รอยเตอร์/เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - รายงานว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่จัดทำโดยธนาคารโลกฉบับล่าสุดเผย ทุกประเทศในโลกไม่ว่าประเทศร่ำรวยหรือยากจน จะต้องทนทุกข์จากผลกระทบของภาวะโลกร้อนทั้งสิ้น แต่ประเทศที่มีฐานะยากจนข้นแค้นที่สุดจะได้รับผลกระทบที่หนักหนาสาหัสยิ่งกว่า ทั้งการประสบภาวะขาดแคลนอาหาร การเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเล พายุไซโคลน และภัยแล้ง
ภายใต้การบริหารงานของ ดร. จิม ยอง คิม ประธานธนาคารโลกคนใหม่ชาวอเมริกัน เชื้อสายเกาหลีใต้ วัย 52 ปี องค์กรผู้ปล่อยเงินกู้รายใหญ่แห่งนี้ได้เปิดเผยรายงานฉบับใหม่ที่ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก มีความเชื่อมโยงอย่างแยกไม่ออก กับประเด็นด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ
“เราจะไม่สามารถขจัดความยากจนให้หมดสิ้นไปได้เลย หากเรายังไม่แก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ สิ่งนี้ถือเป็นความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดของเราในขณะนี้” ดร.คิม ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมากล่าว พร้อมเผยว่า รายงานฉบับล่าสุดของเวิลด์ แบงก์ที่ใช้ชื่อว่า "Turn Down the Heat" นั้นจะเน้นย้ำให้เห็นถึงผลกระทบอันใหญ่หลวงของการที่อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้นเพียง 4 องศาเซลเซียส ภายในช่วงสิ้นศตวรรษ
รายงานของธนาคารโลกระบุว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้สร้างผลกระทบต่างๆแล้วในหลายพื้นที่ทั่วโลก ทั้งการละลายของน้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติกที่ลดจำนวนเหลือน้อยที่สุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา รวมถึงการเกิดปรากฏการณ์คลื่นความร้อน และภัยแล้ง โดยสภาพอากาศที่เลวร้ายแบบสุดขั้วนี้จะเกิดบ่อยและถี่ขึ้นจนอาจกลายเป็นเรื่องปกติถ้าอุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้นอีก 4 องศาเซลเซียส พร้อมเตือนถึงแม้ประเทศต่างๆยึดมั่นต่อพันธะสัญญาในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง อุณหภูมิของโลกก็จะยังคงเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 3 องศาเซลเซียสอยู่ดีภายในปี ค.ศ.2100
เมื่อโลกร้อนขึ้น ปัญหาที่ตามมาจากการละลายของน้ำแข็งคือระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงโดยอาจเพิ่มสูงมากกว่า 3 ฟุต และเมืองต่างๆของประเทศอย่างเวียดนามและบังกลาเทศจะถูกน้ำท่วม จะเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำครั้งใหญ่เพื่อการอุปโภคบริโภค รวมถึง ผลผลิตทางการเกษตรที่ลดต่ำย่อมจะทำให้เกิดปัญหาความอดอยากและความยากจนตามมา
ดร.คิมซึ่งได้ชื่อว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรก ที่ได้ก้าวเข้ามาเป็นผู้บริหารสูงสุดของธนาคารโลก ได้เรียกร้องให้นานาประเทศเอาจริงเอาจังกับการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศให้มากขึ้น โดยระบุ ขณะนี้กว่า 97 เปอร์เซ็นต์ของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต่างเห็นพ้องกันแล้วว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นจริง และมีผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งในประเทศร่ำรวยที่พัฒนาแล้ว หรือประเทศยากจน
เมื่อปีที่แล้ว ธนาคารโลกได้เพิ่มการให้เงินสนับสนุนอีกเท่าตัว สำหรับให้ประเทศต่างๆกู้ยืมไปใช้รับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และในขณะนี้ ธนาคารโลกกำลังดำเนินงานกองทุนที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศมูลค่า 7.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 221,290 ล้านบาท) ใน 48 ประเทศ
ทั้งนี้ รายงานฉบับล่าสุดของธนาคารโลกถูกเผยแพร่ออกมาก่อนที่ผู้แทนจากเกือบ 200 ประเทศจะเดินทางไปประชุมกันที่กรุงโดฮาของกาตาร์ระหว่างวันที่ 26 พฤศจิกายน-7 ธันวาคมนี้ เพื่อหาทางขยายพิธีสารเกียวโตที่มีการลงนามตั้งแต่ปี 1997 ออกไป แม้จนถึงขณะนี้จะยังไม่อาจหาข้อสรุปได้ว่า ประเทศร่ำรวยหรือประเทศกำลังพัฒนา ที่ควรแสดงบทบาทรับผิดชอบต่อการแก้ปัญหาโลกร้อนมากกว่ากัน