รอยเตอร์/เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - เรือตัดน้ำแข็งเสวี่ยหลงของจีนเข้าเทียบท่าในประเทศไอซ์แลนด์ ถือเป็นลำแรกที่แล่นข้ามผ่านมหาสมุทรอาร์กติก ชี้ให้เห็นว่ามหาอำนาจจีนสนใจเปิดเส้นทางเดินเรือใหม่ และร่วมมือกับยุโรปด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์
สื่อจีนรายงานว่าเรือตัดน้ำแข็ง “เสวี่ยหลง” ได้แล่นเลียบชายฝั่งรัสเซีย จนมาจอดเทียบท่าในเมืองเรคจาวิค เมืองหลวงของประเทศไอซ์แลนด์ ซึ่งชาวเน็ตได้ขนานนามให้เป็น “ประตูสู่ขั้วโลกเหนือ” เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่ผ่านมา
ตามรายงานข่าวระบุว่า เนื่องจากขณะนี้จีนให้ความสนใจกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในขั้วโลก โดยเฉพาะอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น และต้องการร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ในขั้วโลกเหนือ ทางศูนย์วิจัยขั้วโลกจีนจึงได้ลงนามความร่วมมือกับไอซ์แลนด์ โดยจะสร้างหอสังเกตการณ์แสงขั้วโลกทางเหนือของไอซ์แลนด์ และศูนย์วิจัยจีน-ยุโรปเหนือเกี่ยวกับขั้วโลกเหนือในเซี่ยงไฮ้ด้วยอีกแห่ง
นายนีลสัน นักวิทยาศาสตร์ชาวไอซ์แลนด์ ชี้ว่า การที่จีนใช้เส้นทางเดินเรือผ่านมหาสมุทรแปซิฟิก แล้วเข้ามาในมหาสมุทรแอตแลนติกมายังขั้วโลกเหนือเป็นครั้งแรกนี้ ทำให้สามารถลดระยะการเดินเรือจากจีนมายังฝั่งยุโรปได้ถึง 4 เท่า และยังลดต้นทุนในการขนส่งอีกด้วย
สื่อจากสวิสฯ รายงานว่า (18 ส.ค.) การเดินเรือของจีนครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าจีนต้องการเปิดเส้นทางเดินเรือใหม่เพื่ออำนวยการค้าในแถบขั้วโลกเหนือ และจีนยังพยายามลงสมัครเป็นประเทศผู้ตรวจสอบอย่างเป็นทางการในสภาขั้วโลกเหนือ (Arctic Council) อีกด้วย
“นอกจากความร่วมมือด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการค้าแล้ว ยังมีเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ด้วย ซึ่งบริเวณแถบมหาสมุทรอาร์กติกนี้ อุดมไปด้วยก๊าซธรรมชาติ 30 เปอร์เซ็นต์ และน้ำมันปิโตรเลียมอีก 10 เปอร์เซ็นต์”
จีนเร่งต่อเรือตัดน้ำแข็งเพิ่ม หวังตะลุยขั้วโลกใต้
ด้านหนึ่งเรือเสวี่ยหลงกำลังแล่นไปขั้วโลกเหนือ ขณะที่อีกด้านจีนก็จับโครงการใหญ่ จ้างบริษัทของฟินแลนด์ เร่งต่อเรือตัดน้ำแข็งอีกลำ เตรียมตะลุยวิจัยขั้วโลกใต้ภายในอีก 3 ปีข้างหน้า
ทบวงกิจการทางมหาสมุทรของจีน (State Oceanic Administration - SOA) ได้เซ็นต์สัญญากับบริษัท เอเคอร์ อาร์กติก (Aker Arctic) ซึ่งมีที่ตั้งในกรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์เมื่อวันอังคาร ( 31 ก.ค.) เพื่อว่าจ้างให้ต่อเรือตัดน้ำแข็ง โดยกำหนดจัดทำพิมพ์เขียวให้เสร็จใน 7 เดือน และลงมือต่อเรือแล้วเสร็จภายในปี 2557
ทางบริษัทคิดค่าออกแบบในเบื้องต้นสำหรับเรือตัดน้ำแข็งลำนี้เป็นเงินจำนวนกว่า 5 ล้านยูโร หรือราว 190 ล้านบาท ส่วนรายละเอียด เช่น การวางท่อน้ำ สายไฟฟ้าและเคเบิลการสื่อสาร นักออกแบบของจีนกำลังดำเนินการอยู่
แม้บริษัทต่อเรือของจีนบางรายมองว่า บริษัทของฟินแลนด์คิดราคาสูงมาก แต่รัฐบาลจีนระบุว่า เป็นเรื่องที่ยุติธรรมแล้ว เพราะรัฐบาลต้องการให้งานเสร็จเร็ว ๆ
ด้านเจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งของสำนักงานสำรวจขั้วโลกของ SOA เปิดเผยว่า ปัจจุบัน จีนมีเรือสำรวจขั้วโลกเพียงลำเดียวคือเรือเสวี่ยหลง เป็นเรือตัดน้ำแข็งและบรรทุกสินค้าซึ่งยูเครนเป็นผู้ต่อ อย่างไรก็ตาม จีนจำเป็นต้องมีเรือตัดน้ำแข็งลำใหม่ เพื่อแข่งขันกับชาติพัฒนา เช่น สหรัฐฯ ในบริเวณขั้วโลกใต้
“เมื่อต่อเรือเสร็จ เรือลำใหม่จะเดินทางไปขั้วโลกใต้พร้อมกับเสวี่ยหลง ด้วยเรือทั้งสองลำนี้จะทำให้เรามีบทบาทในขั้วโลกใต้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เราจะสามารถขนบุคลากร อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือไปยังสถานีวิจัยถาวรของเราได้มากขึ้น” เขาระบุ
เรือตัดน้ำแข็งลำใหม่นี้มีความยาว 120 เมตร ความกว้างสูงสุด 22 เมตร และกินน้ำลึก 8.5 เมตร โดยเรือยังสามารถบรรทุกลูกเรือได้ 90 คน และสามารถตัดน้ำแข็งทะลุถึงระดับ 1.5 เมตร ขณะแล่นด้วยความเร็ว 2-3 ไมล์ทะเล
นอกจากนั้น ภายในตัวเรือยังประกอบด้วยห้องทดลอง ซึ่งมีพื้นที่กว้างเกือบ 600 ตารางเมตร และมีลานกลางแจ้งขนาดใหญ่สำหรับการทดลอง การสังเกตและการเก็บตัวอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความแตกต่างที่สำคัญที่สุดจากเรือเสวี่ยหลงก็คือเรือลำใหม่จะสามารถตัดน้ำแข็งได้ทั้งในขณะแล่นไปข้างหน้า หรือถอยหลัง
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีผู้เสนอให้รัฐบาลจีนต่อเรือตัดน้ำแข็งพลังนิวเคลียร์ แต่ถูกปฏิเสธ เพราะจีนไม่ต้องการทำลายน้ำใจและท้าทายรัสเซีย ซึ่งผงาดอยู่ในบริเวณขั้วโลกเหนือ โดยเรือตัดน้ำแข็งพลังนิวเคลียร์ เป็นเรือ ที่จำเป็นสำหรับการเดินทางไปยังขั้วโลกเหนือในช่วงฤดูหนาว ซึ่งน้ำแข็งจะเพิ่มความหนากว่า 5 เมตร และจำเป็นต้องใช้พลังมหาศาลในการเจาะทะลุทะลวง
จีนจะไม่มีวันต่อเรือแบบนี้ หรือดำเนินโครงการเดินทางเช่นนี้อย่างเด็ดขาด เพราะ “ ขั้วโลกเหนือเป็นถิ่นของรัสเซีย” เจ้าหน้าที่ผู้นี้กล่าว