ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - “ชัชชาติ” รมว.คมนาคม ประธาน กปน. ย้ำแก้วิกฤตน้ำมันดิบรั่วทะลักทะเล จ.ระยอง พูดความจริงดีที่สุดเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน และนักท่องเที่ยว ซัดคนขาดความเชื่อมั่นใน ปตท.ไม่เชื่อข้อมูลที่ออกมาพูด พร้อมยอมรับกระบวนการฟื้นฟูแก้ปัญหาใช้เวลาอีกนาน ระบุ ปตท.ต้องหาสาเหตุท่อฉีกขาดให้ได้
เมื่อเวลา 15.00 น. วันนี้ (2 ส.ค.) โรงแรมสีมาธานี อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำ เนื่องจากน้ำมัน (กปน.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีท่อน้ำมันดิบของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือพีทีที จีซี บริษัทในกลุ่ม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รั่วลงทะเลจังหวัดระยอง และเกิดผลกระทบอย่างมหาศาลในขณะนี้ว่า
เมื่อช่วงเช้าวันนี้ คณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำจากน้ำมัน (กปน.) มีการประชุมติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีข้อเท็จจริงหลายอย่างที่คงต้องมาประมวล และมาปรับปรุงกระบวนการให้ดีขึ้น
กปน.เองได้ตั้งอนุกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุด ทำหน้าที่ 3 เรื่องหลัก คือ เรื่องการฟื้นฟู ซึ่งต้องเน้นเรื่องการฟื้นฟูให้ต่อเนื่อง และเรื่องการประเมินความเสีย ซึ่งต้องมีการเก็บข้อมูล และดูผู้เสียหาย ซึ่งผู้เสียหายมี 2 ส่วนหลักคือ 1.ในส่วนผู้ที่ต้องมาร่วมเสียค่าใช้จ่ายในการช่วยดำเนินการ เช่นหน่วยงานต่างๆ ที่มาช่วยกำจัดน้ำมัน ซึ่งต้องรวบรวมมาว่ามีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่
2.ส่วนที่ได้รับผลกระทบ อาจไม่ทางตรงทันที เช่น ผลกระทบจากการประมงชายฝั่ง หรือผู้ประกอบการในเกาะเสม็ดโดยรอบ อันนี้ต้องเก็บข้อมูล และประเมินความเสียหายต่อไป ซึ่งทาง ปตท.เองได้มาเป็นกรรมการร่วมด้วย เพราะจะได้ประสานงานกันโดยตรง และชี้แจงข้อมูลด้วย
แต่ปัญหาอย่างหนึ่งที่พบคือ ตอนนี้รู้สึกว่าคนขาดความเชื่อมั่นใน ปตท. หมายความว่า ปตท. ออกพูดมาคนอาจจะไม่ค่อยเชื่อในข้อมูลเท่าไหร่
ทาง กปน. จึงให้ทางกรมเจ้าท่า เป็นตัวกลางในการแถลงข้อมูลต่อประชาชนโดยมีผู้เชี่ยวชาญจากทางมหาวิทยาลัย และองค์กรกลางที่เกี่ยวข้องมา เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มาช่วยกลั่นกรองข้อมูลก่อน และเบื้องต้นจะให้มีการแถลงข่าวทุกวันเวลา13.00 น. ที่กระทรวงฯ และให้มีเปิดเว็บไซต์ของเจ้าท่า โดยจะมีการสรุปคำถามที่ถามบ่อยๆ เช่น น้ำมันรั่วกี่ลิตร ใช้สารเคมีไปเท่าไหร่ เหตุการณ์เกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงแก้ปัญหาล่าช้า ซึ่งเราเอาข้อเท็จจริงที่คาใจประชาชนอยู่ มาถามตอบให้เสร็จภายในเย็นของวันนี้ (2 ส.ค.) และแถลงให้ประชาชนเข้าใจ จะได้หยุดเรื่องข่าวลือ หรือความไม่เข้าใจเสียที
นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า เรื่องปริมาณน้ำมันรั่วนั้น จริงๆ แล้วตามหลักวิทยาศาสตร์เป็นการรั่วที่ข้อต่อ และมีวาล์วหัวท้าย มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางความยาวชัดเจน ฉะนั้นสามารถคำนวณปริมาณน้ำมันที่อยู่ในข้อต่อได้ เพราะข้อต่อเกิดแตกวาล์วหัวท้ายต้องปิด น้ำมันที่รั่วก็จะถูกจำกัดด้วยปริมาณของข้อต่อ ซึ่งอันนี้ให้ทางผู้เชี่ยวชาญไปคำนวณตัวเลขอีกครั้ง เข้าใจว่า ปตท. คำนวณมาตอนแรก ในข้อต่อมีน้ำมันประมาณ 30,000 กว่าลิตรที่จุได้ และอาจมีน้ำมันที่ไหลก่อนวาล์วปิดบ้างนิดหน่อย ฉะนั้นตัวเลขต้องไปยืนยันอีกครั้ง
ส่วนสารที่พ่นในทะเลตนคิดว่าอย่าไปกังวลกันมาก เพราะเป็นสารที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ตามปกติ โดยสารที่ใช้มีตัวเลขชัดเจนเป็นสารเบอร์ 14 อยู่ในรายการที่อนุญาตให้ใช้ได้ ทางเราต้องเป็นผู้รับผิดชอบว่ามีการตกค้าง มีปัญหาอย่างไรหรือไม่ และที่ใช้ไปประมาณ 30,000 กว่าลิตรใช้ในการกำจัดเป็นสิ่งจำเป็น เพราะสารตัวนี้จะทำให้น้ำมันแตกออกเป็นโมเลกุลเล็กทำให้สามารถถูกย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์ได้เร็ว ตนคิดว่าเขาพยายามทำดีที่สุดในการควบคุมน้ำมัน
ส่วนความเสียหายนั้น นายชัชชาติ กล่าวว่า หากส่วนที่เป็นโดยตรงก็รู้ได้เลย แต่ส่วนที่เป็นระยะยาวต้องทยอย เพราะกระบวนการไม่ได้สิ้นสุดวันนี้พรุ่งนี้มันต้องต่อเนื่องไปอีกนานสำหรับการฟื้นฟู กระบวนการพัฒนาแก้ไขปัญหาที่ชายหาด หรือการติดตามระยะยาว เพราะน้ำมันพอมันแตกตัวจะไปอยู่ที่ไหน กระจายไปที่ไหนหรือเปล่า อันนี้ต้องไปติดตามอย่างต่อเนื่องต่อไป และที่บอกว่าจะหยุดปัญหาได้ในวันสองวันนั้น ไม่มีทาง มันต้องไปอีกเป็นเดือน รวมทั้งกระบวนการติดตามตรวจสอบ ขณะเดียวกัน แผนและมาตรการทั้งหลายก็ต้องมีการปรับปรุงใหม่ อนุกรรมการฯ ที่ตั้งขึ้นมาตั้งไปทบทวนแผนด้วย เพราะแผนที่มีอยู่ตั้งแต่ปี 2545 หลายอย่างมันเริ่มล้าสมัย
สำหรับการฟื้นฟู และสร้างความเชื่อมั่นโดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวนั้น เราต้องมีการสุ่มตรวจน้ำ และพูดข้อเท็จจริงดีที่สุด อะไรเป็นอย่างไรก็ต้องพูดอย่างนั้น แต่เมื่อเช้าที่มีข่าวว่าไปเจอเม็ดน้ำมันอยู่ที่ จ.ระยอง ก็ต้องไปดูว่าคืออะไร ตนสั่งการแล้วว่ามีอะไรต้องพูดความจริง ต้องอธิบายและต้องแก้ไข หากเราทำไม่ชัดเจนจะเกิดความไม่มั่นใจ แต่หากเราเปิดเผยให้ชัดเจน ซึ่งตนคิดว่ามันมีเหตุผลอธิบายได้ บางอย่างมันสุดวิสัยจริงๆ ก็บอกว่าสุดวิสัย และบางอย่างที่เป็นข้อบกพร่องก็ต้องยอมรับ เช่น การดำเนินการในช่วงแรกอาจประเมินสถานการณ์ผิดพลาดไป เพราะคิดว่าเอาตัวบูมที่ควบคุมน้ำมันเอาอยู่ ซึ่งพอเป็นช่วงมรสุมแล้วควบคุมไม่อยู่ อันนี้ต้องมาคิดว่าอนาคตจะทำอย่างไรให้มันดีขึ้น
จากนี้ไปควรจะมีมาตรการอะไรที่รัดกุมชัดเจนมากขึ้น นั้น นายชัชชาติ กล่าวว่า จริงๆ แล้วเรื่องน้ำมันมีการซ้อมทุก 3 ปีอยู่แล้ว และเพิ่งซ้อมไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ในบริเวณที่เกิดเหตุด้วย แต่คิดว่าตอนซ้อมเขาซ้อมในสถานการณ์ปกติ ไม่มีมรสุม ฉะนั้นต่อไปคงต้องพิจารณาประเด็นที่มันวิกฤตที่สุด การซ้อมการเตรียมตัวต้องเตรียมตัวเผื่อกรณีวิกฤตที่สุด
“ส่วนเรื่องประเด็นตัวท่อฉีกขาดนั้น อันนี้เป็นสิ่งที่ยังไม่รู้สาเหตุ ซึ่งท่อเขาก็บอกว่าเป็นท่อใหม่แค่ปีเดียว ฉะนั้นตอนนี้ต้องไปดูสาเหตุว่าท่อฉีกขาดเพราะอะไร ปตท. ต้องไปหาสาเหตุให้ได้” นายชัชชาติกล่าว