xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.ฟุ้งเนเชอร์เวิร์คเลือกไทย เป็นฐานผลิตโรง PLA แห่งที่ 2

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน - ปตท.มั่นใจเนเชอร์เวิร์คจากสหรัฐฯ เลือกไทยเป็นฐานการผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด PLA กำลังการผลิต 1.5 แสนตัน/ปี คาดบอร์ดฯ เนเชอร์เวิร์คอนุมัติ ส.ค.นี้ และก่อสร้างได้ในปี 2557 ชี้ไทยได้เปรียบด้านวัตถุดิบที่แข็งแกร่ง

นายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ได้เจรจากับผู้บริหารบริษัท เนเชอร์เวิร์ค ที่สหรัฐฯ เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อดึงการลงทุนโครงการผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด PLA แห่งที่ 2 มาตั้งในประเทศไทย หลังจากรัฐบาลไทยได้สนับสนุนอุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นวาระแห่งชาติ รวมทั้งสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับอุตสาหกรรมไบโอพลาสติกและไทยมีความได้เปรียบทั้งด้านวัตถุดิบและตลาดภายในประเทศ เชื่อมั่นว่าทางเนเชอร์เวิร์คจะเลือกไทยเป็นฐานการผลิตหากมีการตั้งโรงงานแห่งที่ 2

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัท เนเชอร์เวิร์ค จะพิจารณาตัดสินใจลงทุนโรงงานผลิต PLA แห่งที่ 2 ภายในเดือนสิงหาคมนี้ โดยจะตั้งโรงงานในนิคมฯ เอเชียของ ปตท.ที่มีพื้นที่รวม 1.5 พันไร่ โดยเบื้องต้นจะลงทุนเฟสแรก 7.5 หมื่นตัน ใช้เงินลงทุน 1.2 หมื่นล้านบาท และขยายเฟส 2 เพิ่มอีกเท่าตัว รวมใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 2.4 หมื่นล้านบาท

โดยยอมรับว่าขณะนี้โรงงานผลิต PLA แห่งแรกที่สหรัฐฯ เดินเครื่องจักรเพียง 60% ของกำลังการผลิต 1.4 แสนตัน/ปีเท่านั้น ทำให้มีการเสนอว่าควรจะตั้งโรงงานแห่งที่ 2 ในสหรัฐฯ เพราะมีพื้นที่เหลืออยู่ใกล้เคียงโรงงานเดิม แต่เนื่องจากกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อมทำให้ความต้องการใช้ไบโอพลาสติกเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะตลาดภูมิภาคเอเชีย

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลมาเลเซียได้พยายามจะดึงโครงการผลิต PLA แห่งที่ 2 ไปตั้งในประเทศมาเลเซีย โดยอุดหนุนราคาน้ำตาล 3.5 เซ็นต์/ปอนด์เป็นเวลา 3 ปี จัดหาพื้นที่ตั้งโรงงานเพื่อลดต้นทุน และราคาพลังงานในราคาต่ำ ซึ่งไทยมีข้อได้เปรียบด้านตลาดภายในประเทศ และมีวัตถุดิบเพียงพอทั้งน้ำตาลและมันสำปะหลัง โดย ปตท.ไม่ต้องการให้โครงการดังกล่าวหลุดมือเนื่องจากบริษัทลูก คือบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) ได้เข้าไปซื้อหุ้นในเนเชอร์เวิร์ค คิดเป็นสัดส่วน 50%

นายณัฐชาติกล่าวว่า บริษัทฯ ยังได้ศึกษาโครงการผลิตไบโอ ไฮโดรเจน ดีเซล (BHD) เพื่อแก้ปัญหาการล้นตลาดของน้ำมันปาล์ม โดยได้ศึกษาขนาดกำลังการผลิตที่ 5 แสนตัน/ปี เพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยศึกษาที่ 2-3 แสนตัน/ปี โดยใช้ CPO เป็นวัตถุดิบ เบื้องต้นพบว่าต้นทุนราคา BHD จะสูงกว่าราคาน้ำมันดีเซลอยู่ 20-30 สตางค์/ลิตร ดังนั้นหากชูจุดขายน้ำมัน BHD เป็นเกรดพรีเมียมทำให้ขายในราคาสูงขึ้นได้

โครงการนี้จะช่วยแก้ปัญหาการล้นตลาดของน้ำมันปาล์มนับเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรไทย โดยเบื้องต้นค่ายรถยนต์ยอมรับการเติม BHD ในน้ำมันดีเซลได้ถึง 20% โดยไม่ต้องปรับเครื่องยนต์ และมีค่าซีเทนที่สูงด้วย ผิดกับไบโอดีเซลบี 100 ที่ค่ายรถยนต์ยอมรับให้ผสมได้เพียง 5% เท่านั้น คาดว่าโครงการนี้จะได้ข้อสรุปในปีนี้ และใช้เวลาก่อสร้างนาน 3-4 ปี โดยจะตั้งโรงงานอยู่ในนิคมฯ เอเชีย จ.ระยอง

ทั้งนี้ ปตท.ต้องการผลักดันให้นิคมฯ เอเชีย จ.ระยอง เป็นโครงการนำร่องในการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศระดับมาตรฐานสากล ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกรีนโรดแมปของ ปตท.ที่จะรองรับการขยายตัวธุรกิจ ปตท. โดยกลางปีหน้าจะมีโครงการแรก คือ โครงการผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด PBS ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง ปตท.กับมิตซูบิชิ เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น จากประเทศญี่ปุ่น
กำลังโหลดความคิดเห็น