เอเอฟพี - ออสเตรเลียซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศผู้ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ พร้อมที่จะลงนามรับรองต่ออายุพิธีสารเกียวโต (Kyoto Ptotocol) ซึ่งเป็นอนุสัญญาสากลเพื่อต่อสู้ภาวะโลกร้อน รัฐมนตรีออสเตรเลียประกาศ วันนี้(9)
เกร็ก คอมเบ็ต รัฐมนตรีกระทรวงสภาพอากาศออสเตรเลีย ระบุในแถลงการณ์ว่า “วันนี้ผมขอประกาศว่าออสเตรเลียพร้อมที่จะร่วมลงนามพิธีสารเกียวโตวาระที่สอง”
ออสเตรเลียมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหัวสูงที่สุดประเทศหนึ่ง เนื่องจากพึ่งพาการทำเหมืองและส่งออกถ่านหินเป็นหลัก นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าส่วนใหญ่ในประเทศก็ใช้พลังงานจากถ่านหินเกือบทั้งสิ้น
ถ้อยแถลงจาก คอมเบ็ต มีขึ้นก่อนที่การประชุมประจำปีของภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) จะเริ่มขึ้น ซึ่งในปีนี้จะจัดที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ระหว่างวันที่ 26 พฤศจิกายน- 7 ธันวาคม
วาระสำคัญของการประชุมคือการต่ออายุพิธีสารเกียวโต ซึ่งจะหมดอายุลงในวันที่ 31 ธันวาคมนี้ เพื่อให้การเดินหน้าไปสู่ข้อตกลงสากลฉบับใหม่ที่จะมีผลบังคับในปี 2020 เป็นไปอย่างราบรื่น
คอมเบ็ต ชี้ว่า การขยายอายุพิธีสารเกียวโตจะเป็นเครื่องรับประกันได้ว่า ธุรกิจในออสเตรเลียจะสามารถเข้าถึงคาร์บอนเครดิตในโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism) ซึ่งจะช่วยให้ออสเตรเลียลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจให้น้อยที่สุด
รัฐมนตรีเมืองจิงโจ้ระบุว่า นี่คือสิ่งที่ออสเตรเลียควรทำ “เพราะประเทศทั่วโลกต่างก็หันมาต่อสู้ปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง”
“อีกประการหนึ่ง ทุกประเทศกำลังเตรียมร่างข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ ซึ่งจะสรุปชัดเจนในปี 2015 และมีผลบังคับใช้ภายในปี 2020”
ในขณะที่พิธีสารโตเกียวเป็นเหมือนสิ่งนำโชคสำหรับประเทศกำลังพัฒนา ประเทศที่พัฒนาแล้วจำนวนไม่น้อยกลับเห็นว่าอนุสัญญาสากลฉบับนี้ยังไม่ยุติธรรม เนื่องจากประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างจีน, อินเดีย และบราซิล ไม่ได้ร่วมลงนามด้วย