xs
xsm
sm
md
lg

คำถามเพื่อการเปลี่ยนแปลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุกวันนี้มองไปทางไหนก็มีแต่การเปลี่ยนแปลง

เศรษฐกิจก็เปลี่ยน สังคมก็เปลี่ยน ประเทศก็เปลี่ยน โลกก็เปลี่ยน คนก็เปลี่ยน ใครๆ ก็เปลี่ยน ... จริงไหม ?

องค์กรก็ไม่ต่างจากคนเรา การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา หากองค์กรปรับตัวไม่ทันการเปลี่ยนแปลง ไม่นานก็จะสูญพันธ์ไป ไม่ต่างอะไรกับสัตว์โลกล้านปี

คำสอนของชาร์ล ดาร์วิน นักคิดชาวอังกฤษที่กล่าวไว้ว่า “เผ่าพันธุ์ที่อยู่รอดไม่ใช่เผ่าพันธุ์ที่แข็งแรงที่สุด หากแต่เป็นเผ่าพันธุ์ที่สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุด” ยังจริงอยู่ตลอดกาล

ดังนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น คำถาม 5 อย่างที่ควรถามเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง คือ..

1. องค์กรกำลังจะไปไหน?
การกำหนดเป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงให้ชัดเจน เป็นจุดเริ่มต้นแห่งความสำเร็จหากยังไม่รู้ว่าองค์กรจะไปไหน ความสำเร็จก็คงวัดไม่ได้เช่นกัน

สูตรลับเแห่งความสำเร็จในเรื่องนี้คือ “ฝันให้ไกลแล้วไปให้ถึง” ความ “กล้าฝัน” เป็นหัวใจสำคัญที่ผู้ต้องการประสบความสำเร็จทุกคนควรมี

2. องค์กรมีความพร้อมเพียงใดกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึง?

หลายครั้งที่วิสัยทัศน์ของผู้นำถูกกำหนดเป็นเป้าหมายแล้วลงมือเปลี่ยนแปลงทันที โดยไม่ได้มองถึงความพร้อมขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมของคน (People) ความพร้อมของทรัพยากรต่าง ๆ (Resources) หรือแม้แต่ความพร้อมของระบบและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ
(Systems & Infrastructures)

ความล้มเหลวของการเปลี่ยนแปลงหลายครั้งของหลายองค์กร เกิดขึ้นเพียงเพราะประเมินความพร้อมขององค์กรสูงกว่าความเป็นจริง !

3. องค์กรมีขั้นตอนอย่างไรในการเปลี่ยนแปลง?

การเปลี่ยนแปลงต้องมีขั้นตอนที่ชัดเจน หากขาดการวางแผนที่ดี ความล้มเหลวของการเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดขึ้นในไม่ช้า

การเปลี่ยนแปลงหลายอย่างอาศัยเวลาและความอดทน การมีแผนสำรองหากแผนหลักใช้ไม่ได้ผล จะช่วยเพิ่มโอกาสแห่งความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี

ดังนั้นคำกล่าวที่ว่า If you fail to plan, you plan to fail (หากคุณล้มเหลวที่จะวางแผนคุณกำลังวางแผนที่จะล้มเหลว) เป็นข้อคิดเตือนใจสำหรับหลายๆ คนที่กำลังคิดจะเปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี

4. องค์กรจะบริหารจัดการกับการเปลี่ยนแปลงอย่างไร?

การเปลี่ยนแปลงทุกๆ กรณี มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย มีทั้งผู้ที่ต่อต้านและสนับสนุน แต่สิ่งที่น่าสนใจคือคนกลุ่มใหญ่ในองค์กรกลับไม่ใช่คนทั้งสองกลุ่มนี้ หากแต่เป็นกลุ่มคนที่เฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น (Wait and See) และพร้อมที่จะแปรพักตร์เข้ากับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เมื่อถึงเวลาอันเหมาะสม

ดังนั้นหากการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงทำได้ดี ฝ่ายสนับสนุนก็จะเป็นผู้ชนะในสงครามแย่งชิงมวลชนกลุ่ม Wait and See นี้ในที่สุด

5. องค์กรจะทำอย่างไรให้การเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างยั่งยืน?

การเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่เกิดขึ้นกลายเป็น “ไฟไหม้ฟาง” ที่ลุกลามอย่างรุนแรงเพียงชั่วไม่กี่อึดใจ แล้วก็มลายหายไปเหลือแต่ควันไฟยกตัวอย่างง่ายๆ ในสังคมบ้านเราที่ในอดีตเคยพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่าง เช่น การสร้างวินัยในเรื่องการข้ามถนนบนทางม้าลาย การเข้าคิวรอซื้อของหรือใช้บริการ เป็นต้น แต่การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ก็จางหายไปกับกาลเวลา

ดังนั้นคำถามที่น่าสนใจที่ทุกคนในองค์กรต้องช่วยกันค้นหาคำตอบหากต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงที่มีประสิทธิผลคือ “จะทำอย่างไรให้การเปลี่ยนแปลงนั้นยั่งยืน”

หากทุกครั้งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง พวกเราทุกคนช่วยกันตั้งคำถามและช่วยกันหาคำตอบในประเด็นต่างๆ เหล่านี้ ผมเชื่อแน่ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ จะได้ผลและองค์กรจะอยู่รอดต่อไปอย่างยั่งยืน เพราะองค์กรที่อยู่รอดคือองค์กรที่สามารถปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงได้ดี
เท่านั้น .... อย่างที่ว่าไว้ข้างต้น !

โดยอภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
กรรมการบริหาร
บริษัท ออคิด สลิงชอท จำกัด
apiwut@riverorchid.com
ติดตามข้อคิดในการบริหารจัดการการเพิ่มเติมได้ที่ twitter@apiwutp


กำลังโหลดความคิดเห็น