ASTVผู้จัดการรายวัน - เนเชอร์เวิร์คส์ฯ เร่งทำการตลาดไบโอพลาสติกในไทย หลังร้าน Cafe Amazon นำร่องแก้วกาแฟย่อยสลายได้ ล่าสุดจีบเซเว่น อีเลฟเว่น แย้มรู้ผลตั้งโรงงานผลิต PLA ขนาดกำลังผลิต 7.5 แสนตัน/ปีได้ในปลายปีนี้
นายวิบูลย์ พึงประเสริฐ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท เนเชอร์เวิร์คส์ เอเชียแปซิฟิก จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้ความต้องการใช้พลาสติกชีวภาพ หรือไบโอพลาสติกในอาเซียนพบว่ามีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะฟิลิปปินส์ เนื่องจากรัฐบาลฟิลิปปินส์ประกาศห้ามใช้โฟมบรรจุใส่อาหาร ทำให้ผู้ผลิตหันมาใช้ไบโอพลาสติกแทน ส่วนตลาดในไทยนั้นพบว่าความต้องการใช้ยังไม่มากนัก เนื่องจากผู้ประกอบการยังคำนึงถึงต้นทุนการผลิตสินค้ามากกว่าความปลอดภัยด้านสุขอนามัย และสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าความต้องการใช้ไบโอพลาสติกในไทยจะขยายตัวสูงขึ้นหลังจากร้าน Cafe Amazon ในเครือ ปตท.หันมาใช้แก้วที่ย่อยสลายได้ ทำให้มีผู้ผลิตหลายรายให้ความสนใจ ขณะเดียวกัน บริษัทฯ อยู่ระหว่างการหารือกับ บมจ.ซีพีออลล์ ในการขายไบโอพลาสติกเพื่อนำไปผลิตบรรจุภัณฑ์อาหาร รวมถึงถุงพลาสติกในอนาคตด้วย
นายวิบูลย์กล่าวต่อไปว่า บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายยอดขายไบโอพลาสติกในไทยไว้ที่ 2 หมื่นตัน/ปี หลังจากมีการตั้งโรงงานผลิตไบโอพลาสติกในไทยในอีก 3 ปีข้างหน้า จากปีนี้ที่คาดว่ายอดขายไบโอพลาสติกอยู่ที่ 500 ตัน ซึ่งเป็นปริมาณการขายที่ค่อนข้างน้อยเพราะเพิ่งเริ่มทำการตลาดเป็นปีแรก พร้อมกับยอมรับว่าปริมาณการใช้ไบโอพลาสติกจะเติบโตได้ไม่มากหากรัฐไม่สนับสนุนส่งเสริมการใช้ของผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันหลายประเทศมีการออกกฎหมายห้ามใช้ถุงพลาสติก แต่ให้ใช้ถุงพลาสติกที่ผลิตจากไบโอพลาสติก เช่น ไต้หวัน อิตาลี เกาหลี หรือบางมณฑลของจีน เป็นต้น ส่วนญี่ปุ่นก็นำไบโอพลาสติกไปผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้ข้อตกลงพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol)
จากปัญหาเศรษฐกิจที่สหรัฐฯ และวิกฤตการเงินของยุโรป ทำให้อัตราการขยายตัวของการใช้ไบโอพลาสติกลดลง แต่พบว่าในเอเชียมีอัตราการขยายตัวของไบโอพลาสติกสูงถึงปีละ 20% ล่าสุดเอเชียมีการใช้ไบโอพลาสติกอยู่ 4 หมื่นตัน/ปี ใกล้เคียงกับสหรัฐฯ และยุโรปแล้ว
ดังนั้น ทางเนเชอร์เวิร์คส์ ซึ่งเป็นบริษัทที่มีโรงงานผลิตไบโอพลาสติกชนิด PLA ในสหรัฐฯ ขนาดกำลังผลิต 1.5 แสนตัน/ปี จึงมีแผนที่จะขยายการลงทุนตั้งโรงงานผลิต PLA แห่งที่ 2 ในภูมิภาคนี้ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปีหน้า แล้วเสร็จใน 2-3 ปีถัดไป ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะตั้งโรงงานดังกล่าวในไทยหรือไม่ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในปลายปีนี้
โดยไทยมีความได้เปรียบในด้านวัตถุดิบ คือ น้ำตาล และมันสำปะหลัง และล่าสุดคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการส่งเสริมอุตสาหกรรมไบโอพลาสติก โดยจะสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ โดยกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการทำรายละเอียดการช่วยเหลือด้านการเงินอยู่ เชื่อว่าหากรัฐบาลประกาศส่งเสริมอย่างเป็นทางการเชื่อว่าทางเนเชอร์เวิร์คส์ที่สหรัฐฯ จะเลือกไทยเป็นฐานการผลิต
ทั้งนี้ โรงงานผลิต PLA แห่งที่ 2 จะมีกำลังการผลิตเฟสแรก 7.5 หมื่นตัน/ปี ใช้เงินลงทุน 1.2 หมื่นล้านบาท และจะขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวในอีก 3 ปีข้างหน้ารองรับความต้องการใช้ไบโอพลาสติกในเอเชีย โดยบริษัทดังกล่าวจะเน้นส่งออกไปขายในภูมิภาคนี้ ขณะที่โรงงานในสหรัฐฯ จะเน้นขายในประเทศ และอเมริกาใต้ รวมทั้งยุโรป
ปัจจุบันบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ได้เข้าไปซื้อหุ้นในเนเชอร์เวิร์คส์ที่สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 50% โดย ปตท.คาดหวังที่จะให้โรงงานผลิต PLA แห่งใหม่ตั้งอยู่ในไทย หลังจากมาเลเซียเสนอเงื่อนไขจูงใจการลงทุนโครงการดังกล่าว