xs
xsm
sm
md
lg

EHIA ท่าเทียบเรือเชฟรอนฯ ข้อกังวลนี้เป็นของใคร? / นักข่าวชายขอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย...นักข่าวชายขอบ

หลังพยายามติดตามท่วงทำนองท่าทีของแต่ละฝ่าย ต่อในการยื่นรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ หรือที่เรียกว่า EHIA ไปยังสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) อยู่ต่อไป แม้ว่าก่อนหน้านี้ผู้บริหารจะประกาศชัดๆ ว่าโครงการนี้ถูกยุติไปแล้ว จะไม่เกิดขึ้นที่บ้านบางสาร ต.สระแก้ว อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช อีกต่อไปแล้ว เป็นเหตุผลที่เข้าใจได้ในมิติของการระแวด ระวัง ระแวง เชฟรอนฯ อาจเปลี่ยนใจกลับมาที่นี่อีกเมื่อไหร่ย่อมเป็นได้

ความเคลื่อนไหวของฝั่งเชฟรอนฯ ได้มีขึ้นอีกครั้งในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐ เอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของจังหวัดนครศรีธรรมราช หรือเรียกสั้นๆ ว่า กรอ. เมื่อปลายกุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมา บนศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อมีหัวข้อหนึ่งที่ถูกนำมาแจ้งในที่ประชุมทราบคือ “การยุติโครงการท่าเทียบเรือสนับสนุนการขุดเจาะปิโตรเลียมของบริษัท เชฟรอนสำรวจและผลิตประเทศไทย จำกัด” ที่ประชุมรับทราบถึงเรื่องนี้มีทางเดียวคือ โครงการนี้ยุติแน่ๆ อย่างเป็นทางการด้วยซ้ำ และที่ยังคงอยู่คือศูนย์ขนส่งทางอากาศสำหรับขนส่งบุคลากรไปทำงานกลางทะเล

ถ้อยแถลงในวันนั้น ถูกยืนยันซ้ำอีกครั้งว่าบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ขอยืนยันการยกเลิกโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือ และศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยของบริษัท ณ พื้นที่บ้านบางสาร ต.กลาย อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ทั้งนี้ โดยเป็นไปตามข้อมูลที่เขาได้เคยสื่อสารกับสาธารณะชน และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องต่างๆ อย่างเป็นทางการไปก่อนหน้านี้แล้ว คือเมื่อเดือนธันวาคม 2555 และยังคงเป็นไปเช่นนั้น

หลังจากที่พูดคุยนอกรอบได้มีความพยายามจี้ถามถึงการยื่นรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ฉบับสมบูรณ์ต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เหตุผลที่เป็นคำตอบคือ ต้องการให้สาธารณะชนได้รับข้อมูลที่สมบูรณ์จากรายงานฉบับสมบูรณ์ อันเกี่ยวกับการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และเชื่อว่าจะสามารถช่วยยืนยันความโปร่งใสในขั้นตอนการทำรายงาน และการจัดเตรียมข้อมูลของรายงาน และข้อมูลเหล่านี้จะต้องเป็นสาธารณะ

เพียงไม่กี่วันจากนั้น ได้มีโอกาสพูดคุยถามไถ่สารทุกข์สุขดิบกับผู้ที่คร่ำหวอดในแวดวงธุรกิจคนสำคัญท่านหนึ่ง ได้พูดถึงเรื่องราวกฎกติกามารยาท รวมถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และแสดงทรรศนะต่อกรณีเชฟรอนฯ ไว้ว่า

“บริษัทนี้ไม่ใช่บริษัทเล็กๆ นะครับ กฎกติกา มีเยอะมาก และทุกอย่างเขาต้องยึดระบบ ระเบียบและข้อกฎหมาย โดยเฉพาะงานด้านเอกสาร ซึ่งต้องจัดเก็บตามระบบของเขา หลังจากนี้ข้อมูลเหล่านี้คงจะมีการนำมาใช้เพื่อสาธารณะ และจะต้องมาจาก สผ.นั่นเอง ส่วนข้อกังวลของบางกลุ่ม บางคนที่กลัวว่า เมื่อครบกระบวนการแล้วเขาจะกลับมาสร้างที่ท่าศาลาหนะหรือครับ ผมรู้ดีครับไม่มีแน่ มาสร้างก็บ้าแล้ว ยิ่งเป็นฝรั่งคิดนะครับยาก (ลากเสียงยาว) ถ้า ปตท.ไม่แน่นะ คนไทยมาทะเลาะกันได้ แต่ฝรั่งเขาไม่มานั่งทะเลาะหรอก”

“ความไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจเป็นเหตุผลสำคัญ หากยังคิดจะลงทุนต่อไป ผมในฐานะนักธุรกิจก็เชื่อเช่นนั้น เพราะตัวผมเองก็ต้องมองตัวเลขการลงทุนเช่นกัน โครงการนี้ใช้เงินเยอะนะครับ ขณะเดียวกันสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลานับเป็นปีๆ ที่มาเริ่มโครงการของเชฟรอนฯ มันมากเหลือเกิน ปัญหาที่ถูกปลุกปั่นขึ้นมา เอ็นจีโอเทียมๆ ที่เป็นนายหน้าค้าความขัดแย้ง อ้างประชาชนแล้วมีผู้ที่คอยไปเก็บเกี่ยวประโยชน์โดยที่ประชาชนไม่รู้ และไม่ได้ประโยชน์ด้วย อันนี้ไม่ได้รวมถึงเอ็นจีโอที่เขาทำประโยชน์ให้ชาวบ้านนะครับ คนแบบนี้มีอยู่ต้องยกย่อง ผมเป็นคนไทยผมคิดว่าปัญหาเหล่านี้มันน่าเบื่อและมันมากขึ้นเรื่อยๆ และไหนจะความเปลี่ยนแปลงทางนิเวศน์ชายฝั่ง โดยเฉพาะเรื่องของตะกอนเลนที่เร็วมาก ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจมันไม่คุ้มค่ากับการลงทุนแล้วครับ เป็นเหตุผลที่อธิบายได้ง่ายๆ” เป็นเหตุผลที่เขาอธิบายและซ่อนไว้ถึงความเป็นจริงบางประการในสังคมท้องถิ่น ท่ามกลางกองผลประโยชน์และยอมรับว่า มันมีอยู่จริง ซ้ำยังทวีความรุนแรงขึ้นทุกวันมิใช่หรือ

ส่วนทางฝั่งฝ่ายคัดค้านได้มีความเคลื่อนไหวคัดค้านการพิจารณารายงาน EHIA ฉบับสมบูรณ์ที่ถูกส่งเข้าไปยัง สผ.พิจารณา บ้างใช้หลักเหตุผล หลักคิดที่นำไปแสดงให้ฝั่ง สผ.เห็นว่า ควรยุติเรื่องนี้ด้วยเหตุและผล บ้างก็ต่อว่าต่อขานอย่างสาดเสียเทเสีย ถึงการรับพิจารณาของสำนักงานแห่งนี้ ถึงขั้นไปเคลื่อนไหวแสดงการคัดค้านถึงที่ตั้ง เช่นเดียวกันกับที่ผู้บริหารได้ชี้แจงถึงขั้นตอนการรับเข้าสู่กระบวนการ และระบบในการพิจารณาทำนองว่า จะต้องเข้าสู่กระบวนการ ไม่สามารถถอนเรื่องออกไปได้ เพราะมันเป็นระบบผ่านหรือไม่ผ่าน เป็นเรื่องของคณะกรรมการ ส่วนสร้างหรือไม่สร้างเป็นเรื่องของบริษัทของเขา ที่สำคัญทุกสิ่งอยู่บนกระดาษยิ่งทำให้บางคนบางพวกออกอาการมากยิ่งขึ้น จากความสุขุมรอบคอบกลับแปรเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังเท้าทีเดียว

ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ท่าขึ้น ต.สระแก้ว อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ละแวกที่ตั้งโครงการก่อนหน้านี้บ่นๆ ให้ฟังว่า เขาหยุดไปแล้ว ยังจะอะไรอีก ดูแล้วมันผิดปกติ เช่นเดียวกับเอ็นจีโออีกคนที่เปรยๆ กับพวกในวงการว่า “ผมเหนื่อยช่วงนี้ต้องเคลื่อนกันต่อ แพ้กระแสสื่อชาวบ้านเขาเชื่อว่าเชฟรอนฯ หยุดแล้ว ทำให้พวกผมต้องเคลื่อนกันหนักมากขึ้น”!!!???

ในแง่ของการลงทุนทางธุรกิจใดๆ ก็ตามแต่ โดยเฉพาะโครงการที่มีความละเอียดอ่อน มีมูลค่าการลงทุนสูง การตัดสินใจย่อมต้องคำนึงถึงจุดอ่อน จุดแข็ง วิกฤตและโอกาสต่างๆ เพื่อความคุ้มค่าหรือคุ้มทุนทางเศรษฐกิจ เป็นวัฏจักรวงจรของระบบทุนนิยม ที่แทรกซึมมาทุกอณูและทุกบริบท ยากที่ใครจะหลีกเลี่ยงได้ ทุกฝ่ายจะหนุนหรือจะค้าน ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของการบริโภคผลผลิตจากทุนนิยมแทบทั้งสิ้น อยู่ที่ว่าจะอยู่บนความสมดุล หรือสุดขีดเท่านั้น

อนาคตอันใกล้พื้นที่ อ.ท่าศาลา หรือไม่อาจเป็น อ.สิชล กำลังเป็นที่หมายตาของ ปตท.ที่ว่ากันว่า พลังไทยเพื่อใคร? กำลังดูลู่ทางที่เตรียมสร้างคลังก๊าซ LNG ที่รอเข้าสู่กระบวนการแยก ด้วยเหตุย่านนี้มีชัยภูมิทำเลที่เหมาะ และการผลักดันโครงการเส้นทางพลังงาน และอยู่ในห้วงของการศึกษาสร้างท่อส่งน้ำมันจากฝั่งทะเลอันดามัน ข้ามมายังฝั่งอ่าวไทย (เอนเนอร์จีบริดจ์) เพื่อเป็นช่องทางการขนส่งน้ำมันของประเทศในภูมิภาคเอเชีย แทนช่องแคบที่สิงคโปร์ เนื่องจากในอนาคตการส่งน้ำมันมาภูมิภาคเอเชียจะเติบโตสูงขึ้น ทำให้ช่องแคบที่สิงคโปร์ไม่สามารถรองรับการขนส่งน้ำมันได้เพียงพอ

นี่คือส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์พลังงานของประเทศระยะ 20 ปี ของประเทศนี้ ซึ่งว่ากันว่าได้ศึกษาพื้นที่ไว้ 3 เส้นทาง ได้แก่ 1. ท่อส่งน้ำมันจากจังหวัดทวายของพม่า เข้า อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี และลงทะเลอ่าวไทยไปโผล่ที่มาบตาพุด จ.ชลบุรี ความยาวท่อตามระยะทางรวม 500 กิโลเมตร 2. ท่อส่งน้ำมันจาก อ.เขาหลัก จ.พังงา สู่ อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช ระยะทางรวม 250 กิโลเมตร และ 3. ท่อส่งน้ำมันจากปากบารา อ.ละงู จ.สตูล ถึง จ.สงขลา ระยะทางรวม 300 กิโลเมตร

ที่ต้องขีดเส้นใต้ตัวหนาๆ เส้นทางที่มีความเป็นไปได้สูงที่จะก่อสร้างท่อส่งน้ำมันคือ เส้นทวาย-มาบตาพุด และเส้นเขาหลัก-สิชล เนื่องจากมีถนนรองรับไว้แล้ว แน่นอนว่าจะต้องมีคลังก่อนที่จะส่งผ่านท่อ และก่อนมีคลังจะต้องมีท่าเรือหรือไม่ น่าคิดตามเช่นกัน โครงการเช่นนี้กำลังจะตั้งรูปก่อร่างมาที่นครศรีธรรมราชอีกแล้ว คอยดูกันต่อว่าการเคลื่อนไหวท่าทีท่วงทำนองเป็นอย่างไร

อย่าว่าแต่เชฟรอนฯ เลยที่ประกาศการตัดสินใจยุติโครงการนี้ไป จะด้วยเหตุผลด้านใดก็สุดแท้แต่ ย่อมที่จะรู้กันดี ผลออกมาวันนี้จะผิดแผนกับบางคน บางกลุ่มที่จะชงแล้วตบไม่สำเร็จหรือไม่ ยังไม่อาจรู้ได้ ส่วนโครงการอื่นๆ ที่คิดจะมาลงทุนแถวนครศรีธรรมราช ย่อมนับกรณีเชฟรอนฯ เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ส่วนจะลงทุนกันหรือไม่นั้น ต้องนั่งคิด นอนคิด หรือตีลังกาคิดอีกหลายรอบก่อนตัดสินใจ ส่วนเชฟรอนฯ นั้น กระบวนการที่ยื่นเอกสารรายงานใน สผ.นั้นอยู่แค่ในกระดาษ นักสู้อย่ากลัวไปเลย เสียเหลี่ยมเสียเชิง!!!


กำลังโหลดความคิดเห็น