xs
xsm
sm
md
lg

พิสูจน์ “อาคารเขียวไทย” ของจริง-ประหยัดพลังงาน 30 %

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เตรียมประกาศผลรางวัล “อาคารเขียวไทย” มาตรฐานสากล
เผย 7 โครงการนำร่อง ให้ประเมินด้วยเกณฑ์ TRESS
เจาะลึก TREES เกณฑ์ประเมินอาคารเขียวไทย

จากนี้ไป Green Building หรือ “อาคารเขียว” ในประเทศไทยจะไม่ใช่แฟชั่นตามกระแสโลก เมื่อสถาบันอาคารเขียวไทย ประกาศเจตนารมณ์ ไว้ตั้งแต่ปี 2552 ถึงการทำหน้าที่หลัก ส่งเสริมการวิจัย การพัฒนามาตรฐานวิชาการ และมาตรฐานทางวิชาชีพทางสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม เพื่อใช้ในการออกแบบและการจัดการตัวอาคารให้ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถช่วยประหยัดพลังงานได้ 30 % กำลังปรากฎผลเป็นรูปธรรม “อาคารเขียวของจริง”
ในขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินผลอาคารใหม่ เพื่อเตรียมมอบรางวัล “อาคารเขียวไทย” ที่ผ่าน “เกณฑ์การประเมินความยั่งยืนทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมไทย” (Thai's Rating of Energy and Environmental Sustainability: TREES ) เป็นครั้งแรกปลายปีนี้ หรือ ช่วงต้นปีหน้า ความคืบหน้าล่าสุดมี 7 โครงการที่ลงทะเบียนเข้ารับการประเมิน
ในปีเดียวกับที่ก่อตั้งสถาบันอาคารเขียวไทย เคยทำประชาพิจารณ์ “เกณฑ์การประเมินความยั่งยืนทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมไทย” (TREES ) สำหรับใช้ในการประเมินอาคารใหม่และการปรับปรุงอาคารเดิม เพื่อให้เหมาะสมกับภูมิประเทศและไม่ขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ของการประหยัดพลังงาน และรักษาสิ่งแวดล้อม มีหน่วยงานเข้าร่วมสนับสนุน ได้แก่ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กรมพัฒนาพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน กรมควบคุมมลพิษ กรมโยธาธิการ และผังเมือง สมาคมวิศวกรรมปรับอากาศ

ประยุกต์จากต้นแบบ LEED
ก่อนประกาศใช้ TRESS ทางสถาบันอาคารเขียวไทย ส่งผู้เชี่ยวชาญซึ่งมีทั้งวิศวกร สถาปนิกไปเรียนรู้จากลีด (Leadership in Energy and Environmental Design: LEED) หรือ หลักเกณฑ์อาคารเขียวของสภาอาคารเขียวสหรัฐอเมริกา โดยสรุปแล้วเรานำพื้นฐานของเขามาใช้ประมาณ 30% ส่วนอีก 70% เราประยุกต์ใช้ให้เหมาะตามภูมิประเทศ และวัตถุดิบในประเทศไทย
นินนาท ไชยธีรภิญโญ
นินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานสถาบันอาคารเขียวไทย บอกว่า ถ้าไปเอาของเขามาใช้ทั้งหมด ก็เสียค่าใช้จ่ายนำเข้าวัสดุ ค่าขนส่ง และสิ้นเปลืองพลังงานซึ่งไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ประหยัดพลังงาน รักษาสิ่งแวดล้อม ส่วนบทบาทของสถาบันฯ ก็คอยทำหน้าที่ส่งเสริม ให้คำแนะนำในการก่อสร้าง และประเมินดูว่าอาคารนั้นเขียวจริงหรือไม่ โดยการเมินก็จะนำไปสู่การมอบรางวัลต่อไป
“การสร้างอาคารเขียวไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีขั้นสูง หรือราคาแพงมากนักก็ได้ เพียงแต่มีการออกแบบและบริหารจัดการที่ดี แม้ว่าทำให้ต้นทุนการก่อสร้างสูงขึ้นบ้างในช่วงแรก แต่จะคืนทุนได้ในระยะเวลา 3-5 ปี ในขณะเดียวกันสามารถช่วยลดผลกระทบและเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมได้ในระยะยาว”
ข้อสำคัญเป็นการสร้างสำนึกในการทำธุรกิจที่ดี เพราะในอนาคตผู้คนจะคำนึงเรื่องสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ซึ่งรางวัลจากสถาบันอาคารเขียวไทยสามารถใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารกับผู้ชื้อหรือผู้ใช้บริการได้ เช่น โรงแรม คอนโดมิเนียม และอาคารสำนักงาน
สำหรับหลักเกณฑ์ประเมินอาคารเขียว TRESSเหมาะกับประเทศไทย เพราะช่วยส่งเสริมให้มีการออกแบบอาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ สภาพเศรษฐกิจของไทย และเน้นให้ใช้วัสดุภายในประเทศเป็นหลัก ซึ่งต่อไปจะทำให้คนทั่วไปรับรู้และเข้าใจว่าอาคารแห่งใดเขียวจริง และ เขียวอยู่ในเกรดที่เข้มข้นเท่าใด
อย่างไรก็ตาม ทางสถาบันอาคารเขียวไทย ได้เตรียมความพร้อมสำหรับการประเมินอาคารเขียวไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงวันที่ 19-20 ก.ค.2555) ทางสถาบันฯ ได้จัดโครงการอบรมหลักสูตร “ผู้เชี่ยวชาญด้านอาคารเขียว” รุ่นแรก เป็นการอบรมและสอบคู่มือ TRESS-NC สำหรับ สถาปนิก และวิศวกร เพื่อเป็นผู้จัดทำรายงานตามเกณฑ์ TRESS และ จะจัดอีกครั้งเป็นรุ่นที่ 2 ในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อเตรียมบุคลากรรองรับการขยายตัวของแนวทาง “อาคารเขียว”
นอกจากนี้มีการจัดกิจกรรมสัมมนาให้ความรู้กับเจ้าของอาคาร สถาปนิก วิศวกร ผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ เรื่อง “อาคารเขียวสำหรับประเทศไทย และเกณฑ์ TRESS” เมื่อวันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งจะจัดอีกครั้งในวันที่ 21 ก.ย.2555 ในงาน BMAM EXPO ASIA 2012

มาตรฐานที่เข้ากับธรรมชาติ
ประธานสถาบันอาคารเขียวไทย กล่าวว่า วิกฤตโลกร้อนที่ก่อผลกระทบสิ่งแวดล้อมและพลังงาน รวมถึงภาวะอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลง อย่างขั้วโลกเหนือ หิมะละลายเร็วขึ้น ถ้าคนเราไม่รีบทำอะไรก็อาจจะสายจนส่งผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่
นานาประเทศต่างตระหนัก และเห็นว่าอาคารเขียวที่ช่วยประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืนจะเป็นอีกส่วนสำคัญที่สามารถชะลอโลกร้อน แต่ละประเทศจึงเกิดหน่วยงานเฉพาะเข้ามาประเมินอาคาร เช่น ลีด (Leadership in Energy and Environmental Design: LEED) หลักเกณฑ์อาคารเขียวของสภาอาคารเขียวสหรัฐฯ หรือ เกณฑ์ที่เข้มข้นอย่าง BREEAM ของสหราชอาณาจักร DGNB ของเยอรมนี HQE ของฝรั่งเศส GBC Italia ของอิตาลี ส่วนในเอเชีย เช่น CASBEE ของญี่ปุ่น KGBC ของเกาหลี เป็นต้น
การปลูกสร้างอาคารเขียวนั้นไม่แตกต่างกับการปลูกต้นไม้ที่ต้องสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ภูมิอากาศ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม นั่นทำให้คนและหน่วยงานในแต่ละประเทศกำหนดมาตรฐานของตนเองขึ้นมา และดูจะเป็นข้อเท็จจริงในเรื่อง “มาตรฐานอาคารเขียว” ที่มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของแต่ละประเทศอย่างแท้จริง อย่างเช่น ในอเมริกา ใช้ไม้เลื้อยเกาะกำแพงลดพลังงานความร้อนของตัวอาคาร ในบ้านเราก็สามารถใช้ตีนตุ๊กแก หรือ วัสดุที่รีไซเคิลมาแทนได้
อย่างไรก็ตาม พบว่าอาคารหลายแห่งในประเทศไทยยึดตามมาตรฐานต่างประเทศ อย่าง LEED มาใช้สร้างอาคารเขียวของตนเอง เป็นการเพิ่ม Performance แก่อาคาร และสร้าง Brand ให้กับบริษัทเจ้าของอาคาร แต่การใช้มาตรฐานที่เป็นหลักเกณฑ์ของต่างประเทศ กลับมีข้อด้อย เรื่องผู้เชี่ยวชาญในการประเมินว่าจะได้ตามมาตรฐานหรือไม่ วัสดุก่อสร้างตามสเปคจะต้องนำเข้าหรือไม่ และจะมีความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและสังคมของประเทศไทยเพียงใด
“ทางสถาบันฯ ต้องการพัฒนาและเผยแพร่อาคารเขียวในประเทศไทยให้คนไทยได้รู้จักและเห็นประโยชน์ของอาคารเขียวมากยิ่งขึ้น รวมทั้งสร้างความจูงใจให้กับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของอาคารเขียว และเข้ามาเป็นส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อมในที่สุด สถาบันอาคารเขียวเป็นองค์กรอิสระ คอยให้คำปรึกษาในการออกแบบก่อสร้างอาคารเขียวที่จะประหยัดพลังงานได้มากกว่าอาคารทั่วไป 20-40% พร้อมทั้งทำหน้าที่ในการประเมินอาคารเขียวในประเทศไทย ประเมินและให้รางวัลแก่อาคารซึ่งจะเป็นตัวอย่างของอาคารเขียวที่ดี” นินนาท ย้ำในบทบาทของสถาบันอาคารเขียวไทย
โชว์รูมและศูนย์บริการโตโยต้าไทยเย็น สาขาปากช่อง เป้น Eco Dealership Outlet สาขาแรก
7 โครงการแรกเข้าประเมิน TRESS
Green Building แม้ดูว่าเป็นเรื่องโดยตรงของเจ้าของอาคาร หรือ ผู้ว่าจ้าง แต่ผู้เกี่ยวข้อง ทั้งผู้รับเหมาก่อสร้าง สถาปนิก และวิศวกร ล้วนแล้วแต่มีบทบาทสำคัญในการทำแบบแปลนอาคารเขียวให้สำเร็จเป็นรูปธรรม ทำให้ผู้ใช้อาคารสัมผัสจริงว่าช่วยการประหยัดพลังงาน และ ให้ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าอาคารทั่วไปได้อย่างไร ดั่งเจตนารมณ์ของการสร้างอาคารเขียวในประเทศไทย โดยสถาบันอาคารเขียวไทย
อาคาร 3 สำนักงานใหญ่ ที่แจ้งวัฒนะ ใกล้จะผ่านเกณฑ์ LEED อีกด้วย
สำหรับ 7 โครงการใหม่ที่ลงทะเบียนโครงการเพื่อรับการตรวจประเมินตามเกณฑ์การประเมินความยั่งยืนทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมไทย (Thai's Rating of Energy and Environmental Sustainability: TREES ) โดยสถาบันอาคารเขียวไทย ได้แก่
อาคารโชว์รูม สำนักงานและศูนย์บริการมาตรฐาน โตโยต้าไทยเย็น (สาขาปากช่อง) / บริษัท โตโยต้า ไทยเย็น จำกัด / สำนักงาน (โชว์รูม ศูนย์บริการรถยนต์) มีพื้นที่ใช้สอย 5,835 ตารางเมตร
โครงการปาร์ค เวนเชอร์ อีโคเพล็กซ์ / บริษัท เลิศรัฐการ จำกัด / สำนักงาน มีพื้นที่ใช้สอย 70,898 ตารางเมตร
โครงการ Ideo MOBI Sukhumvit A building / บริษัท อนันดาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) / คอนโดมิเนียม มีพื้นที่ใช้สอย 26,367 ตารางเมตร
อาคารสำนักงาน โครงการขยายกำลังผลิต new plant หนองแค / บริษัท กระเบื้องกระดาษไทย จำกัด / สำนักงาน มีพื้นที่ใช้สอย 1,440 ตารางเมตร
อาคารโชว์รูม สำนักงานและศูนย์บริการมาตรฐาน โตโยต้าเภตรา / บริษัท โตโยต้า เภตรา จำกัด / สำนักงาน มีพื้นที่ใช้สอย 3,434 ตารางเมตร
อาคารสำนักงานใหญ่ อาคารที่ 3 อาคารแจ้งวัฒนา ธนาคารกสิกรไทย / ธนาคารกสิกรไทย / สำนักงาน มีพื้นที่ใช้สอย66,000 ตารางเมตร
โชว์รูมบุญถาวร สาขาหัวหิน / บริษัท บุญถาวรเซรามิค จำกัด / ห้างสรรพสินค้า มีพื้นที่ใช้สอย 11,500 ตารางเมตร
อาคารปาร์ค เวนเชอร์ แบบอย่างอาคารประหยัดพลังงาน ที่ประยุกต์สถาปัตยกรรมไทยเข้าไปอย่างกลมกลืน ก็ยื่นประเมิน TREES และ LEED
ทั้งหมดเป็นอาคารโครงการที่เปิดใช้บริการแล้ว อยู่ในระหว่างการจัดทำรายงานต่อสถาบันฯ ตามเกณฑ์ประเมิน TRESS
นอกจากนี้ สถาบันอาคารเขียวไทย ได้จัดฝึกอบรมบุคลากรที่มีคุณสมบัติพร้อมเป็นผู้ประเมิน เป็นที่ปรึกษาโครงการ และผู้จัดทำรายงานเพื่อยื่นขอการประเมินอาคารกับสถาบันฯ, มีโครงการจัดทำคู่มือสำหรับอาคารที่อยู่ระหว่างการใช้งาน EB (อยู่ระหว่างการพิจารณาขอบเขตการดำเนินงานจากสถาบันการศึกษาที่เสนอทางด้านเทคนิคและด้านราคา) และโครงการจัดทำเกณฑ์อาคารเขียวไทยแบบ Passive เป็นการใช้ศักยภาพธรรมชาติในการออกแบบอาคารให้เกิดสภาวะน่าสบาย เพื่อลดการใช้เครื่องกลและพลังงาน (อยู่ระหว่างการพิจารณาเกณฑ์ และรอการแสดงความคิดเห็นจากคณะกรรมการ) รวมถึงวางกรอบเกณฑ์ดำเนินการปรับปรุงอาคารเก่าให้ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
จากที่คนไทยกล่าวขานกันมากเรื่องอาคารเขียวไทย จึงไม่ใช่กระแสตามโลกแฟชั่น หรือ ก่อสร้างไว้เพื่อเสริมภาพลักษณ์ที่ดีแก่องค์กรทางด้านความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่เป็นฟังก์ชั่นสำคัญของอาคารยุคใหม่ตลอดทั้งกระบวนการ ตั้งแต่การเลือกทำเล แนวคิดสำหรับการออกแบบก่อสร้าง จนถึงขั้นตอนการก่อสร้างจนเสร็จที่จะต้องดูรายละเอียดของประโยชน์ของการใช้สอยที่ใส่ใจการรักษาและสร้างความยั่งยืนทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมของโลกใบนี้
คู่มือเกณฑ์การประเมินความยั่งยืนทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TREES โดยสถาบันอาคารเขียวไทย
เกณฑ์การประเมินอาคารเขียวของจริง
ข้อสรุปตามเกณฑ์การประเมินความยั่งยืนทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TRESS โดยสถาบันอาคารเขียวไทย ใช้ 8 องค์ประกอบสำคัญ สำหรับการประเมินอาคารเขียว โดยมีคะแนนเต็ม 85 คะแนน แต่ละหัวข้อจะให้คะแนนแตกต่างกัน ได้แก่
1) การบริหารจัดการอาคาร (Building Management) 3 คะแนน คิดเป็น 3.5% ได้แก่ การเตรียมความพร้อมเป็นอาคารเขียว การประชาสัมพันธ์สู่สังคม คู่มือและการฝึกอบรมแนะนำการใช้งานและบำรุงรักษาอาคาร และการติดตามประเมินผลขณะออกแบบก่อสร้าง และเมื่ออาคารเสร็จแล้ว
2) ที่ตั้งอาคาร (Site & Landscape) 16 คะแนน คิดเป็น 19% พิจารณาว่าที่ตั้งของอาคารที่ต้องการสร้างนั้นมีผลเสียต่อระบบนิเวศหรือไม่ บริเวณโดยรอบมีระบบการคมนาคมขนส่ง รวมทั้งมีระบบขนส่งมวลชนที่เหมาะสมรองรับหรือไม่
3) ระบบการใช้น้ำ (Water Conservation) 6 คะแนน คิดเป็น 7% ต้องมีประสิทธิภาพมาก เพราะส่งผลถึงน้ำเสียที่เกิดขึ้น ทำให้ใช้น้ำน้อยลง รวมทั้งน้ำที่ใช้แล้วต้องนำกลับมาใช้ใหม่ได้ อาทิ ไม่ใช้น้ำประปารดน้ำต้นไม้ แต่ใช้น้ำเสียจากอาคารที่ผ่านการบำบัดแล้ว
4) การใช้พลังงานและบรรยากาศ (Energy & Atmosphere) 20 คะแนน คิดเป็น 23.5% หมายถึงการประกันคุณภาพอาคารที่มีแผนการตรวจสอบและปรับแต่งระบบอย่างต่อเนื่องโดยบุคคลที่3 การตรวจสอบเพื่อยืนยันการประหยัดพลังงาน มีแผนการตรวจสอบและทดสอบประสิทธิภาพการใช้พลังงาน สารทำความเย็นในระบบปรับอากาศที่ไม่ทำลายชั้นบรรยากาศ และการใช้พลังงานทดแทน
5) การใช้วัสดุและทรัพยากรในการก่อสร้าง (Materials & Resources) 13 คะแนน คิดเป็น 15% หมายถึงอาคารต้องก่อสร้างจากวัสดุประหยัดพลังงาน วัสดุในท้องถิ่นเพื่อให้เกิดการขนส่งน้อยสุด วัสดุรีไซเคิลได้รับการพิจารณามากที่สุด
6) คุณภาพของสภาพแวดล้อมภายในอาคาร (Indoor Environmental Quality) 17 คะแนน คิดเป็น 20% ต้องมีแสงสว่างเพียงพอกับความต้องการของผู้อยู่อาศัยในอาคาร ไม่มีฝุ่น เชื้อโรค องค์ประกอบในการก่อสร้างต้องไม่ปล่อยสารพิษออกมา เช่น พรม หรือ สีต้องไม่มีสารระเหยที่เป็นอันตราย เป็นต้น
7) การป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental Protection) 5 คะแนน คิดเป็น 6% เช่น การลดมลพิษจากการก่อสร้าง ต้องมีแผนและดำเนินการป้องกันมลพิษและสิ่งรบกวนจากการก่อสร้าง การบริหารจัดการขยะก็มีการเตรียมพื้นที่แยกขยะ การใช้สารทำความเย็นที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยในระบบดับเพลิง เป็นต้น
8) สร้างด้วยนวัตกรรม (Green Innovation) 5 คะแนน คิดเป็น 6% แสดงถึงเทคโนโลยีที่เหมาะสมต่อการลดโลกร้อน ใช้แล้วประหยัดพลังงาน
เกณฑ์ประเมิน TRESS ทั้งหมด 8 หมวด มีคะแนนเต็ม 85 คะแนน อาคารใดประเมินได้ 61 คะแนนขึ้นไป จะได้รางวัล Platinum ,46-60 คะแนน ได้ Gold , 38-45 คะแนน ได้ Silver และ 30-37 คะแนน ได้ Certified
ส่วนค่าใช้จ่ายของอาคารในการขอรับการรับรอง TRESS-NC เป็นค่าลงทะเบียน 12,800 บาท และ ค่าธรรมเนียบรับรองการประเมิน ได้แก่ พื้นที่น้อยกว่า 5,000 ตารางเมตร 30,000 บาท ถ้าพื้นที่ 5,000-50,000 ตารางเมตร คิด 6 บาท / ตารางเมตร และ พื้นที่มากกว่า 50,000 ตาราเมตร คิดเป็นราคาคงที่ 300,000 บาท
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ และสมาคมสถาปนิกสยามฯ เมื่อครั้งลงนามร่วมกันจัดตั้งสถาบันอาคารเขียวไทย ในปี 2552เพื่อพัฒนาอาคารเขียวในประเทศไทยและสร้างแรงจูงใจให้ออกแบบอาคารประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ตำนาน อาคารเขียวไทย
Green Building ต้นทางมาจากต่างประเทศ เริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2513 โดย เซอร์นอร์แมน ฟอสเตอร์ และเร็นโซ เปียโน ร่วมกันออกแบบอาคารโดยเน้นการใช้เทคโนโลยีการลดการใช้น้ำและพลังงาน การก่อสร้างด้วยวัสดุรีไซเคิล หรือวัสดุที่มีความคงทนถาวรเพิ่มขึ้น เสริมการออกแบบอาคารใช้แสงธรรมชาติให้แสงสว่างแทนการใช้ไฟฟ้า และการใช้ระบบการระบายอากาศที่มีประสิทธิภาพ
ต่อมาได้พัฒนาเป็นหลักการสำคัญพื้นฐานของอาคารเขียว จนมีการจัดตั้ง World Green Building Council ซึ่งมีสมาชิกอยู่ทั่วโลกโดยกำหนดหลักการพื้นฐานไว้คือ “The World GBC Supports National Green Building Councils Whose Common Mission is to Create a Sustainable Built Environment Through Market Transformation” (ข้อมูลจากวารสารอินทาเนีย ฉบับที่ 5/2551 เดือน กันยายน-ตุลาตม 2551)
อาคารเขียว หรือ Green Building จึงเป็นอาคารที่สร้างขึ้นโดยมุ่งเน้นให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เป็นอาคารประหยัดพลังงาน ประหยัดการใช้น้ำ ใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในการดำเนินการทั้งหมดจะไม่มีกฎหมาย หรือกฎเกณฑ์บังคับ แต่เกิดจากความต้องการของผู้ประกอบการเอง
อย่างไรก็ตาม ความต้องการของผู้ประกอบการ ในที่สุดแล้วต้องสามารถนำมาสร้างตอบแทนคืนกลับสู่ธุรกิจได้เช่นเดียวกับเรื่องใหม่ๆ ของโลกทุนนิยม อย่าง สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นหัวหอกนำมาใช้โดยมีข้อกำหนด ลีด (Leadership in Energy and Environmental Design : LEED) หรือ หลักเกณฑ์อาคารเขียวของสภาอาคารเขียวสหรัฐฯ
ส่วนผลลัพธ์ที่ต่อเนื่องจากนั้นเป็นประโยชน์ต่อสังคมและสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติแบบยั่งยืน และนำมาสู่การพัฒนาเป็นหลักเกณฑ์อาคารเขียวของนานาประเทศซึ่งรวมถึงประเทศไทยที่ก่อตั้งเป็น “มูลนิธิอาคารเขียวไทย” (Thai Green Building Foundation : TGBI) เมื่อ 7ก.ย.2553เป็นองค์กรอิสระที่ไม่ขึ้นกับเงินงบประมาณของรัฐ โดยความร่วมมือระหว่างสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
พร้อมกับจัดตั้ง “สถาบันอาคารเขียวไทย” เป็นผู้ดำเนินงาน (Working Arm) ทำหน้าที่ส่งเสริม ให้คำแนะนำเพื่อพัฒนาความรู้ ประเมินอาคาร และจัดมอบรางวัล โดยคณะกรรมการทั้งหมดของสถาบันอาคารเขียวไทย จำนวน 10 คน เป็นสถาปนิกและวิศวกรที่คัดเลือกมาจากสมาชิกของทั้งสองสมาคมฝ่ายละครึ่ง

Green Building ยุคใหม่
Green Building เป็นวิธีการ และใช้กระบวนการที่ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และใช้ทรัพยากรต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดอายุการใช้งาน และให้ความเป็นมิตรกับสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติของโลกเพื่อให้เกิดความยั่งยืน (Sustainability)
จึงออกมาในรูปแบบของวิธีการออกแบบ วิธีการก่อสร้าง และวิธีการใช้สภาพแวดล้อมที่สร้างขึ้นอย่างยั่งยืน ช่วยในการประหยัด สะดวกสบาย และยืดอายุการใช้งาน
Green Building ถูกออกแบบมาเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากอาคาร สิ่งก่อสร้าง ทั้งต่อคน สุขภาพ และต่อธรรมชาติโดยใช้พลังงาน น้ำ ทรัพยากรอื่นๆ อย่างมีประสิทธิภาพสูง สามารถป้องกันสุขภาพของผู้อยู่อาศัย และลดของเสีย มลภาวะ และการทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น อาคารก่อสร้างโดยใช้วัสดุก่อสร้างที่มาจากการ Recycle มีการปรับปรุงภายในอาคารให้มีมลภาวะน้อยที่สุด หรือ การปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์เพื่อลดการใช้น้ำ
อาคารสีเขียวในยุคปัจจุบัน จึงเป็นมากกว่าอาคารประหยัดพลังงาน โดยสรุปแล้วมีองค์ประกอบที่สำคัญ คือ
1.การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและพลังงานที่นำกลับมาใช้ได้อีก
2.การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
3.วัสดุก่อสร้างที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
4.สามารถลดสารพิษที่เกิดขึ้น
5.การควบคุมคุณภาพของอากาศภายในอาคาร
6.สู่การพัฒนาอย่างฉลาดและยั่งยืน
กำลังโหลดความคิดเห็น