xs
xsm
sm
md
lg

สัญญาณร้ายจากตลาดหุ้น

เผยแพร่:   โดย: สุนันท์ ศรีจันทรา

ตลาดหุ้นกำลังเกิดจุดหักเหครั้งใหญ่ จากบรรยากาศการซื้อขายร้อนแรงตั้งแต่ต้นปี ดัชนีสร้างจุดสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง แต่ช่วงกลางเดือนพฤษภาคมเกิดความผันผวนอย่างหนัก และภายในเวลาประมาณ 3 สัปดาห์ ดัชนีก็ดิ่งเหวลง ทรุดตัวม้วนเดียวกว่า 200 จุด

ความผันผวนของตลาดหุ้นเกิดขึ้นพร้อมกับกระแสข่าว บริษัท มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ จำกัด บริษัทจัดอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลก เตรียมพิจารณาลดเครดิตความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ซึ่งเป็นผลพวงการขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าว 200,000 ล้านบาท

ขณะที่นักลงทุนต่างชาติกระหน่ำขายหุ้นติดกันหลายหมื่นล้านบาท เพราะกังวลว่า สหรัฐฯ จะประกาศยกเลิกมาตรการอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนค่าเงินบาทก็อ่อนยวบลง ล่าสุดทะลุ 31 บาทต่อดอลลาร์

การรูดมหาราชของตลาดหุ้น เหตุผลที่อธิบายกันง่ายๆ เกิดจากการถอนทุนของต่างชาติ แต่คำถามต่อไปคือ หุ้นจะทรุดลงยืดเยื้อยาวนานขนาดไหน และดัชนีจะฟื้นกลับไปสู่ระดับ 1,650 จุดเมื่อไหร่

ดัชนีที่ไต่ขึ้นมาถึงระดับ 1,650 จุด เนื่องจากเงินทุนไหลเข้า โดยต่างชาติขนเงินทุ่มซื้อหุ้น และทุ่มซื้อทั้งย่านเอเชีย โดยเฉพาะกลุ่ม “ทิพ” ซึ่งประกอบด้วย ตลาดหุ้นไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

มาตรการอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หรือมาตรการ “คิวอี” ทำให้เกิดภาวะเงินท่วมโลก และเกิดการเคลื่อนย้ายทุนครั้งใหญ่ โดยอพยพมาในย่านเอเชีย จนค่าเงินแข็งขึ้น โดยเฉพาะค่าเงินบาท

แต่ความคึกคักของตลาดหุ้นไทยกลับได้รับคำอธิบายว่า เกิดจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และแนวโน้มการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)

ถ้าดัชนีที่พุ่งทะยานมาแตะระดับ 1,650 จุด สูงสุดในรอบ 19 ปี เกิดจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจจริง การทรุดตัวอย่างถล่มทลายที่เกิดขึ้น คงไม่น่าเป็นกังวลเท่าไหร่ เพราะจะเป็นสถานการณ์ความผัผวนเพียงชั่วคราว

แต่เศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งจริงหรือไม่ แนวโน้มการเติบโตของประเทศไทยจะสดใสเหมือนอย่างที่รัฐบาลกำลังชวนประชาชนให้ฝันตามจริงหรือไม่

เพราะถ้าเศรษฐกิจไม่ดีจริง แนวโน้มประเทศไทยไม่เติบโตจริง ความซบเซาของตลาดหุ้น อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น

ฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศที่แท้จริงเป็นอย่างไร ไม่อาจประเมินได้แน่ชัด และข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจหลายด้านมีความคลุมเครือมีข้อน่าสงสัย

นอกจากนั้น อนาคตระบบเศรฐกิจก็ยังมีความเสี่ยงต่อการล่มสลาย จากหลายโครงการของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ว่าโครงการรับจำนำข้าว โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท โครงการเงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

โครงการรับจำนำข้าวขาดทุนมโหฬารแน่ แต่ตัวเลขยังถูกปกปิดไว้ โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งเชื่อว่า โกงกันขนาดหนัก แต่หนี้สินของประเทศจะพุ่งขึ้น และโครงการเงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท อาจจุดชนวนวิกฤตหนี้สาธารณะในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ถ้าดูจากตัวเลขจีดีพีในไตรมาสแรกปีนี้ เศรษฐกิจทั่วไปอยู่ในภาวะชะลอตัวเท่านั้น แต่ถ้าสัมผัสกับเศรษฐกิจภาคประชาชน กลับอยู่ในภาวะฝืดเคืองและแร้นแค้น กำลังซื้อหดตัวอย่างหนัก การค้าขายเงียบเหงาซบเซาสุดขีด

นักลงทุนและผู้บริโภคเกิดความรู้สึกเหมือนกันคือ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจไม่น่าไว้วางใจ และพยายามกอดเงินสดไว้ให้มากที่สุด

หุ้นลงหนักครั้งนี้ มีชนวนเหตุจากต่างชาติถอนทุนออก ถ้าต่างชาติหยุดขาย วิกฤตการณ์คงคลี่คลาย แต่โจทย์ที่นักลงทุนต้องขบคิดเป็นการบ้านคือ อีกเมื่อไหร่หุ้นจึงจะฟื้นคืนกลับสู่ความคึกคัก

เพราะถ้าเศรษฐกิจแข็งแกร่งจริง อนาคตจีดีพีจะเติบโตสดใสไม่มีปัญหาหนี้สาธารณะ โครงการต่างๆ ของรัฐบาลไม่จุดชนวนหายนะ ประเทศไม่ถูกลดเครดิตความน่าเชื่อถือ ดัชนีตลาดหุ้นคงค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นมาใหม่

แต่มั่นใจกันจริงหรือว่าเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง มั่นใจกันจริงหรือว่า หายนะทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่จะไม่เกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

การทรุดตัวของดัชนีอาจเป็นการบ่งชี้ภาวะฟองสบู่ในตลาดหุ้น โดยก่อนหน้า เก็งกำไรกันอย่างร้อนแรงจนปัจจัยพื้นฐานวิ่งตามไม่ทัน ซึ่งอาจเป็นเพราะบรรดาแมลงเม่า ถูกชวนฝันแต่ภาพที่สดใสทางด้านเศรษฐกิจ

ตอนนี้ต้องตื่นจากความฝัน และหันมาค้นหาความจริงกันแล้ว ไม่เฉพาะนักลงทุนในตลาดหุ้นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประชาชนทั้งประเทศด้วย

เพราะตลาดหุ้นที่ทรุดฮวบลง กำลังเป็นสัญญาณเตือนภัยให้ทุกฝ่ายต้องระมัดระวัง ต้องเตรียมตัวรับมือกับวิกฤตที่จะเกิดขึ้น

ตลาดหุ้นที่ถล่มทลาย อย่ามองเป็นแค่ปรากฏการณ์ฟองสบู่แตกทางการลงทุนเท่านั้น เพราะนี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของสัญญาณร้าย การล่มสลายของระบบเศรษฐกิจที่รุนแรงยิ่งกว่าปี 2540 ตามมา และประมาทไม่ได้เป็นอันขาด
กำลังโหลดความคิดเห็น