xs
xsm
sm
md
lg

กรมเจ้าท่าฟื้นโครงการเขื่อนกันคลื่นปากพนัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากอินเตอร์เน็ต
กรมเจ้าท่าปัดฝุ่นโครงการสร้างเขื่อนกันคลื่นที่ปากพนังช่วงแหลมตะลุมพุกยาว 40 กม. เปิดรับฟังความเห็นประชาชน 5 ก.ค.นี้ หลังจากต้องพับแผนไปเมื่อปี 51 เหตุ สผ.ให้ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ชี้มีความจำเป็นต้องเร่งป้องกันคลื่นกัดเซาะชายฝั่ง

แหล่งข่าวจากกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยว่า วันที่ 5 ก.ค.นี้กรมเจ้าท่าจะจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โครงการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสำรวจออกแบบโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งตั้งแต่บ้านหน้าโกฏิถึงปลายแหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งก่อนหน้านี้กรมเจ้าท่าได้ว่าจ้างที่ปรึกษาดำเนินการสำรวจออกแบบโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง บริเวณตั้งแต่บ้านหน้าโกฏิ ตำบลท่าพระยา ถึงปลายแหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง ระยะทางตามแนวชายฝั่งประมาณ 40 กิโลเมตร แล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2551 แต่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มีประกาศให้โครงสร้างเขื่อนกันคลื่นในทะเลทุกขนาดต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ก่อนดำเนินการ กรมเจ้าท่าจึงยังมิได้ของบประมาณ

ทั้งนี้ เนื่องจากขณะนี้โครงการมีความจำเป็นแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่เป็นการเร่งด่วน รวมถึงแก้ไขปัญหาระยะยาวอย่างยั่งยืนด้วย โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ ในระยะที่ 1 จะดำเนินการแก้ไขปัญหาตั้งแต่ปลายแหลมตะลุมพุกลงมาทางด้านใต้ตามแนวชายฝั่งระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่บริเวณหมู่ที่ 2 และ 3 ตำบลแหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช

โดยกรมเจ้าท่าได้ว่าจ้างศูนย์วิศวกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม บางเขน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วงเงิน 14.99 ล้านบาท เป็นที่ปรึกษาระยะเวลา 12 เดือน (29 พ.ย. 55-23 พ.ย. 56) ศึกษาวิเคราะห์ปัญหา และสาเหตุของการกัดเซาะชายฝั่ง และกำหนดแนวทาง วิธีการป้องกัน และแก้ไขที่เหมาะสมให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ รวมทั้งสอดคล้องกับสภาพการใช้งานของชายหาด พร้อมกับสำรวจออกแบบรายละเอียดโครงสร้างเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง รวมทั้งจัดเตรียมเอกสารประกอบการประกวดราคาก่อสร้างโครงสร้างดังกล่าว และเพื่อศึกษา จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) งานก่อสร้างโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งตามแนวทางของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อนำเสนอ สผ.ให้ความเห็นชอบต่อไป โดยเมื่อโครงการก่อสร้างเขื่อนฯ แล้วเสร็จจะทำให้เขื่อนมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ปัญหาการกัดเซาะลดลง ช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ตลอดจนประหยัดค่าใช้จ่ายของรัฐ และประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น