xs
xsm
sm
md
lg

30 ปีที่เจ้า “โรนัน” หายไป...และเขาก็กลับมา / บรรจง นะแส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์ : ฝ่าเกลียวคลื่น
โดย...บรรจง  นะแส
 
“ต้องทำใจครับ....เพราะเจ้าโรนันมันโดนแล่ขายเป็นแพกในห้างทั่วไป....เขากินกันมานานแล้วครับ เพราะมันอร่อย....ผมชื้อกินเป็นประจำ....ผัดฉ่าสุดยอด” 
 
เป็นเรื่องราวที่คุยกันในเว็บไซต์ในหมู่คนกินปลา นอกจากนั้น ยังมีการพูดถึงส่วนประกอบของเครื่องประดับ “หัวปลากระเบน” นั้นเป็นกระดูกส่วนหลังหัวที่ยื่นออกมาจากหลังปลาโรนัน (โรนิน) หรือกระเบนท้องน้ำ บางคนก็เรียก คดกระเบน มักจะนำมาทำหัวแหวน เครื่องรางที่ทำจากปลากระเบน ตามความเชื่อของไทยเชื่อว่าสามารถป้องกันสิ่งที่ไม่ดีที่เกิดจากทางน้ำได้ และยังเป็นมหาอุดป้องกันอันตรายจากศาสตร์เร้นลับ นอกจากนั้น ชาวจีนเชื่อถือกันว่า ปลากระเบน “เป็นของช่วยเสริมโชคลาง” ทำให้เงินทองไหลมาเทมา ดังสุภาษิตจีนว่า “เนี่ยน เนี่ยน หยิ่ว อี๋” ใช้แล้วเงินเหลือ จะนำความโชคดี และสร้างความร่ำรวยให้แก่ผู้ที่ใช้หรือครอบครอง
 
ปลาโรนัน จึงถูกไล่ล่าจนแทบจะหมดไปจากท้องทะเลไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ฝั่งอ่าวไทยที่มีพื้นที่หลบซ่อน และขยายพันธุ์น้อยกว่าทะเลฝั่งอันดามัน
 
ชุมชนประมงชายฝั่งอ่าวไทยส่วนใหญ่พูดตรงกันว่า ปลาโรนันได้หายไปจากท้องทะเลมาแล้วไม่ต่ำกว่า 30 ปี การปรากฏตัวของปลาโรนันในพื้นที่ทะเลจะนะ จังหวัดสงขลา เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา จึงสร้างความตื่นเต้นดีใจให้แก่ผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนเป็นอย่างยิ่ง หลังจากที่มีปรากฏการณ์มีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ที่ชายหาดเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เคยมี และห่างหายไปจากพื้นที่มาแล้วไม่ต่ำกว่า 20 ปี เป็นการสร้างความเชื่อมั่นและเป็นการตอกย้ำให้ชุมชนมีความมั่นใจมากยิ่งขึ้นว่า แนวทางการฟื้นฟูอนุรักษ์พื้นที่ชายฝั่งของชุมชนนั้นมีความสำคัญต่อการอยู่รอดของพวกเขาในแง่ของอาชีพ และรายได้ที่จะหล่อเลี้ยงให้ครอบครัว และชุมชนให้อยู่รอดได้อย่างแน่นอน
 
ทะเลจะนะอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นอำเภอเล็กๆ ที่มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล 3 ตำบล ได้แก่ ต.นาทับ ต.ตลิ่งชัน และ ต.สะกอม ทะเลจะนะแม้จะไม่เป็นที่รู้จักในนามของสถานที่ท่องเที่ยวเหมือนเช่นทะเลที่อื่น แต่ที่นี่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรในทะเล เนื่องจากมีการอนุรักษ์ และฟื้นฟูทะเลอย่างต่อเนื่อง โดยวิธีการต่างๆ เช่น การทำอูหยำ หรือปะการังเทียม เป็นการสร้างบ้านให้สัตว์น้ำ มีการทำความสะอาดปะการัง และการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ทะเลจะนะในวันนี้จึงกลายเป็นแหล่งผลิตอาหารทางทะเลที่สำคัญอีกพื้นที่หนึ่งในจังหวัดสงขลา
 
การจัดทำ และรวบรวมข้อมูลของเครือข่ายรักษ์ทะเลจะนะในพื้นที่ 3 ตำบล 8 หมู่บ้าน พบว่า หลังจากที่ชุมชนได้กลับมาฟื้นฟูทะเล ช่วยกันขับไล่เครื่องมือประมงแบบทำลายล้าง อย่างเรืออวนลาก อวนรุน ไปพ้นเขตทะเลหน้าชุมชนของพวกเขา ทำให้ที่นี่มีพันธุ์สัตว์น้ำที่หลากหลาย มีปลาที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 144 ชนิด สัตว์น้ำที่หายากอย่าง โลมา เต่าทะเล และสัตว์อื่นๆ กลับมามีพบในพื้นที่กว่า 38 ชนิด การทำการประมงชายฝั่งสามารถสร้างรายได้ให้แก่เจ้าของเรือเฉลี่ยวันละ 1,000 บาท
 
อีกทั้งทำให้เกิดเศรษฐกิจชุมชนที่ต่อเนื่องตามมาคือ มีผู้ประกอบการรับซื้อพันธุ์สัตว์น้ำ 15 ราย เพื่อส่งขายพ่อค้าคนกลาง หรือแพในจังหวัด มีแพรับซื้อสัตว์น้ำในชุมชน จำนวน 6 แพ มีแม่ค้ารายย่อยขายสินค้าในตลาดท้องถิ่น จำนวน 115 ราย ก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในชุมชนโดยรวมมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อวันเฉพาะกิจการสัตว์ทะเล 1,161,600 บาท/วัน รวมมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อเดือนเฉพาะกิจการสัตว์ทะเล 23,232,000 บาท/เดือน (ปกติเฉลี่ยการออกทำการประมง 20 วันในหนึ่งเดือน)
 
ซึ่งชี้ให้เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมของผลที่เกิดขึ้นจากการดูแลรักษาทะเลของคนที่มีความสัมพันธ์กับทะเลอย่างแนบแน่น ซึ่งก็คือ ชาวประมงในพื้นที่
 
การปรากฏตัวอีกครั้งของปลาโรนันในรอบ 30 ปี จึงเป็นการตอกย้ำว่าความอุดมสมบูรณ์ของทะเลจะนะ จึงเป็นเรื่องที่ควรได้รับความสนใจ ด้วยโรนันที่ชุมชนประมงชายฝั่งเคยรับรู้ว่า เคยมี แต่หายไปนานมาก เยาวชน และคนทั่วๆ ไปรู้จักน้อยลงทุกวัน
 
ผู้เขียนเองก็ยอมรับว่า แม้จะทำงานกับชาวประมงชายฝั่งมานาน ก็เพิ่งจะได้ยินชื่อ และเห็นตัวจริงของโรนัน เลยค้นคว้าเร็วๆ จากวิกิพีเดีย หรือสารานุกรมเสรี เพื่อมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับผู้อ่าน จากการค้นคร่าวๆ ก็พบว่า ปลาโรนัน (Ronan, Guitarfish) เป็นปลากระดูกอ่อนจำพวกหนึ่ง อยู่ในวงศ์ที่เรียกว่า Rhinobatidae ชอบอาศัยอยู่ในทะเล หรือปากแม่น้ำที่ติดกับทะเล มีพบในแหล่งน้ำจืดบ้าง แต่ก็ไม่มากนัก มีรูปร่างคล้ายปลาฉลาม แต่มีส่วนหัวแบนแหลมเหมือนปลากระเบน ซึ่งมีทั้งหมด 10 สกุล 45 ชนิด พบในเขตน้ำอุ่นทั่วโลก ทั้งทวีปอเมริกาเหนือ, ทวีปแอฟริกา, เอเชีย และออสเตรเลียทางตอนเหนือ โดยปกติปลาตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ ออกลูกเป็นตัว โดยไข่พัฒนาอยู่ในลำตัวแม่ เป็นปลาที่พบได้น้อย และมีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ ได้ถูกพบเห็นบ้างโดยนักดำน้ำที่บริเวณหมู่เกาะสิมิลัน  ขนาดโตเต็มที่อาจมีขนาดได้ถึง 3 เมตร หนักกว่า 200 กิโลกรัม
 
การปรากฏตัวอีกครั้งของปลาโรนันที่ทะเลจะนะ หลังจากชุมชนชายฝั่งได้พยายามอนุรักษ์ และฟื้นฟูทะเลหน้าบ้านของพวกเขามาอย่างยาวนาน จนตัวชี้วัดแห่งความอุดมสมบูรณ์แห่งท้องทะเล ไม่ว่าเต่าทะเลกลับมาขึ้นวางไข่บนชายหาดที่มีความยาวไม่น้อยกว่า 19 กิโลเมตร มีฝูงโลมาเป็นฝูงๆ กลับเข้ามาในพื้นที่ใกล้ฝั่ง
 
ในขณะเดียวกัน การเข้ามาของโครงการขนาดใหญ่ที่ถูกกำหนดไว้ในแผนการใช้เงินกู้ 2 ล้านล้าน ของรัฐบาลที่จะกำหนดให้พื้นที่ทะเลจะนะเป็นพื้นที่ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก 2 ที่เชื่อมต่อกับโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของโครงการสะพานเศรษฐกิจ (Land Bridge) ที่ประกอบด้วย ท่าเรือน้ำลึก รถไฟรางคู่ ท่อส่งน้ำมัน พื้นที่เก็บตู้คอนเทนเนอร์ และพื้นที่ก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมทั้งสองฝั่ง
 
ชุมชนประมงทั้งฝั่งอันดามัน และในพื้นที่ทะเลจะนะอาจจะหายไป รวมทั้งปลาโรนัน ซึ่งจะต้องหายหน้าไปอีกครั้ง และอาจจะหายหน้าตลอดไป
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น