xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.ชี้ความสำคัญทำคาร์บอนฟุตพรินต์ภาคอุตสาหกรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ส.อ.ท.จับมือองค์กรชั้นนำร่วมส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพรินต์องค์กรในภาคอุตสาหกรรม พร้อมเปิดตัว 25 องค์กรนำร่องมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาธุรกิจ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า สถาบันสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) และสัมมนาเชิงปฏิบัติการโครงการ “ส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กรในภาคอุตสาหกรรม” เพื่อกำกับดูแลการดำเนินงานตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด ภายใต้พิธีสารเกียวโต และส่งเสริมธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศผ่านการพัฒนาแนวทางหรือหลักเกณฑ์การประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์และองค์กร แต่ทั้งนี้กิจกรรมการจัดทำคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กรในประเทศไทยยังมีน้อย ซึ่งมีเพียงองค์กรขนาดใหญ่ไม่กี่องค์กรที่ได้เริ่มดำเนินการ เนื่องจากส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ ไม่ทราบเทคนิคและวิธีการคำนวณ ดังนั้น อบก.จึงได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กรเมื่อปี 2553-2554 (เฟส 1) โดยมีองค์กรนำร่อง 12 องค์กร และโครงการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปี 2554-2555 (เฟส 1) ซึ่งมีเทศบาลเข้าร่วมโครงการจำนวน 27 แห่ง

สำหรับโครงการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กรในภาคอุตสาหกรรม ปี 2555-2556 นี้ได้รับความร่วมมือจากสถาบันสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมฯ ทำหน้าที่ดำเนินโครงการ โดยมีโรงงานอุตสาหกรรมเข้าร่วมเป็นองค์กรนำร่อง 25 แห่ง เพื่อส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ทั้งการผลิตและการบริการขององค์กร อันจะเป็นการช่วยเสริมสร้างศักยภาพแก่ผู้ประกอบการและธุรกิจของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

ดร.พงษ์วิภากล่าวว่า การเข้าร่วมโครงการองค์กรในภาคอุตสาหกรรมสามารถจัดทำคาร์บอนฟุตพรินต์และมีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีความพร้อมที่จะเข้าสู่ระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading Scheme) หากมีการพัฒนาขึ้นในอนาคต ทั้งยังก่อให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการจัดทำคาร์บอนฟุตพรินต์แก่ภาคีหลักที่เกี่ยวข้องให้สามารถนำไปใช้ขยายผลได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ภาคอุตสาหกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันจะส่งผลให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยจากภาคอุตสาหกรรมลดน้อยลง

“สำหรับคาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์ประเทศไทยมีการตื่นตัวในเรื่องนี้มาก กล่าวคือ ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุมัติให้ใช้เครื่องหมายคาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์แล้วจำนวน 726 ผลิตภัณฑ์ จาก 177 บริษัท (ข้อมูล ณ วันที่ 12 ตุลาคม 2555) ซึ่งถือได้ว่าเป็นอันดับหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทั้ง 25 องค์กรที่เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้จะเป็นต้นแบบเพื่อรองรับและขยายผลไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ ต่อไป” ดร.พงษ์วิภากล่าว

ด้าน รศ.ดร.ธำรงรัตน์ มุ่งเจริญ ผู้อำนวยการโปรแกรมสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และประธานคลัสเตอร์พลังงานและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า โครงการ “ส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กรในภาคอุตสาหกรรม” เป็นกิจกรรมที่สำคัญกิจกรรมหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม โดยประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมทั้งหมดขององค์กร คำนวณออกมาในรูปคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในเชิงปริมาณเป็นกิโลกรัมหรือตัน และนำข้อมูลที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาองค์กรให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายเชวง จาว รองประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สภาอุตสาหกรรมฯ มีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง และให้ความสำคัญในการดำเนินโครงการเกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดมา เช่น โครงการพัฒนาฐานข้อมูลสิ่งแวดล้อมของวัสดุพื้นฐานและพลังงานของประเทศ โครงการการจัดทำคู่มือข้อมูลวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ (LCI-LCA) และโครงการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์ ซึ่งได้ขยายผลไปสู่กลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง

“สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในครั้งนี้ จะเป็นการเปิดตัว 25 องค์กรนำร่องที่ได้รับคัดเลือกจาก 47 บริษัทที่สนใจสมัครเข้าร่วมประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร ซึ่งจะเป็นสื่อกลางให้ทุกภาคส่วนเห็นถึงความสำคัญของการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากองค์กรนั้นๆ นอกจากจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพให้ผู้ประกอบการและธุรกิจของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกได้แล้ว ยังแสดงถึงความมุ่งมั่นของบริษัทในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของตนให้สามารถบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนได้ และมีการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยสนับสนุน และเป็นต้นแบบสำหรับองค์กรและหน่วยงานอื่นๆ ในการจัดทำคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลในการปรับปรุงการดำเนินงานขององค์กรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนต่อไป” นายเชวงกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น