xs
xsm
sm
md
lg

ยอดชอร์ตเซลพุ่งทั้งปีโต 113,000 ล. นักลงทุนมีความเข้าใจมากขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ชอร์ตเซล” แนวโน้มสดใส คาดปีนี้มูลค่ารวมเกินกว่า 113,000 ล้านบาท ประมาณ 10-30% ไม่สนตลาดบวกหรือลบ เหตุเกณฑ์เปิดกว้างมีสินค้าให้เข้าลงทุนเพิ่มขึ้น หลังขยายจาก SET50 เป็น SET100 อีกทั้งนักลงทุนมีความเข้าใจมากขึ้น พบมกราคมมีมูลค่ามากกว่าหมื่นล้าน

นายวสันต์ จันทร์สัจจา ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธุรกรรมการขายชอร์ต หรือชอร์ตเซล กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในนักลงทุน ทำให้มูลค่ารวมของธุรกรรมดังกล่าวในอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมากจากเดิม อีกทั้งช่วงเดือนมกราคมซึ่งเป็นเดือนแรกของปี 2556 พบว่า ดัชนีหลักทรัพย์มีความผันผวนสูง คือ ทั้งปรับตัวขึ้น ทำให้เชื่อว่าเพียงเดือนเดียว และเดือนแรกของปีก็จะมีมูลค่าชอร์ตเซลรวมมากกว่า 10,000 ล้านบาท สูงขึ้นจากเดือนมกราคมในปี 2555 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 7,064 ล้านบาท

“ในปี 2554 ต้นปีเมื่อ 4 ม.ค. ดัชนีอยู่ที่ 1,042.41 จุด และวันที่ 30 ธ.ค.54 ดัชนีอยู่ที่ 1,025.32 จุด ลดลงประมาณ 2% แต่มูลค่าชอร์ตเซลสูงถึง 113,148.83 ล้านบาท เพราะในช่วงสิงหาคม-ตุลาคม ดัชนีปรับตัวลดลงมากร่วม 300 จุด ทำให้เกิดการทำชอร์ตเซลในช่วงดังกล่าวเยอะมาก

อย่างไรก็ตาม ปี 2555 วันที่ 4 ม.ค. ดัชนีอยู่ที่ 1,036.21 จุด แต่ปลายปีเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. ดัชนีอยู่ที่ 1,396.93 จุด เพิ่มขึ้น 34.03% มูลค่าซอร์ตเซลทั้งปีอยู่ที่ 113,024.09 ล้านบาท นั่นแสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าดัชนีจะปรับตัวขึ้นหรือลง นักลงทุนก็สามารถใช้ธุรกรรมดังกล่าวสร้างผลตอบแทนได้” นายวสันต์กล่าว

ทั้งนี้ เชื่อว่าสาเหตุที่ธุรกรรมดังกล่าวมีวอลุ่มสูงขึ้น เพราะนักลงทุนเริ่มเข้าใจประโยชน์จากการใช้เครื่องมือการลงทุนในรูปแบบนี้ และเห็นถึงประโยชน์ที่สูงกว่าการถือหุ้นไว้เฉยๆ ซึ่งเชื่อว่า ความนิยมต่อธุรกรรมชอร์ตเซลจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีนี้ เพราะเพียง 20 วัน ของเดือน ม.ค.มูลค่าชอร์ตเซลเฉลี่ยตัววันก็อยู่สูงถึง 571 ล้านบาท/วัน มากกว่าช่วงเดียวกันในปี 55 ที่อยู่ระดับ 353 ล้านบาท

โดยในปี 2555 หุ้นที่ได้รับความนิยมนำมาในธุรกรรมชอร์ตเซล ประกอบด้วย KBANK SCB BBL PTTGC PTT TOP BANPU ADVANC IVL และ PTTEP ขณะที่ในเดือน ม.ค.ปี 56 หุ้นที่นิยมในธุรกรรมชอร์ตเซล คือ KBANK ADVANC PTTEP SCC BBL PTTGC KTB SCB PTT และ BLAND ตามลำดับ

“แต่เดิมหลายคนกังวลต่อธุรกรรมแบบนี้ ไม่กล้าที่จะเข้ามาลงทุน แล้วเชื่อกันว่าจะทำให้ตลาดหุ้นผันผวน แต่ความจริงวอลุ่มในชอร์ตเซลยังมีสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับวอลุ่มการซื้อขายทั้งตลาดที่มีอยู่สูงถึง 5 หมื่นล้านบาทต่อวัน โดยรวมหากการเคลื่อนไหวของดัชนียังเป็นไปในลักษณะนี้ ก็เชื่อว่ามูลค่าชอร์ตเซลในปีนี้จะเติบโตมากกว่าปีก่อนประมาณ 10-30%”

ทั้งนี้ ธุรกรรมชอร์ตเซลยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกหลายเท่าตัว โดยหากเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นฮั่งเส็ง (ฮ่องกง) ที่มีมูลค่าในธุรกรรมดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วน 10% ของวอลุ่มเทรดทั้งตลาด ขณะที่ตลาดหุ้นไทยมีสัดส่วนประมาณ 1%

“สำหรับ บล.บัวหลวง ได้เดินหน้าให้แก่ลูกค้าของบริษัทอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการช่วยเพิ่มปริมาณหุ้นสำหรับการให้ยืมให้เพียงพอต่อการดำเนินธุรกรรมประเภทนี้”

นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า สาเหตุที่ทำให้มูลค่าชอร์ตเซลในปี 2555 ปรับตัวสูงขึ้นใกล้เคียงกับปี 2554 นอกจากบางช่วงเวลาในระหว่างปีที่ดัชนีมีความผันผวนแล้ว อีกสาเหตุหนึ่งมาจากหลักเกณฑ์ของธุรกรรมที่เปิดกว้างมากขึ้น จากเดิมหุ้นที่จะสามารถนำมาใช้ในธุรกรรมนี้มีเพียง SET50 แต่ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2555 ได้เปิดกว้างขึ้นเป็นหุ้นในกลุ่ม SET100 และ ETF จึงเหมือนช่วยเพิ่มทางเลือกแ ละโอกาสให้นักลงทุน ทั้งในฝ่ายให้ยืมหุ้น และฝ่ายที่ยืมหุ้น

“ม.ค.ทั้งเดือนเรามีโอกาสเห็นยอดชอร์ตเซลใกล้เคียง 12,000 ล้านบาท จุดนี้ถือเป็นพัฒนาการที่ดีของตลาดทุนไทยที่นักลงทุนมีความรู้ความเข้าใจในเครื่องมือการลงทุนมากขึ้น ขณะเดียวกัน อีกส่วนหนึ่งก็มาจากโปรโมชันของบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตให้ทำธุรกรรมประเภทนี้ด้วย เพราะถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กระตุ้นนักลงทุน และยังมีสัดส่วนที่น้อย จึงเป็นไปไม่ได้ที่การชอร์ตเซลจะทำให้ตลาดเกิดความผันผวน”

สำหรับ ชอร์ตเซล หมายถึง การนำหุ้นมาขายออกไปก่อน แล้วก็รอรับซื้อคืนเมื่อราคาหุ้นลงไปต่ำกว่า และหุ้นที่ขายออกไปก่อนนั้นเป็นหุ้นที่นักลงทุนไปยืมมาจากบริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์ก็ไปยืมหุ้นมาจากนักลงทุนที่ต้องการถือยาวกับหุ้นเหล่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น