การบินไทยทรุด ผลประกอบการ Q2/56 แย่กว่าทุกปี เหตุเจอวิกฤตค่าเงิน ทั้งบาท, ยูโร และเยน เฉพาะเส้นทางญี่ปุ่นรายได้ค่าตั๋วหายวับ 17% ปรับแผนการตลาด 6 เดือนหลังใหม่ ชูญี่ปุ่นตลาดหลักลูกค้าพรีเมียม คาดยกเลิกวีซ่าหนุนนักท่องเที่ยวเพิ่ม ต.ค.นี้เตรียมเปิดบิน เซนได และฮิโรชิมาเพิ่ม ส่วนจีนเปิดเส้นทางไปเมืองฉางซา และฉงชิ่ง มั่นใจรายได้ทั้งปี 56 ยังโต 11% ตามเป้า
นายสรจักร เกษมสุวรรณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การบินไทยจะมีการปรับแผนธุรกิจในช่วง 6 เดือนหลังของปี 2556 ใหม่ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีปัญหาจากค่าเงินยูโร และเงินเยนอ่อน รวมถึงจำนวนที่นั่งของผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอีก 9% จากการรับมอบเครื่องบินใหม่จำนวน 17 ลำภายในปีนี้เพื่อให้รายได้ปี 2556 ยังคงเติบโต 11% จากปีก่อน โดยเป้ารายได้รวมอยู่ที่ 224,000 ล้านบาท ทั้งนี้ แผนธุรกิจและกลยุทธ์ทางการตลาด ของ 6 เดือนหลังนี้จะต้องสามารถทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น ซึ่งนายโชคชัย ปัญญายงค์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสสายการพาณิชย์ จะเป็นผู้ดำเนินการพร้อมกับประสานกับทุกฝ่ายเพื่อขับเคลื่อนแผนให้เกิดประโยชน์สูงสุดและบรรลุเป้าหมายรายได้ที่ตั้งไว้
นายโชคชัย ปัญญายงค์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสสายการพาณิชย์ การบินไทย กล่าวว่า ผลประกอบการไตรมาส 2/2556 ซึ่งเป็นช่วง Low Season อยู่ในเกณฑ์ต่ำ โดยอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ในเดือนพฤษภาคม ปี 56 ถือว่าลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน โดย Cabin Factor เส้นทางระหว่างประเทศเฉลี่ย 66.1% เส้นทางในประเทศ 72.6% ขณะที่ Cabin Factor รวมของ 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค. 56) เฉลี่ย 76.3% ใกล้เคียงปี 55 ที่มีเฉลี่ย 76.9% แต่ผลประกอบการไตรมาส 2/56 ได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างรุนแรง โดยเฉพาะเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นส่งผลให้รายได้ที่เป็นเงินเยนลดลงประมาณ 17% ดังนั้นภายใน 1 สัปดาห์นี้จะต้องเร่งทำแผนธุรกิตเชิงรุกเพื่อทำให้รายได้และกำไรของปี 2556 ยังคงเป็นไปตามเป้าหมาย โดยอย่างน้อยต้องเพิ่มขึ้นจากผลประกอบการไตรมาส 2/56 ให้ได้ประมาณ 10-15%
“ผลประกอบการไตรมาส 2/56 คาดว่าน่าจะปริ่มๆ ไม่ขาดทุน ซึ่งปกติเป็นช่วงที่ต่ำของทุกปีอยู่แล้วแต่ปีนี้ได้รับผลกระทบที่ค่อนข้างรุนแรงจากค่าเงินที่ผันผวน โดยการบินไทยมีรายได้เป็นเงินบาท 30% เงินเยน 20% ยูโร 30% ดอลลาร์สหรัฐ 10% สกุลอื่นๆ 10% ซึ่งความเสี่ยงที่จะกระทบต่อผลประกอบการช่วงครึ่งปีหลังคือความผันผวนของเงินยูโรเพราะยุโรปยังแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้และธุรกิจการบินที่จะแข่งขันกันรุนแรงมากขึ้น โดยคาดว่าจะมีสายการบินใหม่เกิดขึ้นในประเทศไทยอีกหลายสาย” นายโชคชัยกล่าว
นายโชคชัยกล่าวว่า ใน 6 เดือนหลังจะเน้นกลยุทธ์ “บุก” ทั้งด้านบริการ การเพิ่มจำนวนผู้โดยสารเพื่อให้เกิดผลตอบแทนทางธุรกิจที่เป็นรูปธรรม โดยมุ่งเป้าหมายประเทศญี่ปุ่นเป็นตลาดหลัก และคาดว่าจะมีการตอบสนองที่ดีเนื่องจากมีการยกเว้นวีซ่าทำให้การเดินทางสะดวก และค่าเงินเยนอ่อนจะทำให้ค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวลดลง 17-20% ส่วนการที่โลว์คอสต์แอร์ไลน์อย่างแอร์เอเชียจะเปิดเส้นทางบินไปญี่ปุ่นนั้น เชื่อว่าจะไม่กระทบเพราะญี่ปุ่นเป็นตลาดพรีเมียม
โดยในเดือนตุลาคมจะเปิดบินไปญี่ปุ่น 2 เมือง คือ เซนได และฮิโรชิมา 3 เที่ยวบิน/สัปดาห์ และเพิ่มเป็น 5-7 เที่ยวบิน/สัปดาห์ในเดือนมกราคม 2557 ส่วนจีนจะเปิดเส้นทางบินเพิ่มไปที่เมืองฉางซา และฉงชิ่ง ขณะที่ยุโรปนั้นแม้เศรษฐกิจจะยังไม่ดีแต่เป็นตลาดที่มีความแข็งแรง โดยเฉพาะในแถบกลุ่มสแกนดิเนเวีย รัสเซีย จะเพิ่มเที่ยวบินไปมอสโก ซึ่งแผนธุรกิจจะเพิ่มสัดส่วนรายได้เส้นทางภูมิภาคปีนี้จาก 45% เป็น 50% ส่วนยุโรปลดจาก 45% เหลือ 40% ในประเทศคงเดิมที่ 10% โดยเชื่อว่าเส้นทางบินของการบินไทย ไทยสมายล์ และนกแอร์จะครอบคลุมตลาด โดยการบินไทยจะบินเส้นทางในประเทศหลัก คือ ภูเก็ต, เชียงใหม่, กระบี่, สมุย เพราะจะเชื่อมเครือข่ายทำให้การต่อเครื่องมีความสะดวก ส่วนไทยสมายล์บินในเส้นทางย่อย
อย่างไรก็ตาม นายสรจักรได้ตั้งคณะกรรมการฝ่ายบริหารชุดเล็กขึ้นมาเพื่อติดตามประเมินสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด โดยจะมีการประชุมร่วมกันทั่วโลกเพื่อปรับเปลี่ยนได้ทันเวลา ซึ่งการปรับแผน 6 เดือนหลังเพื่อให้กำไรที่ 6,000 ล้านบาทของปีนี้ยังคงเป็นไปตามเป้าหมาย ส่วนเครื่องบินใหม่ 17 ลำที่จะรับมอบจะทำให้ลดค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิงลง 3-4% ต่อปี จากปัจจุบันที่มีค่าใช้จ่ายน้ำมันอยู่ประมาณ 8.2 หมื่นล้านบาทต่อปี