- GDP ประจำไตรมาสแรกของยูโรโซนลดลง 0.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าและลดลง 1.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี ส่งผลให้เศรษฐกิจยูโรโซนถดถอย 6 ไตรมาสต่อเนื่องกัน
- Markit รายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Composite PMI) ของยูโรโซนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 46.9 ในเดือน เม.ย.สู่ 47.7 ในเดือน พ.ค. แต่การต่ำกว่าระดับ 50 ประกอบกับยอดคำสั่งซื้อใหม่ที่ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องแสดงว่า ยูโรโซนยังห่างไกลจากภาวะฟื้นตัว
- ยอดค้าปลีกของยูโรโซนในเดือน เม.ย.ลดลง 0.5% จากเดือน มี.ค. บ่งชี้บรรยากาศการจับจ่ายที่ซบเซาของผู้บริโภคท่ามกลางความไม่แน่นอนด้านการจ้างงาน เป็นสัญญาณลบต่อ GDP ไตรมาส 2
- IMF ระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐไม่ได้ปรับตัวดีอย่างที่ควรจะเป็น เพราะปัญหาการคลังโดยเฉพาะภาระหนี้สินในระยะยาว ถึงแม้ว่าอุปสงค์ภาคเอกชนจะเพิ่มขึ้นสม่ำเสมอจากการฟื้นตัวของตลาดที่อยู่อาศัย ภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ และภาวะการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นก็ตาม
- ภาคเอกชนทั่วสหรัฐจ้างงานเพิ่มขึ้น 135,000 ตำแหน่งในเดือน พ.ค. โดยจ้างเพิ่มในภาคก่อสร้างและภาคบริการ ขณะที่ภาคการผลิตการจ้างงานลดลง
- เอสเธอร์ จอร์จ ประธาน FED สาขาแคนซัสซิตี้ แสดงความเห็นว่า FED ควรชะลอโครงการซื้อพันธบัตรเพื่อเตรียมพร้อมใช้นโยบายการเงินแบบปกติและทำให้ตลาดการเงินลดการพึ่งพานโยบายการเงิน โดย ริชาร์ด ฟิชเชอร์ ประธาน FED สาขาดัลลัส ระบุว่า FED มีแนวโน้มที่จะทบทวนมาตรการ เนื่องจาก QE ไม่ได้กระตุ้นการใช้จ่าย แต่อาจกระตุ้นการเก็งกำไรซึ่งอาจทำให้เกิดเงินเฟ้อร้ายแรงในอนาคต นอกจากนั้น เศรษฐกิจสหรัฐก็ฟื้นตัวขึ้นในระดับที่แข็งแรงพอที่จะปล่อยให้การบริโภคผลักดันให้การจ้างงานเติบโตขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในระยะยาวแล้ว
- อัตราเงินเฟ้อรายปีของประเทศในกลุ่ม OECD ลดลงสู่ระดับต่ำสุดที่ 1.3% ในเดือน เม.ย.จากราคาพลังงานที่ปรับตัวลง
- GDP ไตรมาสแรกของออสเตรเลียขยายตัว 0.6% เมื่อเทียบรายไตรมาส และ 2.5% เมื่อเทียบรายปี จากแรงหนุนของการบริโภคในประเทศและส่งออก ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังคงอ่อนแอ
- HSBC รายงานว่า ดัชนี PMI ภาคบริการของจีนในเดือน พ.ค.เพิ่มขึ้นสู่ 51.2 จาก 51.1 ในเดือน เม.ย. บ่งชี้ว่าภาคการผลิตที่อ่อนแอไปถ่วงการขยายตัวของภาคบริการ จึงเพิ่มความเสี่ยงให้เศรษฐกิจในไตรมาส 2 อย่างไรก็ตาม ภาคบริการอาจปรับตัวดีขึ้นในอนาคตจากภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ดีขึ้น กับการเดินหน้าปฏิรูปภาษีมูลค่าเพิ่ม
- HSBC รายงานว่า ดัชนี PMI ของฮ่องกงในเดือน พ.ค.อยู่ที่ 49.8 จาก 49.9 ในเดือน เม.ย. แสดงถึงภาวะธุรกิจเอกชนที่ชะลอตัวลงเล็กน้อย จากยอดสั่งซื้อใหม่ที่ลดลงรุนแรงที่สุดในรอบ 8 เดือน โดยเฉพาะในส่วนยอดคำสั่งซื้อใหม่จากจีน
- นายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ แถลงยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของญี่ปุ่นรอบที่ 3 คือการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเป็นพิเศษเพิ่มจากการใช้จ่ายอย่างมากของรัฐบาลไปแล้ในช่วงก่อนหน้า โดยประเด็นสำคัญของแผนยุทธศาสตร์ครั้งนี้ ได้แก่
1.)เพิ่มรายได้ต่อหัวของประชากรให้ได้อย่างน้อย 3% ต่อปี ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่จะแก้เงินฝืด
2.)จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อดึงดูดธุรกิจต่างชาติและผ่อนคลายกฎเกณฑ์ในการดำเนินธุรกิจ
3.)ตั้งเป้าหมายการลงทุนภาคเอกชน 70 ล้านล้านเยน (มากกว่าปัจจุบัน 10% และเป็นระดับก่อนเกิดวิกฤต) รวมถึงส่งเสริมการขยายธุรกิจผ่านช่องทาง
อินเตอร์เน็ต
4.)ส่งเสริมการปฏิรูปอุตสาหกรรมผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศ ให้เพิ่มขึ้นเป็น 30 ล้านล้านเยนภายใน 10 ปี
5.)เพิ่มยอดส่งออกด้านโครงสร้างพื้นฐานและสินค้าเกษตรขึ้น 3 เท่าและ 2 เท่าตามลำดับโดย 70% ของยอดส่งออกจะอยู่ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีภายใน
ปี 2018 เพิ่มขึ้นจาก 19% ในปัจจุบัน
- อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของฟิลิปปินส์ในเดือน พ.ค.ขยายตัว 2.6% เมื่อเทียบปีก่อน โดยราคาอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งและการฉลองเทศกาลต่างๆ ในขณะที่ราคาน้ำมันลดลง
- ธปท. ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 จะได้รับแรงส่งจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐชดเชยการส่งออกที่ชะลอตัวลง ส่วนการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน เม.ย.ที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 17 ปี นั้นมาจากการนำเข้าเพื่อสร้างรายได้ในอนาคต สำหรับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงในช่วงนี้มาจาก 3 ปัจจัย ได้แก่
1.)ข่าวการออกมาตรการดูแลค่าเงินบาทของ ธปท. และ ก.คลัง
2.)ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ดีขึ้นจนนำไปสู่การตีความว่า FED อาจชะลอหรือยุติมาตราการ QE
3.)ตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงอาจส่งผลกับเศรษฐกิจของประเทศอื่นในภูมิภาค
- SET Index ปิดที่ 1,522.66 จุด ลดลง 32.95 จุด หรือ -2.12% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 50,717.88 ล้านบาท โดยดัชนีเคลื่อนไหวอยู่ในแดนลบตลอดวันและปรับตัวลงแรงในช่วงบ่าย เป็นไปตามทิศทางเดียวกับตลาดต่างประเทศจากปัจจัยลบความกังวลเรื่องมาตรการ QE ของสหรัฐ หลังจากที่สมาชิกของ FED แสดงท่าทีสนับสนุนการชะลอซื้อพันธบัตร ประกอบกับนักลงทุนรอดูความชัดเจนจากตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐที่จะประกาศภายในสัปดาห์นี้ เพราะเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณามาตรการต่างๆ
- Bloomberg รายงานว่า ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และไทย กลายเป็นตลาดที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุดหลังจากนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิอย่างต่อเนื่อง ด้วยคาดว่า FED จะลดวงเงิน QE ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิใน 3 ตลาดดังกล่าวในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมารวมกัน 2.3 พันล้านดอลลาร์แล้ว โดยตลาดหุ้นไทยมีการขายสุทธิมากที่สุดอยู่ที่ 769 ล้านดอลลาร์
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลงในทุกช่วงอายุของตราสารในช่วง -0.01% ถึง -0.04%โดยมีมูลค่าการซื้อขาย 82,148 ล้านบาท
- ธ.กลางออสเตรเลียประกาศคงดอกเบี้ยอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.75% ซึ่งต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ พร้อมเปิดช่องถึงการเดินหน้าลดดอกเบี้ยในอนาคต เพื่อช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของภาคเอกชนและสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ