xs
xsm
sm
md
lg

6 อำเภอชายฝั่งปัตตานีตื่นตัวหามาตรการแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัตตานี - 6 อำเภอชายฝั่งปัตตานีเดือดร้อนถูกคลื่นกัดเซาะหายแล้ว 116 กม. ชาวบ้าน-หน่วยงานราชการตื่นตัวเร่งหารือแนวทางป้องกันก่อนชายฝั่งจะเสียหายทั้งหมด ก่อนได้ข้อสรุปให้ใช้เขื่อนกันคลื่นแบบโครงสร้างแข็งผสมโครงสร้างอ่อน

จากกรณีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ 6 อำเภอชายฝั่งทะเลของ จ.ปัตตานี ระยะทางยาว 116 กม. โดยเฉพาะพื้นที่ชายฝั่งทะเลใน อ.หนองจิก ถูกกัดเซาะหายไปแล้วประมาณ 5 กม. ในช่วง10 ปีที่ผ่านมา และบริเวณปากคลองด้านตะวันตกของพื้นที่โครงการมีการก่อสร้างเขื่อนกันทราย และคลื่นโดยกรมเจ้าท่า พบว่า ปริมาณทรายชายฝั่งตามแนวชายฝั่งได้ถูกเขื่อนดักทรายจนเต็ม และล้นข้ามเขื่อน นอกจากนี้ ยังส่งผลทำให้พื้นที่ชายฝั่งด้านหลังเขื่อนถูกคลื่นกัดเซาะอย่างรุนแรง โดยมีการกัดเซาะมาแล้วมากกว่า 5 เมตรต่อปี จึงจำเป็นที่ต้องแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้อย่างเร่งด่วน

วันนี้ (15 มี.ค.) ผศ.สมปอง ทองผ่อง รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้ร่วมกับกรมเจ้าท่า กรมทรัพยากรทางทะเล กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยกรธรณี สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง พร้อมด้วยนายก อบต. ผู้นำท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ชายฝั่งทะเล ประมาณ 500 คน ร่วมประชุมเพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหา ในโครงการศึกษาสิ่งแวดล้อม และสำรวจออกแบบเพื่อก่อสร่างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการกัดเซาะที่จะรุนแรงยิ่งขึ้นในอนาคต

โดยในที่ประชุมได้มีการนำเสนอปัญหาว่า ที่ผ่านมานั้น ทั้งถนน บ้านเรือนราษฎร คลองสาธารณะ มัสยิด และต้นไม้ต่างๆ ล้วนถูกกัดเซาะสร้างความสูญเสียแก่ผู้ที่อาศัยอยู่ริมชายฝั่งอย่างยิ่ง โดยต้องอพยพหนีมาโดยตลอด ประกอบกับคนที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งมีสภาพยากจน ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งจึงส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต และความเป็นอยู่ ซึ่งที่ผ่านมา ถูกปล่อยปละละเลยโดยไม่มีใครที่จะสนใจ มีเพียงชาวบ้านที่พยายามใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านป้องกันแต่ก็ไม่เป็นผล และไม่สามารถต้านแรงของคลื่นได้ ดังนั้น จึงขอให้ราชการเข้ามาช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้สรุปแนวทางการแก้ปัญหาให้ทุกฝ่ายร่วมกันนำเสนอ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนการช่วยเหลือต่อไป โดยให้เลือก 3 วิธี คือ ปล่อยไปตามธรรมชาติ หรือวิธีเสริมทรายชายหาด ปลูกต้นไม้ หรือการย้ายทราย และวิธีสุดท้ายคือ ใช้ด้านวิศวกรรม หรือโครงสร้างแข็ง ซึ่งหลายฝ่ายได้เสนอให้แก้ปัญหาด้วยโครงสร้างวิศวกรรม หรือโครงสร้างแข็งผสมโครงสร้างอ่อนเพื่อให้สภาพชายหาดหยุดการกัดเซาะ และให้เข้าสู่ความสมดุลทางธรรมชาติต่อไป

 
 




กำลังโหลดความคิดเห็น