บขส.เตรียมสรุปที่ตั้งสถานีขนส่งแห่งใหม่ใน 90 วัน เล็ง 3 ทำเลเดิม คือ ดอนเมือง, เมืองทองธานี และรังสิต “วุฒิชาติ” เผยต้องการพื้นที่ 120-130 ไร่บริการครบวงจรรับเดินทางหลังเปิด AEC ขณะที่ผลประกอบการปี 56 คาดรายได้กำไรเพิ่มจากปีก่อนไม่มาก เหตุรถคันแรกทำให้จำนวนผู้โดยสารเติบโตไม่มาก คาดกำไรแตะ 200 ล้านบาท
นายพ้อง ชีวานันทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังเป็นประธานในงานวันสถาปนาครบรอบ 83 ปี บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ว่า การดำเนินงานของ บขส.มีการพัฒนามาตลอด ทำให้ผลการดำเนินงานในระยะหลังมีกำไร แต่ บขส.จะต้องพัฒนาปรับปรุงบริการอย่างต่อเนื่องต่อไปเพื่อให้ผู้โดยสารพึงพอใจและเลือกใช้ บขส.ในการเดินทาง เพราะนอกจากจะมีผู้ประกอบการรถร่วมเอกชนแล้ว ในอนาคตจะมีคู่แข่งเพิ่มคือ รถไฟความเร็วสูง โดยต้องให้ผู้ใช้บริการมีส่วนร่วมในการแนะนำความคิดเห็นต่างเพื่อนำมาปรับปรุงคุณภาพบริการต่างๆ ได้ตรงความต้องการ นอกจากนี้จะต้องเตรียมความพร้อมในการเปิดเดินรถระหว่างประเทศเพิ่มเพื่อรองรับการเปิด AEC ด้วย
ด้านนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส. กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของ บขส.ในปี 2555 มีกำไรสุทธิ 192 ล้านบาท สูงกว่าปี 2554 จำนวน 68 ล้านบาท คิดเป็น 54.87% โดยแบ่งเป็นรายได้จากการเดินรถของ บขส.จำนวน 3,526 ล้านบาท (4.28 %) รายได้จากการเดินรถร่วมจำนวน 903 ล้านบาท (2.30 %) และรายได้อื่นๆ เช่น ค่าเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์ และค่าโฆษณา เพิ่มขึ้นประมาณ 201 ล้านบาท ส่วนผลประกอบการปี 2556 คาดว่าจะไม่ต่ำกว่าปีก่อน โดยกำไรน่าจะอยู่ที่ประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งสาเหตุที่รายได้และกำไรเติบโตไม่มากเนื่องจากจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นน้อยจากมาตรการรถคันแรก ประกอบกับมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เช่น ราคาน้ำมัน และค่าบำรุงรักษา ค่าอะไหล่ เป็นต้น
ทั้งนี้ บขส.ได้พัฒนาคุณภาพบริการ ทั้งการอำนวยความสะดวกในการจองตั๋วโดยสาร การเปิดเดินรถระหว่างประเทศเส้นทางไทย-สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวจำนวน 10 เส้นทาง ไทย-กัมพูชา 2 เส้นทาง จัดหารถใหม่เข้ามาให้บริการในระบบเพื่อทดแทนรถเก่าที่ปลดระวางในปี 56 ประมาณ 200 คัน และล่าสุดได้ติดตั้งจอทีวีส่วนตัวระบบ VDO on Demand (VOD) บนรถโดยสารปรับอากาศชั้น 1 ทุกที่นั่งของ บขส.เพื่อให้ความบันเทิงและแจ้งข้อมูลประชาสัมพันธ์ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้โดยสาร เป็นการยกระดับบริการของ บขส.ขึ้นอีกขั้น
ส่วนความคืบหน้าการย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) หรือหมอชิต 2 นั้น นายวุฒิชาติกล่าวว่า ทึ่ผ่านมาคณะกรรมการ (บอร์ด) บขส.ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด ประกอบด้วย คณะกรรมการจัดหาพื้นที่ และคณะกรรมการรวบรวมข้อมูล โดยได้มีการเชิญผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กรมทางหลวง (ทล.) กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) มาร่วมประชุมเพื่อพิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุด โดยอ้างอิงจากผลการศึกษาเดิมของ บขส.ที่มีพื้นที่เหมาะสม 3 จุด คือ ดอนเมือง, เมืองทองธานี และรังสิต โดยบอร์ดให้เวลารวบรวมข้อมูล และสรุปการศึกษาภายใน 90 วัน
“หลักการจะคงบริการรถ บขส.สายสั้นไว้ที่เดิม ซึ่งได้แจ้งให้ สนข.และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) แล้วว่า บขส.ต้องการพื้นที่ประมาณ 30 ไร่ ส่วนพื้นที่ใหม่จะต้องมีประมาณ 120-130 ไร่ เพราะนอกจากต้องรองรับผู้โดยสารที่มีประมาณ 30 ล้านคนต่อปีแล้ว หลังเปิด AEC ประชากรของไทยจากประมาณ 60 ล้านคนจะกลายเป็นประชากร AEC ที่มีรวมประมาณ 600 ล้านคน หากมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจากส่วนนี้ 10% ก็เป็นจำนวนที่สูงมาก ดังนั้น บขส.จะต้องเตรียมพื้นที่พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ให้พร้อม