บอร์ด ทอท.เห็นชอบต่อสัญญา TARCO ให้บริการท่อส่งน้ำมันสุวรรณภูมิเฟส 2 คาดมีรายได้เพิ่มจากส่วนแบ่ง จาก 18 ล้านบาทเป็น 75.5 ล้านบาทต่อปี ทอท.ฉวยจังหวะเงินบาทแข็งค่าสวอปหนี้เงินกู้สกุลเยนก้อนใหญ่ ทำหนี้หายวับ 2,900 ล้านบาท ปรับวิธี เตรียมซ่อมใหญ่แท็กซี่เวย์และลานจอด จ้างผู้รับเหมาพิเศษทำสัญญาการันตีผลงาน
น.ต.ศิธา ทิวารี ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ด ทอท.เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้สิทธิบริษัท ไทยเชื้อเพลิงการบิน จำกัด (TARCO) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการระบบส่งน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานผ่านท่อแบบ Hydrant ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 1 ให้บริการส่งน้ำมันเชื้อเพลิงผ่านท่อในการขยายสุวรรณภูมิเฟส 2 อีก 28 หลุมจอดด้วยโดยไม่ต้องเปิดประมูลใหม่ วงเงินลงทุน 800 ล้านบาท คาดว่าจะทำให้ ทอท.มีรายได้เพิ่มจาก 18 ล้านบาทต่อปี เป็น 75.5 ล้านบาทต่อปี โดยจะมีการเจรจาเพื่อปรับเงื่อนไขเพิ่มผลตอบแทนอัตราส่วนแบ่งรายได้ของเฟส 1 จาก 2% ของยอดขาย (12 ล้านบาทต่อปี) เป็น 5% (23 ล้านบาทต่อปี) ส่วนผลตอบแทนของเฟส 2 ทอท.จะได้รับที่ 8% ของยอดขาย (15 ล้านบาทต่อปี) และเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของ ทอท.ใน TARCO จากเดิม 10% เป็น 25% ซึ่งจะทำให้รายได้ในฐานะผู้ถือหุ้นเพิ่มจาก 15 ล้านบาทเป็น 37.5 ล้านบาทต่อปี โดยการเจรจาจะต้องยุติภายใน 4 สัปดาห์เพื่อลงนามสัญญาต่อไป
“TARCO ได้เป็นผู้ให้บริการระบบท่อน้ำมันเชื้อเพลิงสุวรรณภูมิเฟส 1 อยู่แล้ว ซึ่งในเฟส 2 จะมีอายุสัมปทานเดียวกับเฟส 1 คือ 30 ปี โดยหมดอายุสัญญาพรัอมกันในปี 2579 โดยก่อนหน้านี้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ได้ยื่นข้อเสนอเป็นผู้วางระบบท่อน้ำมันเชื้อเพลิงสุวรรณภูมิ เฟส 2 ใช้วงเงินลงทุนถึง 2,800 ล้านบาท สูงกว่าการลงทุนของ TARCO เพราะ ปตท.ต้องก่อสร้างโดยวางท่อส่งน้ำมันใหม่อ้อมรันเวย์ ระยะทางประมาณ 8-10 กิโลเมตร ขณะที่ TARCO มีท่อส่งน้ำมันเดิมที่อยู่ใต้รันเวย์อยู่แล้ว
นอกจากนี้ บอร์ด ทอท.ยังรับทราบผลการแปลงหนี้เงินกู้ระยะสั้น อายุ 6.5 ปี วงเงิน 10,000 ล้านบาท จากสกุลเงินเยนเป็นเงินบาทเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งเป็นช่วงที่ค่าเงินบาทมีความเหมาะสมทำให้มูลหนี้ของสัญญาดังกล่าวเหลือ 7,000 ล้านบาท หรือได้กำไรจากการทำสวอปครั้งนี้กว่า 2,900 ล้านบาท โดย ทอท.ยังเหลือหนี้เงินเยนอีกประมาณ 7,000 ล้านเยน หรือกว่า 2,000 ล้านบาท เป็นเงินกู้ระยะยาวซึ่งประเมินอัตราดอกเบี้ยยังไม่เหมาะสมที่จะสวอปในขณะนี้
“กรรมการบริหารความเสี่ยงของ ทอท.ได้รายงานให้บอร์ดทราบว่า เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นเวลาเหมาะสมมากสำหรับสถานการณ์ค่าเงินบาท จึงตัดสินใจทำการสวอปหนี้สกุลเงินเยนก้อนใหญ่สุดที่ ทอท.มีอยู่ 10,000 ล้านบาท ซึ่งส่งผลให้หนี้หายไปทันที 2,900 ล้านบาท ถือเป็นข่าวดีมาก” น.ต.ศิธากล่าว
น.ต.ศิธากล่าวว่า บอร์ดยังเห็นชอบให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิใช้วิธีจ้างเอกชนรับเหมาซ่อมทางขับและลานจอด จากเดิมที่ใช้วิธีซ่อมแซมเองแบบชั่วคราว และใช้วัสดุที่ไม่คงทน เนื่องจากเห็นว่าการว่าจ้างเหมาซ่อมจะมีความสะดวกและได้มาตรฐานมากกว่า เพราะผู้รับงานต้องการันตีการซ่อมบำรุงด้วย โดยที่ผ่านมาทางขับและลานจอดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีการใช้งานหนักมากและยังไม่เคยปิดซ่อมใหญ่นับแต่เปิดให้บริการตั้งแต่เดือนกันยายน 2549 โดยตามแผนจะเริ่มปิดทางขับและลานจอดบางส่วนด้านฝั่งตะวันออกเพื่อซ่อมแซมตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนนี้เป็นเวลา 110 วัน ใช้งบประมาณ 60 ล้านบาท และในระยะที่ 2 จะปิดซ่อมใหญ่อีกประมาณ 200 วัน งบประมาณกว่า 100 ล้านบาท