xs
xsm
sm
md
lg

ชูสถานีรถไฟความเร็วสูงมีบริการครบวงจร ช่วยสร้างรายได้เชิงพาณิชย์ 15% ลดขาดทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คมนาคมจับมือ TCDC ออกแบบแนวคิดสถานีรถไฟความเร็วสูงบริการครบวงจร (Service Design) ทั้งด้านขนส่งและบริการเชิงพาณิชย์ หวังเป็นศูนย์กลางการพัฒนา คาดจูงใจผู้โดยสารเพิ่ม “ชัชชาติ” ชี้แอร์พอร์ตลิงก์ต้นแบบโครงการล้มเหลว เหตุไม่มี Service Design สนข.ประเมินรายได้เชิงพาณิชย์ 15% รวมกับค่าโดยสาร โครงการไม่ขาดทุน รัฐไม่ต้องอุดหนุน เผยหารือกรมโยธาธิการจัดผังเมืองใหม่ทุกสถานีเปิดพื้นที่ใหม่พัฒนา

วันนี้ (8 ก.ค.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่องการศึกษาพัฒนาและออกแบบการบริการ (Service Design) ในระบบรถไฟความเร็วสูงของประเทศไทย โดยมีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายพันศักดิ์ วิญญูรัตน์ ประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมกับจัดประกวดแนวคิดการออกแบบสถานีรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-หัวหิน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ คนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมกับโครงการ เพื่อให้สถานีมีความทันสมัยผสมกับอัตลักษณ์ท้องถิ่นแต่ละจังหวัดมาใน 4 สถานี คือ นครปฐม, ราชบุรี, เพชรบุรี และหัวหิน

โดยนายพันศักดิ์เปิดเผยว่า Service Design เป็นแนวคิดการออกแบบเบื้องต้นก่อนที่จะมีการออกแบบทางวิศวกรรม โดยจะคำนึงถึงการอำนวยความสะดวกในการเข้าใช้บริการของผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าในทุกๆ ด้าน เช่น รถไฟของญี่ปุ่นบางสายมีรายได้จากการซื้อขายบริการและสินค้าในเขตสถานีนอกเหนือจากค่าโดยสารประมาณ 30-34% ซึ่งช่วยด้านการเงินของโครงการได้ ทำให้ลดการอุดหนุนงบประมาณจากรัฐบาลหรืออาจไม่ต้องอุดหนุนเลย ซึ่งสถานีรถไฟจะอยู่ไปอีก 80-100 ปี คู่มือด้าน Service Design และจะปรับทุกๆ 10 ปีตามการเจริญเติบโต ความต้องการที่เปลี่ยนไป

“Service Design คือการวางแนวคิดตั้งแต่ต้นก่อนที่จะทำโครงการว่าควรมีอะไรบ้าง เช่น ห้องน้ำควรมีเท่าไรจึงจะเพียงพอ หรือถ้าต่อไปเชื่อมกับจีนคาดว่าจะมีผู้โดยสารจีนประมาณ 2-3 ล้านคนต่อปีเดินทางเข้ามา ดังนั้นป้ายบอกข้อมูลหรือสัญลักษณ์จะต้องมีภาษาที่ครอบคลุม ไทย, จีน, แมนดาริน, อังกฤษ เป็นต้น การออกแบบเพื่อให้บริการที่ดีจะทำให้ผู้ใช้บริการเพิ่มมากขึ้นแน่นอน และโครงการจะไม่ขาดทุน” นายพันศักดิ์กล่าว

นายชัชชาติกล่าวว่า ก่อนหน้านี้หลายโครงการล้มเหลมเพราะไม่ได้ออกแบบแนวคิดไว้ตั้งแต่แรก เช่น โครงการแอร์พอร์ตลิงก์ต้องมาเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกภายหลัง ประชาชนไม่สะดวกในการใช้บริการ การที่ TCDC ร่วมมือกับกระทรวงคมนาคมจะทำให้กำหนดสิ่งที่ประชาชนต้องการใช้บริการได้ตั้งแต่เริ่มต้น และนำมาเป็นส่วนประกอบในการออกแบบก่อสร้าง โดยรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-หัวหินคาดว่าจะยื่นรายงานการวิเคราะห์และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้ภายใน 3 เดือน และเปิดประกวดราคาได้ต้นปี 2557 โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ประมูลระบบ ประมูลก่อสร้าง และประมูลตัวรถไฟฟ้า ส่วน พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทถูกท้วงติงว่าเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 169 นั้น ในส่วนของกระทรวงคมนาคมยังเดินหน้าโครงการตามขั้นตอนเต็มที่ ส่วนจะผิดหรือถูกอยู่ที่ผู้อำนาจ

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ สนข. กล่าวว่า ทาง TCDC จะส่งข้อมูลแนวคิด (Service Design) ให้ สนข.อย่างช้าต้นเดือนสิงหาคม ซึ่งจะนำมาใช้ในการออกแบบทุกเส้นทาง ซึ่ง Service Design เป็นการวางแผนในด้านพื้นที่เชิงพาณิชย์และบริการที่เกี่ยวข้อง เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร สามารถสร้างรายได้ให้โครงการได้อย่างน้อย 15% รวมกับค่าโดยสารที่กำหนดเบื้องต้นไม่เกิน 2.50 บาทต่อ กม. เชื่อว่าโครงการจะคุ้มทุน โดยรัฐไม่ต้องอุดหนุนส่วนรูปแบบสถานีด้านนอก ทุกแห่งจะมีโครงสร้างคล้ายกันเพื่อประหยัดค่าออกแบบและค่าบำรุงรักษา จะแตกต่างกันที่ภายในที่แบบจะเป็นไปตามพื้นที่นั้นๆ

นอกจากนี้ สนข.ได้หารือกับกรมโยธาธิการเพื่อกำหนดที่ตั้งสถานีให้เหมาะสมกับการพัฒนาเมือง โดยอาจจะมีการขยับแนวเส้นทางเพื่อเปิดพื้นที่ใหม่ห่างจากสถานีเดิม 2-3 กิโลเมตร โดยกรมโยธาฯ จะออก พ.ร.ฎ.เวนคืนเพื่อจัดรูปที่ดินแปลใหญ่โดยใช้สถานีรถไฟความเร็วสูงเป็นศูนย์กลางการพัฒนา ซึ่งผังเมืองใหม่ปี 2556 ยังไม่ประกาศเพื่อรอความชัดเจนตรงนี้ก่อน

สำหรับความคืบหน้ารถไฟความเร็วสูงสายเหนือ กรุงเทพฯ-พิษณุโลก อยู่ในการศึกษาที่ตั้งสถานี คาดปลายเดือนสิงหาคมจะส่งรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สผ.) ได้ สายตะวันออกเฉียงเหนือ กรุงเทพฯ-โคราช อยู่ในขั้นตอนเดียวกัน แต่จะล่าช้ากว่าสายเหนือประมาณ 2 เดือนเพราะเริ่มโครงการช้ากว่า, สายใต้ กรุงเทพฯ-หัวหิน กำลังออกแบบแนวเส้นทางและจุดที่ตั้งสถานี และศึกษา EIA โดยจะเปิดประมูลระบบก่อนในช่วงต้นปี 2557
กำลังโหลดความคิดเห็น