“กรมเจ้าท่า” ยันไม่ฟ้อง ปตท. รอเจรจาเยียวยาและผลสอบสวน ชี้เอกชนยันชดเชยทั้งหมด เตรียมลงพื้นที่พร้อมผู้ทรงคุณวุติใน กปน.ตรวจสภาพอ่าวพร้าว พร้อมรับฟังความเห็นแนวทางฟื้นฟูและเยียวยานักธุรกิจและคนในพื้นที่ 6 ส.ค.นี้ ส่วนเปิดอ่าวพร้าวเมื่อไรรอผลตรวจสารปนเปื้อนและโลหะหนักจากกรมควบคุมมลพิษ 13 ส.ค.นี้
นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน (กปน.) เปิดเผยว่า กรณีเหตุการณ์ท่อรับน้ำมันดิบของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC รั่วกลางทะเล จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมานั้น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการรับเรื่องร้องเรียนจากผู้ที่ได้รับผลกระทบเพื่อประเมินค่าเสียหาย โดยเบื้องต้นทาง PTTGC ประกาศรับผิดชอบค่าชดเชยทั้งหมด ดังนั้น ยังไม่จำเป็นต้องฟ้องร้อง โดยจะใช้การเจรจาเพื่อชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบซึ่งทางจังหวัดระยองเป็นผู้รวบรวมข้อมูลอยู่ ส่วนการฟ้องร้องจะเกิดขึ้นเมื่อ PTTGC ไม่ดำเนินการเยียวยาตามที่มีการร้องเรียนทางแพ่งกรณีผลสอบสวนสรุปว่าเป็นอุบัติเหตุ แต่หากผลสอบสวนสรุปว่าเหตุน้ำมันเป็นการกระทำที่ประมาทเลินเล่อ ก็จะต้องฟ้องอาญาด้วย โดยกรมเจ้าท่าจะดำเนินการฟ้องร้องตามกฎหมายว่าด้านการเดินรถในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456
ทั้งนี้การขจัดคราบน้ำมันบริเวณอ่าวพร้าวคราบน้ำมันส่วนใหญ่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมาและอยู่ระหว่างการทำความสะอาดล่าสุดวันที่ 4 สิงหาคม อ่าวพร้าวกลับมาอยู่ในสภาพใกล้เคียงเดิมมากแล้ว และในวันที่ 6 สิงหาคมนี้ผู้ทรงคุณวุติใน กปน.จะร่วมกับกรมเจ้าท่า จะลงพื้นที่พร้อมด้วยนักธุรกิจเจ้าของรีสอร์ทในอ่าวพร้าว 2 ราย องค์การบริหารส่วนตำบลเสม็ด และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เพื่อตรวจสอบสภาพและรับฟังความคิดเห็นและแนวทางถึงการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและแนวทางในการเยียวยาพื้นที่บริเวณอ่าวพร้าวร่วมกัน
นายศรศักดิ์กล่าวว่า ขณะนี้กรมควบคุมมลพิษ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมและมลพิษ อยู่ระหว่างตรวจสารเคมีปนเปื้อนและโลหะหนักว่าจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คนและสัตว์น้ำอย่างไร โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปในวันที่ 13 สิงหาคมนี้ และประเมินได้ว่าจะเปิดอ่าวพร้าวได้เมื่อไร อย่างไรก็ตาม จากที่กรมเจ้าท่าได้ตรวจสอบสารปนเปื้อนจากน้ำที่เก็บมาเป็นตัวอย่าง พบค่าปนเปื้อนที่ 9.6 PPM ต่ำกว่าค่ามาตรฐาน 15 PPM ส่วนสารโลหะหนักที่มีการปนเปื้อนในเป็นหน้าที่ของกรมควบคุมมลพิษ ส่วนการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและค่าเสียหายการเยียวยาประชาชรวมถึงธุรกิจในพื้นที่ซึ่งทางบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัมแม่ของ PTTGC จะเป็นผู้ดำเนินการ โดยจะจัดทำแผนฟื้นฟูและการชดเชยความเสียหาย ให้ กปน.ภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้
อย่างไรก็ตาม มาตรการและแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันจะต้องปรับเพิ่มรายละเอียดและเวลาในการปฏิบัติในแต่ละขั้นตอนอย่างละเอียด ในส่วนของกรมเจ้าท่าจะมีการฝึกซ้อมแผนถึง 4 ครั้งต่อปีในพื้นที่มาบตาพุด แหลมฉบัง และสุราษฎร์ธานี ส่วนแผนจะทำการฝึกซ้อมแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันจะดำเนินการ 3 ปีต่อครั้ง ในแนวท่อขนถ่ายน้ำมันที่มีอยู่ 2 แห่งคือที่จังหวัดระยอง และไทยออยล์ ศรีราชา จังหวัดชลบุรี สำหรับเหตุท่อน้ำมันรั่วครั้งการปฏิบัติในขั้นตอนต่างๆ ถือว่าดำเนินการอยู่ในแผนโดยเรือดำเนินการเข้าถึงจุดเกิดเหตุภายใน 3 ชั่วโมงหลังเกิดเหตุ