“ไอเอ็มเอฟ” ห่วงปัญหา “หนี้ครัวเรือน-จำนำข้าว” เล็งปรับลดจีดีพีไทยเหลือต่ำกว่า 5% นอกจากนี้ การขยายบทบาทของสถาบันการเงินเฉพาะกิจยังมีความเสี่ยง และอยากให้กระทรวงการคลังทบทวนการดำเนินบทบาทของสถาบันเงินของภาครัฐให้เหมาะสม
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า คณะเจ้าหน้าที่ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เข้าหารือกับ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระหว่างเดินทางมาหารือกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อประเมินภาวะเศรษฐกิจไทย โดยทางไอเอ็มเอฟมองว่าภาวะเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี ปีนี้จีดีพีน่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 5
ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนและการใช้จ่ายของภาครัฐเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก อย่างไรก็ตาม การประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยปีนี้อาจต้องปรับลดเป้าหมายจีดีพีลงจากเดิมซึ่งคาดการณ์ไว้ในต้นปีว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้มากกว่าร้อยละ 5 แม้ว่าเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งระดับหนี้สาธารณะอยู่ในระดับต่ำ ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง สามารถรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ และฐานะการคลังยังไม่น่าเป็นห่วง แต่มองว่าเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงมากกว่าคาดการณ์ไว้ในไตรมาส 1 ทำให้มีแนวโน้มว่าทั้งปีจะขยายตัวลดลงจากเดิมที่คาดการณ์ไว้
“ไอเอ็มเอฟมองว่าเศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยเสี่ยง 3 ด้าน คือ ภาระหนี้ภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูงจนอาจเป็นปัญหาและต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด รวมถึงมีความเป็นห่วงเรื่องการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลไทย เช่นเดียวกับสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส แสดงความกังวลและออกรายงานไปก่อนหน้านี้ ระบุว่ามีการขาดทุนจากโครงการจำนำข้าวเปลือกปี 54/55 ตามตัวเลขของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีที่ 1.3 แสนล้านบาท”
นอกจากนี้ ไอเอ็มเอฟมองว่าการขยายบทบาทของสถาบันการเงินเฉพาะกิจยังมีความเสี่ยง จึงอยากให้กระทรวงการคลังทบทวนการดำเนินบทบาทของสถาบันเงินของภาครัฐให้เหมาะสม ขณะที่ สศค.ชี้แจงไปว่ากำลังมีแผนปฏิรูปสถาบันการเงินของรัฐทุกแห่ง โดยส่งให้ รมว.คลังพิจารณาแล้ว ต่อไปสถาบันการเงินของรัฐจะทำหน้าที่หลักตามวัตถุประสงค์การจัดตั้ง แต่ได้แข่งขันกับธนาคารพาณิชย์อีกทางหนึ่ง
นายสมชัยยังกล่าวถึงกรณีที่มีเงินทุนระยะสั้นไหลออกในช่วงนี้นับเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงสั้น หากสหรัฐฯ ยังไม่ยกเลิกมาตรการอัดฉีดเงินออกสู่ระบบ (คิวอี) ขณะที่ญี่ปุ่นยังอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ จึงน่าจะมีเงินไหลกลับเข้ามาในประเทศไทยอีกรอบ หลังจากขณะนี้นักลงทุนโยกไปลงทุนในรัสเซียและบราซิลเพราะได้ผลตอบแทนสูงกว่า จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และ ธปท.ติดตามและรับมือกับเงินทุนไหลเข้ามากดดันค่าเงินบาทอีกครั้ง