xs
xsm
sm
md
lg

อู่ต่อรถโดยสารยื่น “คมนาคม” เขียนสเปกรถเมล์ NGV หนุนอุตฯ ในประเทศสกัดโรงงานจีนนำเข้าตัวถัง 100%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“เจ๊เกียว” พร้อมอู่ผลิตรถโดยสารรายใหญ่ของไทยบุกคมนาคมยื่นหนังสือขอให้กำหนดเงื่อนไขร่างทีโออาร์ประมูลรถเมล์ NGV 3,183 คัน ใช้ตัวถังที่ผลิตในไทยเพื่อสร้างงานในประเทศ พร้อมสกัดบริษัทจีนจ้องฮุบนำเข้าทั้งหมด ด้าน “พฤณท์” รับเรื่องส่งต่อกรรมการร่างทีโออาร์ ยันไม่ล็อกสเปก ชี้เป็นนโยบายรัฐที่หนุนอุตฯ ในประเทศ ชี้ประมูลต้องแข่งที่ราคาและคุณภาพประกอบด้วย

วันนี้ (5 มิ.ย.) กลุ่มผู้ผลิตรถยนต์โดยสารภายในประเทศ 3 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มเชิดชัยนครราชสีมาชมรม, อู่ต่อตัวถังบ้านโป่ง, บริษัท ธนบุรี บัส บอดี้ จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัด เอกวัตร 1994 พร้อมด้วยซัปพลายเออร์และอุตสาหกรรมต่อเนื่องรวม 15 บริษัท นำโดยนางสุจินดา เชิดชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท อู่เชิดชัยอุตสาหกรรม จำกัด ได้เข้าพบ พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม โดยยื่นหนังสือขอให้พิจารณากำหนดเงื่อนไขทีโออาร์ในการประกวดราคาโครงการจัดซื้อรถยนต์โดยสารใช้เชื้อเพลิงธรรมชาติ (NGV) จำนวย 3,183 คัน วงเงิน 13,162.3 ล้านบาท ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมต่อตัวถังรถยนต์ อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนรถยนต์โดยสาร และอุตสาหกรรมต่อเนื่องการผลิตตัวถังรถยนต์โดยสารในประเทศ โดยกำหนดให้มีการผลิตตัวถังรถยนต์โดยสารในประเทศทั้ง 3,183 คัน และไม่อนุญาตให้นำชิ้นส่วนตัวถังรถยนต์

โดย พล.อ.พฤณท์เปิดเผยภายว่า ได้รับข้อเสนอคิดเห็นของผู้ประกอบการไว้และจะแจ้งให้คณะกรรมการร่างเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) โครงการจัดซื้อรถเมล์ NGV ต่อไป ซึ่งเรื่องดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการสนับสนุนกลุ่มผู้ผลิตตัวถังรถยนต์ขนาดใหญ่ในประเทศอยู่แล้ว แต่ต้องดูตามสัดส่วนด้วยว่าจะใช้ของไทยกับของต่างประเทศในอัตราเท่าใดโดยพิจารณาที่มาตรฐานของสินค้าเป็นหลัก นอกจากนี้ ผู้ประกอบการในประเทศระบุว่ามีกำลังการผลิตที่จะส่งมอบรถทั้งหมดได้ในระยะเวลา 24 เดือนซึ่งต้องปรับเพิ่มจากเดิมที่กำหนดไว้ 18 เดือน

พล.อ.พฤณท์ยืนยันว่า การรับข้อเสนอมาพิจารณาไม่ใช่การล็อกสเปกเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการบางกลุ่ม เพราะผู้ประกอบการทุกรายจะต้องแข่งขันกันที่ราคาและคุณภาพที่ได้มาตรฐาน และจะต้องรับประกันหลังการขายด้วย และต้องจัดซื้อจัดจ้างโครงการจัดซื้อรถยนต์โดยสาร NGV ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์แบบออนไลน์ หรือ e-Auction แต่เชื่อว่าผู้ประกอบการต่างประเทศที่เข้าร่วมประกวดราคาโครงการดังกล่าวจะต้องเลือกใช้ของไทยให้ได้มากที่สุดเพื่อลดต้นทุนภาษีการนำเข้า

“ข้อเสนอทุกอย่างสามารถรับไว้และให้กรรมการร่างทีโออาร์ดูว่าจะปรับอย่างไรให้เหมาะสม เพราะคงไม่ได้ดูที่ราคาถูกแต่คุณภาพต่ำแน่นอน การแข่งขันเปิดกว้าง ส่วนจะกำหนดเงื่อนไขในทีโออาร์ว่าต้องใช้ตัวถังที่ผลิตในประเทศเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทยตามนโยบายของรัฐบาลในสัดส่วนเท่าไรจึงจะเหมาะสม กรรมการร่างทีโออาร์จะไปดูว่า อะไรที่นำเข้ามาดีและถูก อะไรที่ใช้ในประเทศดีและถูกกว่า เอาข้อมูลมาเปรียบเทียบกัน เพราะการนำเข้าจะมีภาษีด้วย” พล.อ.พฤณท์กล่าว

โดยขณะนี้ ขสมก.ยังอยู่ระหว่างการตั้งคณะกรรมการร่างทีโออาร์ซึ่งต้องใช้เวลาเพราะต้องทาบทามบุคลากรหลากหลายสาขามาร่วมเป็นกรรมการเพื่อความโปร่งใส โดยคาดว่าการตั้งกรรมการฯ จะเสร็จสิ้นภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งหากการประกวดราคาเสร็จสิ้นแล้ว ภายใน 6 เดือน หรือ 180 วัน ผู้รับงานจะต้องนำรถล็อตแรกจำนวน 250 คันมาวิ่งบริการ และทยอยเข้ามาอีก 250 คันทุกเดือนจนครบจำนวน 3,183 คัน

ด้านนางสุจินดา เชิดชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท อู่เชิดชัยอุตสาหกรรม จำกัด กล่าวว่า ตัวถังที่ผลิตในประเทศมีความแข็งแกร่งทนทานกว่าที่จะนำเข้าจากประเทศจีน เพราะของไทยมีอายุการใช้งานนาน 18-20 ปี ขณะประเทศจีนมีอายุการใช้งาน 7-8 ปีเท่านั้น และมั่นใจว่าผู้ประกอบการไทยมีความได้เปรียบด้านการแข่งขันราคาแน่นอน เพราะไม่ต้องมีภาระภาษีนำเข้าและถือเป็นการสร้างงานให้คนในประเทศด้วย

นายอรุณ ลีธนาโชค ผู้จัดการโรงงาน บริษัท ธนบุรี บัส บอดี้ จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้มีบริษัทผู้ผลิตรถจีนรายใหญ่ที่มีกำลังการผลิตปีละเป็นแสนคันได้ติดต่อผู้ผลิตรถยนต์ไทยให้ประกอบรถให้ โดยจีนจะนำเข้าแชสซีส์ และตัวถังเข้ามา ซึ่งแบบนี้เท่ากับวงเงินโครงการกว่า 13,000 ล้านบาทผู้ประกอบการไทยได้ส่วนแบ่งเพียง 1,200 ล้านบาทเท่านั้น และกังวลว่าทีโออาร์ที่ออกมาจะกลายเป็นเอื้อแก่ผู้ประกอบการจีนมากกว่าคนไทย อย่างไรก็ตาม กำลังการผลิตของอู่คนไทยอยู่ที่ประมาณ 150-200 คันต่อเดือน จึงอยากให้ปรับเงื่อนไขการส่งมอบเป็น 24 เดือนเพื่อไม่ต้องเร่ง และได้รถที่มีคุณภาพ
กำลังโหลดความคิดเห็น