xs
xsm
sm
md
lg

หรือพี่น้องจะต้องเสียสละ...จะต้องย้ายถิ่นฐานกันอีกครั้ง / บรรจง นะแส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์ : ฝ่าเกลียวคลื่น
โดย...บรรจง นะแส
 
เสาร์ที่ผ่านมา คุณณาตยา แวววีรคุปต์ ผู้ดำเนินรายการ “เวทีสาธารณะ” และ “เสียงประชาชน เปลี่ยนประเทศไทย” จากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้ยกกองถ่ายลงมาที่ชายหาดบ้านสวนกง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา รายการนี้คงทำให้พี่น้องร่วมชาติจำนวนหนึ่งที่จะได้ชมรายการ และได้รับรู้ว่า ชุมชนประมงชายฝั่งในพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ที่เคยผ่านการต่อสู้เพื่อการรักษาสิทธิของชุมชนในกรณีโรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซไทยมาเลย์มาเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว บาดแผลของพวกเขาทั้งในจิตใจ และแผลเป็นจากการถูกทำร้ายทุบตี รอยตะเข็บบนเนื้อจากบาดแผลยังปรากฏอยู่ทั่วไป บางคนก็บนแขนขา หลายคนมีรอยแผลเป็นอยู่บนศีรษะ วันนี้พวกเขากำลังอยู่ในความกังวลว่า โครงการสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 ที่เชื่อมต่อจากโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ในพื้นที่อำเภอละงู จังหวัดสตูล หรือที่เรียกกันว่าโครงการสะพานเศรษฐกิจ (Land Bridge) อันเป็นเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาลที่ระบุไว้ในแผนการกู้เงิน 2 ล้านล้านนั้น อาจจะส่งผลให้พวกเขา ชุมชน/อาชีพของพวกเขาจะต้องหายไป และพวกเขาจะต้องเป็นฝ่ายที่จะต้องเสียสละ...จะต้องย้ายถิ่นฐานกันอีกครั้ง
 
คุณกิตติภพ สุทธิสว่าง ผู้ซึ่งเป็นคนอำเภอจะนะ และมีครอบครัวอยู่ที่นั่น เคยร่วมต่อสู้กับพี่น้องในการลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของชุมชนในกรณีโรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซไทยมาเลย์ร่วมกับพี่น้อง เป็นผู้หนึ่งที่มีบาดแผลจากการถูกสลายการชุมนุมจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในวันแสนโหดร้ายเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2545 ที่บนสะพานทางเข้าโรงแรมเจบีหาดใหญ่ เขาถูกตี ถูกกระชากลากถูไปบนท้องถนน และสุดท้ายสิ้นอิสรภาพต้องเข้าไปนอนในคุกร่วมกับพี่น้อง วันนี้แม้คดีความจะสิ้นสุดลง และศาลได้พิพากษาว่าพวกเขาไม่มีความผิด ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นฝ่ายผิดที่ละเมิด และใช้กำลังสลายการชุมนุมตามสิทธิที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ก็หามีประโยชน์อะไรมากนักกับการลงทุนลงแรงเข้าขัดขวางโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ เพราะถึงที่สุดแล้ว ถึงวันนี้โครงการอัปยศที่ส่งผลร้ายต่อชุมชน และละเมิดหลักการทางศาสนา (กรณีที่ดินวะกั๊ฟ) ก็สามารถดำเนินไปได้
 
วันนี้ คุณกิตติภพ สุทธิสว่าง ยังทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติเพื่อชุมชนเขาเล่าให้พวกเราได้ฟังว่า “กว่าจะเป็นอ่าวจะนะที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์สัตว์น้ำอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้น ย้อนไปเมื่อ 20 กว่าปีแล้ว ที่ชาวประมงพื้นบ้านในอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งประสบปัญหาความเสื่อมโทรม และการลดลงของทรัพยากรสัตว์น้ำ อันสืบเนื่องมาจากปัญหาจากการทำการประมงของเครื่องมือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ของนายทุน และนักการเมือง เช่น เรืออวนลากคู่ อวนลากขนาดใหญ่ เรือปั่นไฟปลากะตัก และโป๊ะของนายทุนที่มาจากจังหวัดสตูล เข้ามารุกล้ำพื้นที่ทำกินของชาวประมงพื้นบ้านอำเภอจะนะ เป็นเหตุให้เกิดปัญหาตามมามากมายในการประกอบอาชีพทำประมงชายฝั่ง ชาวประมงต้องเลิกอาชีพ ย้ายถิ่นฐานไปประกอบอาชีพอื่น สุดท้ายก็ไปไม่รอด อาชีพอื่นๆ ไม่สามารถเลี้ยงดูครอบครัวของพวกเขาได้ ส่งผลกระทบต่อชุมชน และครอบครัวทางด้านเศรษฐกิจ และสังคมเป็นอย่างมาก”
 
“การแก้ไขปัญหาของชาวบ้านชายฝั่งทะเลอำเภอจะนะ ซึ่งประกอบด้วย ชาวประมงในพื้นที่ 3 ตำบลคือ ตำบลสะกอม ตำบลตลิ่งชัน และตำบลนาทับ ได้มีการรวมตัวกันในนามชมรมชาวประมงพื้นบ้าน อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา โดยมีนโยบายในการแก้ไขปัญหาคือ 1.ผลักดันประสานงานกับกรมประมงแก้ไขปัญหาเครื่องมือทำลายลายล้างสัตว์น้ำวัยอ่อนในเขต 3,000 เมตร 2.อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล เช่น อูหยำ (ปะการังเทียม) โดยชาวบ้าน และกรมประมง 3.การส่งเสริมอาชีพให้แก่ชาวประมงพื้นบ้าน เช่น การจัดตั้งกลุ่มกะปิ กลุ่มแม่บ้านทำอาหาร กลุ่มปลูกผักสวนครัว  4.การเสริมสร้างองค์กรชุมชนให้มีความเข้มแข็งเพื่อปกป้องทรัพยากรทางทะเล 5.การสร้างจิตสำนึกให้เด็กและเยาวชนในการอนุรักษ์ และรักอาชีพประมง”
 
“จากทิศทาง และการทำงานก่อให้เกิดขวัญ และกำลังใจในการทำงาน รวมทั้งเกิดความร่วมไม้ร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาของภาครัฐ ภาคเอกชน และชาวประมง ทำให้ทรัพยากรทางทะเลของอำเภอจะนะสมบูรณ์ขึ้น มีรูปธรรมที่ชัดเจน ดังจะเห็นได้จากกรณีบ้านสวนกง ตำบลนาทับ ที่มีความพยายามในการอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรทั้งทางบกและทางทะเลอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2538 ทำให้ชาวสวนกงที่เคยอพยพไปหากินยังต่างถิ่นสามารถกลับมาหากินในบ้านของตัวเองได้ สามารถทำมาหากินจนมีรายได้เลี้ยงครอบครัว อีกทั้งยังส่งไปขายยังชุมชนอื่นได้ทั้งในจังหวัดสงขลา และจังหวัดใกล้เคียง และที่สำคัญคือ สามารถส่งออกไปขายยังต่างประเทศอย่างมาเลเซียได้”
 
เขาบอกพวกเราว่า “บทเรียนสำคัญที่ได้รับจากการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรของชาวบ้านสวนกงที่ทำให้ประสบความสำเร็จ คือ การสร้างงาน การสร้างคุณค่า สร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์และฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง เช่นการทำปะการังเทียม (อูหยำ) การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ และการควบคุมดูแลชาวประมงไม่ให้ทำลายสัตว์น้ำวัยอ่อนในเขตอนุรักษ์ ทำให้เห็นได้ว่าการพัฒนาที่สอดคล้องกับฐานทรัพยากรธรรมชาติ ศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม และภูมิปัญญาของชุมชน สามารถตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจของชุมชน ตอบโจทย์สังคมการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ตอบโจทย์การพัฒนาที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และยังสะท้อนให้เห็นเป็นตัวอย่างว่ากลุ่มชาวประมงพื้นบ้านที่หัวใจเป็นนักอนุรักษ์ และฟื้นฟูทะเลอย่างชาวประมงบ้านสวนกงที่รวมตัวกันฝ่าฟันวิกฤตชาติ ฝ่าฟันปัญหาต่างๆอย่างต่อเนื่อง”
 
หาดทรายขาวสะอาดยาวประมาณ 19 กิโลเมตร ทอดยาวจากเหนือสู่ใต้ครอบคลุมพื้นที่ตำบลสะกอม ตำบลตะหลิ่งชัน จด ตำบลนาทับ  มีชุมชนประมงชายฝั่งสอดแทรกอยู่เป็นหย่อมๆ มีเรือประมงชาวที่ทำการประมงชายฝั่งกว่า 800 ลำ นั่นหมายความว่าพื้นที่ทะเลจะนะสามารถรองรับอาชีพให้แก่ผู้คนหลายหมื่นคนให้มีอาชีพ มีรายได้ และมีอาหารทะเลป้อนตลาดทั้งในท้องถิ่น และใกล้เคียง ถึงวันนี้ ชุมชนประมงชายฝั่ง พื้นที่ทำการประมง ชายหาดที่สะอาดสวยงามสุดลูกหูลูกตา กำลังถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่สร้างท่าเรือน้ำลึก พื้นที่ของชุมชนถูกกำหนดให้เป็นเขตอุตสาหกรรม คลังน้ำมัน ฯลฯ เพื่อตอบสนองการพัฒนาประเทศในทิศทางที่ฝ่ายทุนเป็นผู้กำหนด และตอบสนองแต่เป้าหมายของพวกเขาเป็นหลัก
 
การลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของอาชีพ และชุมชนก็จะถูกกล่าวหาว่าขัดขวางการพัฒนา และเห็นแก่ตัว “หรือพี่น้องจะต้องเสียสละ...จะต้องย้ายถิ่นฐานกันอีกครั้ง”...อีกกี่ครั้งถึงจะพอ ???
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น