xs
xsm
sm
md
lg

“นิวัฒน์ธำรง” ชี้ลงทุน 2 ล้านล้าน ดันจีดีพีโต 1.6% ลั่นอย่าเอาความกลัวมาแช่แข็งประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
“นิวัฒน์ธำรง” มั่นใจลงทุนเมกะโปรเจกต์ 2 ล้านล้าน ดันจีดีพีเติบโต 1.0-1.6% ต่อปี “ชัชชาติ” ยันคุ้มทุนภายใน 8-10 ปี ลั่นอย่าเอาความกลัวมาแช่แข็งประเทศ จนไม่กล้าที่จะลงทุนอะไรเลย แต่หากกลัวว่าจะมีการโกง ก็ต้องมาร่วมกันช่วยกันตรวจสอบ “เศรษฐา” มองเป็นโอกาสที่ดินต่างจังหวัดราคาพุ่ง กระจายความเจริญ และรัฐเก็บภาษีได้ดีขึ้น

นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในงานเสวนา “รถไฟฟ้า-ไฮสปีดเทรน พลิกโฉมประเทศไทย Connectivity = Opportunity” โดยระบุว่า รัฐบาลมียุทธศาสตร์และนโยบายที่สำคัญในการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประเทศไทยกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งต้องการยกระดับการคมนาคมขนส่งของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการเปลี่ยนจากการขนส่งทางถนนมาสู่ระบบรางที่มีต้นทุนถูกกว่า

ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศวงเงิน 2 ล้านล้านบาท ได้วางแผนที่จะสร้างรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง ได้แก่ 1. กรุงเทพ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ 2. กรุงเทพ-นครราชสีมา-หนองคาย 3. กรุงเทพ-หัวหิน-ปาดังเบซาร์ 4. ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-ชลบุรี-ระยอง วงเงินประมาณ 8 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เปรียบเทียบโครงการการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในครั้งนี้กับการลงทุนในโครงการนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึกภาคตะวันออก (Eastern seaboard) ที่ลงทุนประมาณ 2 ล้านล้านบาทเช่นกัน พบว่า โครงการดังกล่าวมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจสูง โดยมีส่วนผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตปีละ 1.0-1.6% ของจีดีพี ดังนั้นจึงมั่นใจว่าโครงการภายใต้ พ.ร.บ.2 ล้านล้านบาทจะมีผลต่อการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศได้ไม่น้อยกว่าปีละ 1% ของจีดีพี หรือคิดเป็นวงเงินไม่ต่ำกว่าปีละ 1.2 แสนล้านบาท (ไม่รวมการประหยัดเชื้อเพลิงปีละ 1 แสนล้านบาท) และคุ้มทุนภายใน 8-10 ปี ภายหลังจากที่มีการก่อสร้างโครงการทั้งหมดแล้วเสร็จ ซึ่งถือว่าเป็นระยะเวลาที่รวดเร็ว

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า โครงการลงทุนภายใต้ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ได้คัดเลือกและจัดลำดับความสำคัญของโครงการที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาการคมนาคมขนส่งและเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต และจะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจและอุตสาหกรรมในประเทศ นอกจากนั้น การถกเถียงกันในเรื่องของความคุ้มทุนของโครงการรถไฟความเร็วสูง อยากให้มองในระยะยาวและมองให้ครบถ้วนรอบด้าน เพราะตอนนี้ฝ่ายที่คัดค้านมักจะยกเรื่องของราคาค่าตั๋วโดยสารมาคิดมูลค่ากับการลงทุน ซึ่งหากคิดแต่ค่าโดยสารก็จะมีความคุ้มทุนได้ยาก แต่หากคิดในเรื่องของความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะเกิดกับโครงการนี้ก็จะมีความคุ้มค่าอย่างมาก โดยมั่นใจว่าภายหลังการก่อสร้างใน 4 เส้นทางแล้วเสร็จ การลงทุนประมาณ 8 แสนล้านบาท รวมระยะทางกว่า 1,300 กิโลเมตร จะส่งผลให้จีดีพีเติบโตได้ 1% จากการเกิดขึ้นของการให้บริการและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

“จากผลการวิเคราะห์ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์และสังคมที่ที่ปรึกษาได้ทำแล้วเสร็จในเบื้องต้นพบว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและสังคมสูง เนื่องจากรายได้ที่เกิดขึ้นจะเพิ่มขึ้นต่อซัปพลายเชนทั้งระบบ โดยเฉพาะในท้องถิ่น”

นายชัชชาติกล่าวว่า ผลประโยชน์ไม่ได้จำกัดแต่ผลประโยชน์ในเรื่องการขนส่งเท่านั้น ประกอบกับในปัจจุบันการเติบโตของเศรษฐกิจในต่างจังหวัดโดยเฉพาะเมืองใหญ่ๆ มีมากขึ้น การสร้างรูปแบบการขนส่งโดยรถไฟความเร็วสูงจึงเท่ากับการสร้างเครื่องมือและโอกาสในการทำมาหากินของประชาชนทุกระดับมากขึ้น และจะช่วยสร้างความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจมากขึ้น ไม่ได้สร้างความเหลื่อมล้ำเหมือนที่มีการเข้าใจผิด

สำหรับปัญหาการคอร์รัปชันที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะมีการเกิดขึ้นในขั้นตอนการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ภายใต้ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ตนก็มีความกังวลเรื่องนี้มากที่สุดเช่นกัน เนื่องจากเป็นผู้รับผิดชอบในการลงทุนโครงการนี้โดยตรง อย่างไรก็ตาม อยากเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนที่แสดงความกังวลเข้ามาทำงานร่วมกัน เพื่อให้ขั้นตอนต่างๆ มีความโปร่งใส ทั้งนี้ หากกลัวว่าจะมีการโกงต้องมาร่วมกันช่วยกันตรวจสอบแนะนำให้โปร่งใส อย่าเอาความกลัวมาแช่แข็งประเทศจนไม่กล้าที่จะลงทุนอะไร เพราะขณะนี้มีความจำเป็นต้องลงทุนไม่เช่นนั้นในอนาคตประเทศจะแข่งขันได้ลำบาก

นายเศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ปัจจุบันการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครเริ่มมีข้อจำกัด ทั้งขนาดพื้นที่และมูลค่าที่ดินที่มีราคาสูงมาก ซึ่งการลงทุนของภาครัฐในโครงการรถไฟความเร็วสูงจะสร้างความตื่นตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และเป็นโอกาสที่จะขยายการลงทุนของธุรกิจในกลุ่มนี้ไปยังพื้นที่ต่างจังหวัดได้มากขึ้น ซึ่งแนวโน้มของราคาที่ดินและการเพิ่มมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูงก็จะมีมากขึ้น

นอกจากนี้ พื้นที่ต่างจังหวัดจะมีการสร้างอสังหาริมทรัพย์ และห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่มากขึ้น ซึ่งการขยายความเจริญไปยังต่างจังหวัดก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในท้องถิ่นมีความเจริญมากขึ้นซึ่งผู้ที่จะได้ประโยชน์ในท้ายที่สุดก็คือประเทศ เนื่องจากรัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้ได้สูงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นผลตอบแทนที่จะได้กลับมาในรูปของภาษีอากรจะมากกว่าการลงทุนในจำนวน 2 ล้านล้านบาทอย่างแน่นอน

นางศุภลักษณ์ อัมพุช รองประธานกรรมการบริหารอาวุโส บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่าเป็นโอกาสในการพัฒนาธุรกิจบริการที่ประเทศไทยมีศักยภาพอยู่แล้วให้มีมูลค่าและสร้างรายได้ได้มากขึ้น โดยมองว่าเมืองท่องเที่ยวสำคัญๆ ในแต่ละภูมิภาค เช่น เชียงใหม่ นครราชสีมา จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว เนื่องจากมีตัวเลือกในการเดินทางได้มากขึ้น

นอกจากนั้น การลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงยังเป็นการลงทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งรองรับการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นสังคมสูงอายุ เช่นเดียวกับในญี่ปุ่น ที่คนสูงอายุจะเดินทางออกไปอาศัยอยู่นอกกรุงโตเกียวที่มีความแออัด โดยในอนาคตคนสูงอายุก็อาจเดินทางไปอยู่นอก กทม.มากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงกับสภาพแวดล้อมที่มีมลพิษและการอยู่อาศัยที่แออัด

นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) กล่าวว่า จากการศึกษาของ TCDC โดยอ้างอิงจากรถไฟความเร็วสูงในประเทศญี่ปุ่น พบว่ารายได้ที่ได้จากรถไฟความเร็วสูง แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1. รายได้ที่มาจากรถไฟโดยตรง 40% และรายได้จากธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง คิดเป็น 60% โดยในส่วนหลังเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการรายย่อย รวมทั้งเกษตรกรที่สามารถทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรถไฟความเร็วสูงได้ เช่น การผลิตสินค้าหรืออาหารเพื่อจำหน่ายในรถไฟ เป็นต้น นอกจากนั้นธุรกิจอื่นๆ ยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตเพิ่มขึ้น เช่น ธุรกิจการสื่อสาร (E-commerce) ที่ปัจจุบันมีมูลค่าในไทยปีละ 6 แสนล้านบาท จะสามารถเติบโตเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเท่าตัว

สำหรับมาตรฐานการให้บริการที่ต้องใช้ระดับสากล ทั้งในเรื่องของความปลอดภัย ความตรงต่อเวลา และการให้บริการอื่นๆ จะช่วยยกระดับการให้บริการในด้านอื่นๆ ของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเหมือนกับประเทศญี่ปุ่นที่ทำสำเร็จมาแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น