- ฝรั่งเศสเตรียมแผนลงทุนขนาดใหญ่ 1.2 หมื่นล้านยูโร ภายในปี 2560 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับบริษัทในประเทศ โดยจะลงทุนผ่านธนาคารเพื่อการลงทุนสาธารณะ(PIB) ที่เป็นหน่วยงานของรัฐบาลซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือบริษัทที่มีปัญหาทางการเงิน
- จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานของสหรัฐ วันที่ 11 พ.ค.อยู่ที่ 360,000 ราย เพิ่มขึ้น 32,000 ราย เป็นอัตราการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของตลาดแรงงานสหรัฐ
- อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐเดือน เม.ย.ลดลง 0.4% จาก -0.2% ในเดือนก่อน เนื่องจากราคาน้ำมันเบนซินลดลง 8.1% ลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2551 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน(ไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน)เพิ่มขึ้นเพียง 0.1% ทั้งนี้ ประธาน FED สาขาเซนต์หลุยส์เคยกล่าวว่าการชะลอตัวของเงินเฟ้ออาจทำให้ FED ต้องอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบมากกว่าที่กำหนดไว้ในปัจจุบัน
- การก่อสร้างบ้านใหม่ของสหรัฐเดือน เม.ย.หดตัวลง 16.5% สู่ 853,000 หลังต่อปี เป็นการหดตัวต่ำสุดในรอบ 2 ปี ขณะที่การอนุมัติก่อสร้างบ้านใหม่เพิ่มขึ้น 14.3% สู่1.02 ล้านหลังต่อปี บ่งชี้ว่า กิจกรรมการก่อสร้างบ้านของสหรัฐยังมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวในอนาคต
- พอล โวล์คเกอร์ อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (FED) คาดว่า อัตราว่างงานจะระดับสูงกว่า 6% ต่อไปอีกอย่างน้อย 2 ปี เนื่องจากเศรษฐกิจขยายตัวช้าจึงไม่ทำให้การจ้างงานะเพิ่มขึ้นในระดับที่น่าพอใจ อนึ่ง อัตราว่างงานสหรัฐในเดือน เม.ย.อยู่ที่ 7.5% ลดลงจาก 8.1% ในปีก่อน
- เศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสแรกขยายตัว 3.5% สูงกว่า 2.7% ที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกฟื้นตัว ซึ่งเป็นการตอบรับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและธนาคารกลางญี่ปุ่นที่อัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ
- การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของจีนเดือน เม.ย.อยู่ที่ 8.4 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 0.4% แต่ชะลอตัวจาก 5.7% ในเดือนก่อน และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดเนื่องจากแรงดึงดูดเงินลงทุนของจีนเริ่มลดลงหลังจากข้อได้เปรียบด้านต้นทุนแรงงานหมดไปจากการที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและสวัสดิการแรงงานมากขึ้น
- ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ ลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปีนี้เหลือ 7.7% จากเดิม 8.3% จากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแออย่างต่อเนื่องตลอด 4 เดือนแรกของปี และลดคาดการญ์ขยายตัวในปีหน้าลงเหลือ 7.5% จากเดิม 8.2%
- เศรษฐกิจมาเลเซียขยายตัว 4.1% ในไตรมาสแรก จากความต้องการภายในประเทศที่ขยายตัวถึง 8.2% ขณะที่เศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอนยังเป็นความเสี่ยงสำคัญ ทั้งนี้ ธนาคารกลางมาเลเซียยังคงคาดการณ์อัตราการเติบโตในปีนี้ที่ 5-6%
- หนี้สาธารณะของไทยในเดือน มี.ค.เพิ่มขึ้น 4.73 หมื่นล้านบาท มาอยู่ที่ 5.12 ล้านล้านบาท คิดเป็น 44.16% ของ GDP จากการเพิ่มขึ้นของหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน 5.66 หมื่นล้านบาท และจากการกู้ยืมของรัฐบาล 826 ล้านบาท
- กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวว่า แม้จะไม่สามารถนำ พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาท เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในสมัยประชุมวิสามัญนี้ได้ทัน ก็จะไม่กระทบต่อการลงทุนของประเทศ และจะได้มีเวลาให้คณะกรรมาธิการศึกษาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวให้อย่างละเอียดรอบคอบมากยิ่งขึ้น โดยจะเร่งรัดติดตามการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐบาลกว่า 4 แสนล้านบาทให้เป็นไปตามเป้าหมายเพื่อให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนต่อไปได้
- ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง ระบุว่า มาตรการ 4 ข้อของ ธปท.เป็นการแก้ปัญหาเงินบาทได้ตรงจุดมากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ย และเห็นว่าการแข็งค่าของเงินบาทมีสาเหตุมาจากมาตรการ QE ของสหรัฐและญี่ปุ่นที่ทำให้เม็ดเงินไหลเข้าสู่ตลาดที่ให้ผลตอบแทนสูง และระบุว่า การแก้ปัญหาค่าเงินบาทสามารถทำได้ 3 วิธี คือ 1) ธปท.เข้าแทรกแซง ซึ่งเป็นวิธีการปกติที่ทำอยู่ แต่มีข้อเสียที่ทำให้ ธปท.ขาดทุน 2) ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดภาวะฟองสบู่ขึ้นในประเทศ และ 3) ใช้มาตรการ 4 ข้อของ ธปท.ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาได้ตรงจุดที่สุด
- ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยหลังหารือกับผู้ว่าธปท.ว่า ค่าเงินบาทในระดับปัจจุบันอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยสมาชิกหอการค้าส่วนใหญ่มองว่า อัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมคือระดับ 29 - 30 บาทต่อดอลลาร์ และต้องการให้ทางการดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนมากเกินไปและให้สอดคล้องกับค่าเงินสกุลอื่นๆโดยเฉพาะประเทศคู่แข่ง
- SET Index ปิดที่ 1,617.89 จุด ลดลง 12.20 จุด หรือ -0.75% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 56,762.74 ล้านบาท โดยยังไม่มีปัจจัยใหม่มาผลักดันตลาด และการประกาศผลประกอบการในไตรมาสแรกได้จบลงแล้ว ทั้งนี้ หุ้นที่จะถูกนำเข้าคำนวณใน MSCI Global Standard มีราคาปิดเพิ่มขึ้น นำโดย MINT +5.26% HMPRO +3.95% TRUE +2.67% และ INTUCH +2.56%
- MSCI ประกาศรายชื่อหุ้นไทยที่ถูกนำเข้าคำนวณในดัชนี MSCI Global Standard ในครั้งนี้คือ HMPRO, MINT, INTUCH, TRUE ส่วนหุ้นไทยที่ถูกนำเข้าคำนวณในดัชนี MSCI Global Small Cap คือ ANAN, BMCL, EASTW, EA, GRAMMY, GUNKUL, JMART, KTC, MALEE, N-PARK, OFM, OISHI, SAMTEL, SPCG, TFD, THRE, UMI, UV, VGI และ WHA
ทั้งนี้ จากข้อมูลทางสถิติในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา หุ้นที่ถูกประกาศให้เข้าในดัชนี MSCI Global Standard จะให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 10.2% ในช่วง 2 สัปดาห์หลังการประกาศ และหุ้นที่เข้าในดัชนี MSCI Global Small Cap จะให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 3.5% อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เตือนว่าหุ้นหลายตัวที่จะเข้าดัชนี MSCI ได้ปรับตัวขึ้นมาก่อนหน้าค่อนข้างมากแล้ว จึงควรระมัดระวังในการลงทุนให้มาก
- ผลการสำรวจนักลงทุนทั่วโลกของ Bloomberg ระบุว่า ตลาดหุ้นสหรัฐและญี่ปุ่นจะให้ผลตอบแทนดีที่สุดในปีนี้จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ ขณะที่ตลาดหุ้นยุโรปและจีนจะให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด
- อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลเคลื่อนไหวในช่วง -0.03% ถึง 0.00% สำหรับวันนี้มีการประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย อายุ 14 วัน วงเงิน 30,000 ล้านบาท
- สภาทองคำโลก (World Gold Council) รายงานว่า ความต้องการทองคำในไตรมาสแรกของปีอยู่ที่ 963 ตัน ลดลง 13% เป็นระดับต่ำสุดในรอบ 9 ปี จากความต้องการด้านการลงทุนที่ลดลง โดยนักลงทุนเทขายหน่วยลงทุนทองคำประเภท ETF จำนวน 176.9 ตัน คิดเป็น 7% ของทองคำทั้งหมดในกองทุน ETFs ขณะที่ความต้องการทองคำสำหรับเครื่องประดับยังคงเติบโตมาอยู่ที่ 551 ตัน เพิ่มขึ้น 12% โดยความต้องการของจีนและอินเดียยังคงเพิ่มขึ้น 19% และ 15% ตามลำดับ