมถล่มแหลก หลังจากค่าเงินบาทไทยหงายเงิบอ่อนค่าหลุด 31.40 บาท แถมตีแรงขึ้นไปแตะ 32 บาทด้วยซ้ำ งานนี้มีหรือหุ้นไทยจะเหลือก็ต่างชาติเค้าก็กลัวขนลุกอะดิ หากเงินบาทไทยอ่อนไปไม่หยุดก็เลยกระหน่ำเทขายหุ้นไทย แบบจัดหนัก ขายหุ้นสุทธิตลอดสัปดาห์รวมมูลค่า 24,817.38 ล้านบาท

กดให้ดัชนีหุ้นไทยสัปดาห์ที่ผ่านมา ( 19-23 ส.ค.) ดิ่งลงอย่างหนัก เบ็ดเสร็จ ร่วง 107.63 จุด หรือ 7.44% จากสัปดาห์ก่อนหน้ามาปิดที่ระดับ 1,338.13 จุด มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 22.16% จากสัปดาห์ก่อน มาอยู่ที่ 49,872.53 ล้านบาท

ถ้าจะเอาแบบสาระที่ทำให้ต่างชาติ เซย์กู๊ดบาย หุ้นไทยอย่างหนัก เป็นผลมาจากความกังวลการลดขนาดซื้อสินทรัพย์ของธนาคารกลางสหรัฐที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ ประกอบกับปัจจัยในประเทศ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส2/2556 ออกมาน่าผิดหวัง ขยายตัวเพียง 2.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 0.3% จากไตรมาสก่อนหน้า จึงขาดความเชื่อมั่น

แต่จริงๆ แล้วเวลาขาย ต่างชาติไม่ได้ขายหนีตาย แต่ขายเพื่อเอากำไรด้วย ลองดู เพราะล่าสุด นางเกศรา มัญชุศรี รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 20 ส.ค.นี้ มียอดชอร์ตเซลหรือยืมหุ้นขายล่วงหน้ามูลค่า 1.2 แสนล้านบาท โดยยอดชอร์ตเซลเริ่มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่เดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นระยะที่ดัชนีหุ้นเริ่มปรับตัวลดลง หรือในช่วง 3 เดือนหลังมียอดชอร์ตเซลหุ้นไทยรวมแล้ว 63,361 ล้านบาท และมีสัดส่วนการทำชอร์ตเซลสูงกว่าการซื้อขายรวม โดยเดือน มิ.ย.อยู่ที่ 2.17% เดือน ก.ค. 2.52%และวันที่ 1-20 ส.ค.เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.78% จากช่วงต้นปีจะอยู่ที่ระดับ1%

แล้วจะเอาอย่างไรกับหุ้นนรกแตก ... เมื่อหุ้นเจ็บด้วยเงินบาท ก็ต้องหันไปดูเงินบาท วันศุกร์ที่ผ่านมาเงินบาทแม้จะอ่อนเกิน 32 บาทระหว่างวัน แต่ท้ายที่สุดปิดต่ำดีแข็งค่าขึ้นมาหน่อย งานนี้ก็ลุ้นแระกันว่าหุ้นต้นสัปดาห์จะรีบาวน์ได้ แต่ท้ายที่สุดแล้วจะรีบาวน์ได้ถึงไหนต้องวัดใจว่าต่างชาติแต่คัมแบ็คหรือไม่ ที่แถวๆ 31.40 บาทต่อดอลล์ คือ จุดวัดใจ พวกที่ติดอาจจะขายหุ้นแถวนั้น แต่ถ้าแข็งเกิน 31.40 บาทได้หุ้นก็มีแววกลับมาดูแค่นี้

ส่วนหุ้น บล.กิมเอ็งมองแนวรับหลัก 1,260 จุด หากดูตามเหตุผล จากBloomberg Earning ปี 2013 EPS คาดการณ์ที่ 109 และปีหน้าที่ 119 คูณกลับไปที่ PEx ของ MSCI Asia Pacific Ex.Japan ที่อยู่ระดับเฉลี่ย 11.5 เท่า ก็จะได้กรอบของการซื้อขาย ปี13-14 ที่ระดับเต็มมูลค่าที่เฉลี่ย ของภูมิภาคที่ 1,253-1,368 (เป็นระดับที่เต็มมูลค่าปีนี้ปีหน้า)

ดังนั้น หากจะหา upside ก็จะต้อง "ต่อราคา" มากกว่านี้ โดยหากเราดึง PEx ลงมาที่ระดับ 11 เท่า (จาก 11.5 เท่า) เราจะได้กรอบของแนวรับที่ 1,200-1,310 จุด

แต่ในช่วงนี้คือปลายปี 2013 จะต่อไป 2014 จะใช้ EPS ปี 13 ก็ไม่น่าจะเมคเซนส์ ดังนั้น กรอบของการซื้อควรจะอยู่แถวๆ 1,253-1,310 จุด (11.5x EPS109 และ 11.0xEPS119)

ระดับการขายของฝรั่งจะหยุดเมื่อไหร่ จากข้อมูลล่าสุดวันที่ 20 สิงหาคม 2553 ในตลาดหุ้นยังมีเงินซื้อสุทธิสะสมตั้งแต่หุ้น 400 จุดอยู่อีก 70,000 ล้านไม่รวมกำไรที่เกิดระหว่างทางและส่วนต่างมูลค่าหุ้น และ YTD อยู่ในพันธบัตรอีก 344,000 ล้านบาท-นี่คือความเสี่ยงของ Flow Out กับ ค่าเงินบาท

ถ้าจะหาหุ้นที่น่ากลัวจากการขายต่อก็เลยไปดูตัวเลข Net Buy สะสม ของ NVDR TOP5 YTD คือ INTUCH BAY ADVANC DTAC PTTGC ซึ่งมีความเสี่ยงจากการถูกขายลงมา ส่วนหุ้นที่ Net Sell YTD เยอะๆและไม่โชว์ Net Buy กลับในเดือนนี้เลยและที่น่าสนใจ คือ SCC BANPU เรียกได้ว่า Cheap Valuation และ Under-owned

ด้าน บล.กสิกรไทยคาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ 26-30 ส.ค. 2556 ดัชนียังคงผันผวน โดยที่ต้องจับตาแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ และรายงานตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ อาทิ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน เครื่องชี้ราคาที่อยู่อาศัย จีดีพีไตรมาส 2/2556 (Second est.) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Mich. Consumer Sentiment Index)

ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด คาดว่า ดัชนีจะมีแนวรับที่ 1,325 และ 1,260 ขณะที่แนวต้านคาดว่าจะอยู่ที่ 1,379 และ 1,398 ตามลำดับ

ส่วน TISCO Wealth เชื่อว่า เศรษฐกิจของไทยไม่ได้น่ากังวลอย่างที่หลายฝ่ายกังวล แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในช่วง GDP ไทย 2Q13 ขยายตัว 2.8% ต่ำกว่าตลาดคาดที่ 3.3% แต่เป็นการถดถอยทางเทคนิค ครั้งแรกตั้งแต่ปี 2008 จะจากตัวเลขดังกล่าว ส่งผลให้ GDP ครึ่งปีแรกขยายตัว 4.1% อย่างไรก็ตาม นักลงทุนหลายคนอาจสงสัยว่าแล้วในปีนี้ เศรษฐกิจไทยจะมีปัญหาและสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องหรือไม่ ซึ่งในมุมมองของเรา คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง โดยในปี 2013 คาดว่า GDP จะขยายตัว 4% เป็นผลจากการส่งออกอาจฟื้นตัวได้ ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา รวมถึงการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนที่อาจขยายตัวได้ จากโครงการลงทุนต่างๆ ของรัฐบาล ขณะที่การขยายตัวของ GDP ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ 4.1% YoY ไม่ได้ถือว่าเป็นระดับที่แย่ และมองว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วใน 2Q13 และคาดว่าจะขยายตัวได้ดีขึ้นในครึ่งหลังของปีนี้ ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศหลัก (G3)

ขณะที่เศรษฐกิจของอินโดนีเซียที่มีปัญหานั้นจะแตกต่างกับของไทย คือ ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดช่วงไตรมาส 2 เลวร้ายกว่าคาดไว้ที่ 9,800 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่าจำนวนมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติการณ์เลยทีเดียว นอกจากนี้ ค่าเงินรูเปียะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา อ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 4 ปี อีกทั้งตลาดหุ้นหุ้นปรับลงมากที่สุดในรอบ 22 เดือน นอกจากนี้ ในด้านของตลาดพันธบัตรรัฐบาลก็ซบเซาไปด้วย เพราะนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของอินโดนีเซียมากขึ้น เพราะเป็นเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดภูมิภาคเอเชียอาคเนย์

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า เศรษฐกิจของไทยและอินโดนีเซียนั้นมีปัญหาทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ซึ่งของไทย คาดว่าได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ขณะที่อินโดนีเซีย เป็นปัญหาที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไข ดังนั้น TISCO Wealth มองว่า ในช่วงที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงนั้นน่าจะเกิดเพียงในระยะสั้น เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจไทย รวมทั้งการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในไทยยังเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ดังนั้น ในช่วงนี้ถือเป็นเป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะกลับเข้าไปสะสมหุ้นไทยอีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น