xs
xsm
sm
md
lg

IMFจ่อหั่นจีดีพีไทยหลุด5% ห่วงจำนำข้าว-หนี้ครัวเรือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไอเอ็มเอฟจ่อปรับลดจีดีพีไทยลงต่ำกว่า 5% หลังพบความเสี่ยงเรื่องหนี้ครัวเรือนและนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลยังน่าเป็นห่วง พร้อมแนะให้ปรับบทบาทของสถาบันการเงินของรัฐให้ทำหน้าที่อย่างเหมาะสมมากขึ้น ขณะที่สศค.ระบุเงินไหลออกเป็นแค่ช่วงสั้น จี้ ธปท.เตรียมพร้อมรับมือเงินกลับเข้ามาอีกระลอก

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า การที่คณะเจ้าหน้าที่ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟเข้าพบนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง และเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังว่า เป็นการเดินทางมาหารือกับหน่วยงานภาครัฐตามปกติเพื่อประเมินภาวะเศรษฐกิจไทย โดยทางไอเอ็มเอฟยังมองว่าภาวะเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี ปีนี้จีดีพีน่าจะขยายตัวได้ใกล้เคียงกับ 5%

เป็นผลมาจากการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนและการใช้จ่ายของภาครัฐเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก อย่างไรก็ตามการประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยปีนี้อาจจะมีการปรับลดการคาดการณ์จีดีพีลงจากเดิมที่ต้นปีไอเอ็มเอฟมองว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้มากกว่า 5%

“แม้ว่าเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไทยยังดีอยู่ทั้งระดับหนี้สาธารณะอยู่ในระดับต่ำ ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงสามารถรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้และฐานะการคลังยังไม่น่าเป็นห่วง แต่จากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดในไตรมาส1 ทำให้มีแนวโน้มว่าทั้งปีจะขยายตัวลดลงจากที่ประเมินไว้เดิม ซึ่งสอดคล้องกับที่สศค.ประเมินและเตรียมจะปรับลดการขยายตัวของจีอีดีพีปีนี้ลงต่ำกว่า 5% เช่นกัน” นายสมชัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม ไอเอ็มเอฟยังมองว่าเศรษฐกิจไทยมีปัจจัยเสี่ยง 3 ด้าน คือ เรื่องของหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงจนอาจเป็นปัญหาและต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด และเป็นห่วงเรื่องการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลไทยเช่นเดียวกับที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มูดี้ส์ อินเวสเอตร์ เซอร์วิส แสดงความกังวลและออกรายงานก่อนหน้านี้

โดยยืนยันตัวเลขการขาดทุนจากโครงการจำนำข้าวเปลือกปี 54/55 ตามตัวเลขของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีที่ 1.3 แสนล้านบาท ส่วนตัวเลขสต็อกข้าวและราคาขายข้าวก่อนหน้านี้เป็นเรื่องที่กระทรวงพาณิชย์ต้องชีแจงข้อเท็จจริง หรือต้องรอให้คณะกรรมการนโยบายข้าว (กขช.) สรุปอีกครั้งและหากมีตัวเลขใหม่ที่ชัดเจนทางสศค.ก็อาจจะชี้แจงไปทางมูดี้ส์ด้วย

นอกจากนี้ ไอเอ็มเอฟยังมองความเสี่ยงของการขยายบทบาทของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยอยากให้กระทรวงการคลังทบทวนการดำเนินบทบาทของสถาบันเงินของภาครัฐให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ทางสศค.จึงชี้แจงไปว่าขณะนี้มีแผนที่จะปฎิรูปสถาบันการเงินของรัฐทุกแห่งอยู่แล้วและส่งไปให้รมว.คลังพิจารณาแล้ว โดยต่อไปสถาบันการเงินแต่ละแห่งจะทำหน้าที่หลักตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งและเน้นแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์

นายสมชัยกล่าวถึงกรณีที่มีเงินทุนระยะสั้นไหลออกในช่วงนี้ว่าน่าจะเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงสั้นๆ โดยมองว่าหากสหรัฐยังไม่ยกเลิกมาตรการคิวอีและญี่ปุ่นยังอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจน่าจะมีเงินไหลกลับเข้ามาในประเทศไทยอีก จากขณะนี้ที่นักลงทุนโยกไปลงทุนที่รัสเซีย และบราซิลเพราะได้ผลตอบแทนดีกว่า เราจึงไม่ควรประมาทและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงต้องเตรียมพร้อมรับมือกับเงินที่จะไหลกลับเข้ามากดดันค่าเงินบาทอีกระลอก.
กำลังโหลดความคิดเห็น