เอเจนซีส์ - ที่ประชุมโลกร้อนของสหประชาชาติ ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ตกลงกันในการหารือวันสุดท้ายเมื่อวันเสาร์ (8) ขยายอายุพิธีสารเกียวโตที่จะสิ้นสุดลงปลายปีนี้ออกไปจนถึงปี 2020 แม้ฝ่ายสนับสนุนมองว่า เป็นความคืบหน้าก้าวเล็กๆ ที่มีความสำคัญ แต่อีกหลายฝ่ายวิจารณ์ว่า ข้อตกลงล่าสุดแทบไม่มีผลต่อความพยายามในการหยุดยั้งการเพิ่มการแพร่กระจายก๊าซเรือนกระจก มิหนำซ้ำภาคีสำคัญดั้งเดิมอย่างรัสเซีย ญี่ปุ่น และแคนาดายังขอถอนตัว
หลังจากผู้แทนของเกือบ 200 ประเทศประชุมเจรจากันอย่างยาวนานมา 12 วัน ในที่สุด การยืดอายุพิธีสารเกียวโตออกไปจนถึงปี 2020 ก็ได้รับการรับรองขั้นสุดท้ายจากสหภาพยุโรป (อียู) รวมทั้งออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอีก 8 ประเทศอุตสาหกรรม
บัน คีมูน เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ แสดงความยินดีกับการต่ออายุนี้ ตลอดจนข้อตกลงอื่นๆ ของการประชุมคราวนี้ ซึ่งได้รับการเรียกขานรวมๆ ว่า “โดฮา ไคลเมต เกตเวย์” (Doha Climate Gateway) โดยเขาบอกว่าเป็นขั้นตอนสำคัญขั้นตอนแรก แม้เขายอมรับด้วยว่ายังมีภารกิจมากมายที่ต้องดำเนินการ
พิธีสารเกียวโตนั้น เป็นข้อตกลงนานาชาติว่าด้วยการจำกัดการแพร่กระจายก๊าซเรือนกระจกฉบับเดียวที่มีผลผูกพันตามกฎหมาย โดยเนื้อหาสาระกำหนดให้ประเทศอุตสาหกรรม 35 ชาติลดการแพร่กระจายก๊าซเรือนกระจก ในช่วงระหว่างปี 2008-2012 ลงอย่างน้อย 5.2% จากระดับในปี 1990 ทว่าข้อตกลงนี้ไม่ได้ครอบคลุมถึงพวกประเทศกำลังพัฒนา โดยที่ปัจจุบันชาติกำลังพัฒนารายยักษ์อย่าง จีน และอินเดีย กลายเป็นผู้สร้างมลพิษรายสำคัญมาก นอกจากนั้น สหรัฐฯซึ่งยังคงมีฐานะเป็นผู้สร้างมลพิษรายใหญ่ของโลกเช่นกัน แม้ตอนแรกร่วมลงนามในพิธีสารฉบับนี้ ทว่าไม่ยอมร่วมรับรองให้สัตยาบัน
ในทางปฏิบัติแล้ว พวกผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า การต่ออายุพิธีสารเกียวโตคราวนี้จะทำให้ระดับการปล่อยมลพิษของโลกเกิดความแตกต่างไปจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบันน้อยมาก เนื่องจากบรรดาชาติที่ให้สัญญาจะทำตามข้อตกลงต่อไปอีก 5 ปีนั้น รวมกันแล้วเป็นผู้แพร่กระจายก๊าซเรือนกระจกเพียง 15% ของทั่วโลกเท่านั้น แถมประเทศเหล่านี้ทุกๆ รายต่างมีระเบียบกฎหมายของตนเองซึ่งระบุผูกพันถึงเรื่องนี้เอาไว้เรียบร้อยแล้ว ขณะที่ชาติภาคีดั้งเดิมที่เคยร่วมลงนามและให้สัตยาบันรับรองกันมาก่อน อันได้แก่ รัสเซีย ญี่ปุ่น และแคนาดา ประกาศขอถอนตัวไม่อยู่ในบังคับของพิธีสารนี้อีก
กระนั้น คอนนี เฮเดการ์ด กรรมาธิการว่าด้วยสภาพภูมิอากาศของอียู ชี้ว่า การตกลงต่ออายุนี้ ถึงอย่างไรก็เป็นการปูทางไปสู่การเจรจากันใหม่เพื่อจัดทำข้อตกลงฉบับใหม่กันในปี 2015 และมีผลบังคับใช้ในปี 2020 เมื่อระยะเวลาต่ออายุของพิธีสารเกียวโตสิ้นสุดลง โดยที่ข้อตกลงใหม่นี้จะมีการกำหนดเป้าหมายการลดการแพร่กระจายก๊าซเรือนกระจกสำหรับทุกประเทศ รวมถึงพวกชาติเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ด้วย
ในส่วนอียูนั้นยืนยันให้คำมั่นว่า ภายในปี 2020 จะลดการแพร่กระจายอย่างน้อย 20% จากระดับปี 1990
นอกเหนือจากเรื่องพิธีสารเกียวโต และกรอบเวลาการเจรจาทำข้อตกลงฉบับใหม่แล้ว สิ่งที่ตกลงกันในที่ประชุมคราวนี้ และรวมอยู่ในโดฮา ไคลเมต เกตเวย์ ยังมีเรื่องการตกลงกันในหลักการเกี่ยวกับการเพิ่มเงินทุนช่วยเหลือพวกประเทศยากจน ในการรับมือกับภาวะโลกร้อน และในการเปลี่ยนไปใช้แหล่งพลังงานที่เป็นมิตรต่อโลกมากขึ้น ทว่าไม่ได้มีการระบุตัวเลขเงินทุนใหม่ๆ ออกมาอย่างเป็นรูปธรรม
ประเทศพัฒนาแล้วเคยตกลงเอาไว้ในการประชุมโลกร้อนยูเอ็นปี 2009 ว่าจะให้เงินช่วยเหลือเช่นนี้แก่ชาติกำลังพัฒนา 10,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีในช่วงปี 2010-2012 นอกจากนั้นยังตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าจะให้ 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี เมื่อถึงปี 2020 ทว่าไม่ได้ระบุว่าจะทำอะไรให้บ้างในช่วงปี 2013-2019
ในที่ประชุมโดฮาคราวนี้ พวกประเทศกำลังพัฒนาจึงพยายามกดดันฝ่ายประเทศพัฒนาแล้ว โดยระบุว่าพวกเขาจำเป็นต้องใช้เงินทุนเช่นนี้อีกอย่างน้อย 60,000 ล้านดอลลาร์ในช่วงตั้งแต่เวลานี้ไปจนถึงปี 2015 อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯและอียูปฏิเสธเสียงแข็งไม่ยอมระบุตัวเลขรูปธรรมที่พวกเขาจะควักกระเป๋าในช่วงปี 2013-2020 โดยให้เหตุผลว่าพวกเขากำลังประสบความลำบากทางการเงิน
ประเด็นอีกประเด็นหนึ่งที่มีการโต้แย้งกันมากในการประชุมคราวนี้ คือ ข้อเรียกร้องของประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และประเทศที่เสี่ยงเผชิญภาวะระดับน้ำทะเลสูงขึ้น อันได้แก่พวกชาติหมู่เกาะเล็กๆ ทั้งหลาย ซึ่งต้องการให้ออกหลักเกณฑ์ข้อกำหนดเกี่ยวกับความสูญเสียและความเสียหายที่ประเทศต่างๆ ได้รับจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยที่พวกเขาชี้ว่าความเสียหายเหล่านี้ต้นตอก็มาจาการสร้างมลพิษของการขยายอุตสาหกรรมของฝ่ายตะวันตกนั่นเอง
ปรากฏว่าในที่สุดแล้ว โดฮา ไคลเมต เกตเวย์ ตกลงเห็นพ้องเกี่ยวกับวิธีต่างๆ ที่จะรับมือกับความเสียหายอันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ตั้งแต่ภัยแล้ง ไปจนถึงการค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเล
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติให้จัดทำเครื่องมือและข้อตกลงใหม่ๆ เพื่อจัดการกับเรื่องความสูญเสียและความเสียหายเช่นนี้ โดยอาจจะรวมถึงการจัดตั้งกลไกระหว่างประเทศขึ้นมาใหม่ในการประชุมโลกร้อนยูเอ็นคราวหน้าในปี 2013 อย่างไรก็ดี ไม่มีการให้สัญญาเรื่องเงินทุนใหม่ๆ ใดๆ ทั้งสิ้น
ภายหลังการประชุมปิดฉากลง พวกองค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมและผู้แทนของหลายๆ ประเทศ ได้ออกมาแสดงความผิดหวังที่การเจรจาต่างๆ เกี่ยวกับการรับมือกับภาวะโลกร้อนนี้ ยังคงดำเนินไปอย่างเชื่องช้า ในขณะที่มีผลศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์สดๆ ร้อนๆ เพิ่มขึ้นมาไม่ขาดสาย เตือนถึงภัยพิบัติหายนะที่กำลังจะมาถึงในอนาคต จากการที่ภูมิอากาศของโลกจะแปรปรวนสุดโต่งบ่อยครั้งขึ้น
“พวกที่กำลังคอยขัดขวางและมุ่งคำนึงถึงแต่ตนเองทั้งหลาย จำเป็นที่จะต้องตระหนักรับรู้ว่า พวกเราไม่ได้กำลังพูดจากันเกี่ยวกับผลกระทบต่างๆ ที่จะกระทบกระเทือนความสุขสบายในการใช้ชีวิตของประชาชนของพวกคุณ แต่เป็นเรื่องที่ว่าประชาชนของพวกเราจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้หรือไม่” เคียเรน เคเค ผู้แทนของกลุ่มพันธมิตรรัฐหมู่เกาะขนาดเล็ก แถลงอย่างเหลืออด
“มีทางแยกอยู่ในเส้นทางนี้ เราจำเป็นที่จะต้องหันไปให้ถูกทางในขณะที่เรากำลังเดินไป ไม่เช่นนั้นแล้วกระบวนการนี้ก็จะล้มครืนลง และประเทศชาติของพวกเราก็จะพากันหายลับไป”