xs
xsm
sm
md
lg

“จะนะ” ไม่แพ้! ชูพื้นที่แหล่งผลิตอาหารเป็นแรงต้าน “ท่าเรือน้ำลึก”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชายหาดบ้านสวนกงที่รัฐบาลจะใช้เป็นสถานที่ก่อสร้าง ท่าเรือน้ำลึกสงขลา แห่งที่ 2
 
หลังจากที่แผนเมกะโปรเจกต์ภาคใต้ถูกรื้อขึ้นมาใหม่อีกครั้งโดยรัฐบาลพรรคเพื่อไทย นำโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานรองรับการปรับเปลี่ยนพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลของภาคใต้ทั้งฝั่งอ่าวไทย และอันดามันให้เป็นแหล่งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ก็ฟื้นคืนชีพมารอเขมือบทะเลไทยอีกครั้งด้วย

โดยมีแลนด์บริดจ์ คือ “รถไฟรางคู่” เชื่อมต่อทะเลทั้ง 2 ฝั่งเข้าด้วยกัน ซึ่งปลายทางของแต่ละฝั่งจะสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกขึ้น เพื่อให้เรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่เข้ามาจอดเทียบท่าได้ โดยไม่แยแสวิถีชีวิตคนในพื้นที่นั้นๆ โดยเฉพาะอาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับทะเล และทรัพยากรสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ของคนในพื้นที่ว่าจะล่มสลายไปอย่างไร

ในขณะที่พี่น้องชาวสตูลเคลื่อนไหวคัดค้าน “ท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา” ซึ่งถูกกำหนดให้สร้างขึ้นที่ริมชายฝั่งอันดามัน บริเวณบ้านปากบารา ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวไม่ใช่แค่เป็นแหล่งประมงหล่อเลี้ยงคนกินปลา กินอาหารทะเลทั้งหลายเท่านั้น แต่ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่สวยงามขึ้นชื่อ เช่น เกาะไข่ เกาะตะรุเตา เกาะหลีเป๊ะ และแนวปะการังเจ็ดสี ตลอดจนสัตว์ทะเลนานาชนิด รวมทั้งอาชีพที่ต่อเนื่องกับการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบนี้ไปด้วย

ในพื้นที่ฝั่งอ่าวไทย ที่ จ.สงขลา ชาวจะนะซึ่งยังไม่หายบอบช้ำจากการต่อสู้เพื่อคัดค้านโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย และโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่กำลังผลิตกว่า 700 เมกะวัตต์ ก็รวมตัวคัดค้าน “ท่าเทียบเรือน้ำลึกสงขลา แห่งที่ 2” ซึ่งถูกกำหนดให้สร้างขึ้นที่ชายหาดบ้านสวนกง ต.ตลิ่งชัน อ.จะนะ เช่นกัน
นิทรรศการศิลปะเล่าเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของทะเลจะนะ โดยศิลปินกลุ่ม South Free Art
 
ทั้งนี้ ในรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA (Environmental impact assessment) ของโครงการท่าเทียบเรือน้ำลึกสงขลา แห่งที่ 2 (บ้านสวนกง) ระบุว่า ชายหาดสวนกงเป็นทะเลร้าง มีปลาเพียง 2 ชนิด คือ ปลาแป้น และปลาหลังเขียว และมีเรือประมงเพียงไม่กี่ลำ ซึ่งขัดกับความเป็นจริงอย่างเห็นได้ชัด ชาวบ้านจึงรวมตัวกันลุกขึ้นมาศึกษาผลกระทบ และจัดทำ HIA (Health Impact Assessment) โดยชุมชนขึ้น เพื่อยืนยันว่าชายหาดแห่งนี้อุดมสมบูรณ์ เป็นพื้นที่แหล่งอาหารที่หล่อเลี้ยงชีวิตคนกินปลาเกือบทั้งประเทศ และไม่เหมาะที่จะถูกย่ำยีทำลายด้วยการใช้วาทกรรม “การพัฒนา” ซึ่งไม่สอดคล้องกับวิถีชุมชน ซ้ำรอยโรงแยกก๊าซไทย-มาเลย์ และโรงไฟฟ้าจะนะอีก

นี่คือที่มาของงาน “อะโบ๊ยหมะ! เลจะนะหรอยจ้าน” เวทีเปิดข้อมูลความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลจะนะให้สาธารณชนรับรู้อย่างเป็นทางการ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่ริมชายหาดสวนกง ต.ตลิ่งชัน อ.จะนะ จ.สงขลา ชายหาดที่ถูกกำหนดชะตาให้เป็นที่ตั้งท่าเทียบเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทย ในแผนแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล

 
งานจัดขึ้นอย่างเรียบง่ายบนเนินทรายริมชายหาด โดยมี นายพิรสิญจน์ พันธุ์เพ็ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานเปิดงาน และมีตัวแทนภาครัฐอีกหลายหน่วยงานเข้าร่วมงาน พร้อมลงชื่อในปฏิญญาภาคีเครือข่ายรักษ์ทะเลจะนะ เพื่อปกป้องพื้นที่ผลิตอาหารทะเลจะนะให้เป็นแหล่งผลิตอาหารของภูมิภาคอาเซียน

โดยสมาชิกภาคีเครือข่ายฯ ได้แก่ เครือข่ายรักษ์ทะเลจะนะ กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทะเลชายฝั่งทะเลบ้านสวนกง ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เทศบาลตำบลนาทับ องค์การบริหารส่วนตำบลสะกอม องค์การบริหารส่วนตำบลตลิ่งชัน ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 (สงขลา) โรงพยาบาลจะนะ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ มูลนิธินิติธรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม สมาคมรักษ์ทะเลไทย ศิลปินกลุ่ม South Free Art กลุ่มเด็กคิด กลุ่มมานีมานะ กลุ่มมะนาวหวาน และศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติเพื่อชุมชน

นายพิรสิญจน์ พันธุ์เพ็ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา

 
สำหรับปฏิญญา “อนุรักษ์แหล่งอาหารทะเลจะนะ” เพื่อให้เป็นแหล่งอาหารของภูมิภาคอาเซียน ระบุใจความสำคัญไว้ ดังนี้

1.ภาคีเครือข่ายรักษ์ทะเลจะนะ จะประสานความร่วมมือในการสร้างคุณค่าทะเลจะนะสู่สาธารณะ

2.ภาคีเครือข่ายรักษ์ทะเลจะนะ จะประสานความร่วมมือในการอนุรักษ์ และฟื้นฟู ทรัพยากรทางทะเลบริเวณชายฝั่ง อ.จะนะ เพื่อเป็นแหล่งผลิตอาหารของภูมิภาคอาเซียน โดยการสร้างกลไกการทำงานร่วมกันระหว่างภาคเครือข่าย

3.ภาคีเครือข่ายจะนะ ร่วมผลักดันนโยบายระดับพื้นที่ เช่น ข้อบัญญัติท้องถิ่น และการประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมตาม พ.ร.บ.คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ปี พ.ศ.2535

4.การรักษาทะเลจะนะ ถือเป็นภารกิจร่วมกันของจังหวัดสงขลา ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 (สงขลา) ประมงอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาชน
ภาคีเครือข่ายรักษ์ทะเลจะนะร่วมปล่อยเต่าตนุลงสู่ทะเล
 
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดเวทีสาธารณะหัวข้อ “ทะเลคือชีวิต” เปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านในท้องถิ่นได้ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนข้อมูลยืนยันความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลจะนะให้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องทราบ โดยมีนายพิรสิญจน์ พันธุ์เพ็ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาทับ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ผู้นำศาสนา นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย และตัวแทนหน่วยงานต่างๆ ในภาคีเครือข่ายรักษ์ทะเลจะนะร่วมวงสนทนา ซึ่งดำเนินรายการโดย น.ส.ณาตยา แวววีรคุปต์ จากโทรทัศน์ช่องไทยพีบีเอส

 
“ทะเลจะนะ” แหล่งผลิตอาหารของคนกินปลา ห่วงโซ่ชีวิตของคนท้องถิ่น

จากกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสุขภาพระดับชุมชน ชายฝั่งทะเลจะนะ พบว่า อ.จะนะ มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลใน 3 ตำบล ได้แก่ ต.นาทับ ต.ตลิ่งชัน และ ต.สะกอม มีพันธุ์สัตว์น้ำที่หลากหลาย และมีคุณค่าทางเศรษฐกิจรวม 144 ชนิด มีสัตว์ที่ยืนยันความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ คือ โลมา เต่า และสัตว์อื่นๆ กว่า 38 ชนิด โดยมีการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลอย่างต่อเนื่อง ทั้งการทำ “อูหยำ” หรือปะการังเทียมจากภูมิปัญญาชาวบ้าน รวมทั้งการทำความสะอาดปะการัง และการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ จึงมีศักยภาพเป็นแหล่งผลติอาหารทะเลที่สำคัญของ จ.สงขลา โดยสามารถส่งอาหารทะเลหล่อเลี้ยงคนทั้ง จ.สงขลา และส่งไปยังจังหวัดต่างๆ เช่น ปัตตานี ยะลา นราธิวาส นครศรีธรรมราช สตูล ภูเก็ต ลพบุรี และกรุงเทพฯ นอกจากนี้ ยังส่งไปขายยังต่างประเทศ เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และมาเลเซีย อีกด้วย
ส่วนหนึ่งจากนิทรรศการแสดงภาพพันธุ์สัตว์น้ำที่พบในทะเลจะนะ
 
ในทางเศรษฐกิจ ทะเลจะนะสามารถสร้างรายได้ให้แก่เจ้าของเรือประมงเฉลี่ยวันละ 1,000 บาท และยังทำให้เกิดเส้นทางเศรษฐกิจชุมชน มีอาชีพต่อเนื่องตามมาอีก คือ มีผู้ประกอบการรับซื้ออาหารทะเลเพื่อส่งขายให้แก่พ่อค้าคนกลาง หรือแพในจังหวัด จำนวน 15 ราย มีแพชุมชนที่รับซื้อสินค้า จำนวน 6 แพ มีแม่ค้ารายย่อยรับซื้อสินค้าในตลาดท้องถิ่น จำนวนกว่า 115 ราย ทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในชุมชน โดยรวมมูลค่าทางเศรษฐกิจเฉพาะกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับสัตว์ทะเล (คำนวณจากรายได้ต่ำสุดต่อวัน) รวมวันละ 1,161,600 บาท หรือเฉลี่ยรายเดือน (คิดจำนวน 20 วันต่อเดือน) เป็นเงิน 23,232,000 บาท มูลค่าทางเศรษฐกิจต่อปี (คิดจากจำนวน 10 เดือน) สูงถึง 232,320,000 บาท

และยังมีการจ้างงานอีกกว่า 970 ราย รายได้โดยเฉลี่ยขั้นต่ำวันละ 300 บาท ในแต่ละวันจะมีเงินหมุนเวียนสำหรับค่าแรงงาน 282,900 บาท ปีละ 56,580,000 บาท
ทะเลคือชีวิต
 
“ทะเลคือชีวิต”

เมื่อชีวิตผูกโยงอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรในทะเล ความกินดีอยู่ดีของคนในพื้นที่ขึ้นอยู่กับปริมาณกุ้ง หอย ปู ปลา เป็นสำคัญ พี่น้องชาวจะนะจึงลุกขึ้นมาเป็นโต้โผใหญ่ออกโรงรักษาทะเลจะนะให้ปลอดภัยจากเงื้อมมือปีศาจในนามวาทกรรม “การพัฒนา” ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ใช่แค่คนท้องถิ่น หรือผู้มีอาชีพประมงเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบ แต่คนกินปลา คนบริโภคอาหารทะเล เรื่อยไปจนถึงแพปลา ร้านอาหาร หรือแม้แต่โรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ ก็จะได้รับผลกระทบต่อเนื่องกันไปเป็นโดมิโนแทบทั้งสิ้น

“ทะเลจะนะอุดมสมบูรณ์มาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ เราทำอาชีพประมงกันมาช้านาน และทะเลก็อุดมสมบูรณแบบนี้มาโดยตลอด ถ้าท่าเรือน้ำลึกเกิดขึ้นที่ชายหาดสวนกง ไม่ใช่ชาวสวนกงที่เดือดร้อน แต่ทะเลไล่มาตั้งแต่ทะเลทะเลสาบสงขลา เรื่อยไปจนถึง อ.เทพา ก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย” ลุงหวัง ชายชราอายุกว่า 70 ปี กล่าวในเวทีเสวนา

 
สอดคล้องกับคำพูดของบังหมาน ชาวประมงพื้นบ้านที่บอกว่า หลังจากชาวบ้านร่วมตัวกันทำ “อูหยำ” หรือปะการังเทียมด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น ท้องทะเลก็กลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง จากเดิมที่ทะเลจะนะถูกทำลายด้วยเรือประมงพาณิชย์จนเสื่อมโทรม เป็นเหตุให้ชาวประมงต้องหันเหไปทำอาชีพอื่นนอกพื้นที่ “ทอดแหริมชายฝั่งไม่ต้องออกเรือไปไกล ได้ปลากระบอก ขายวันละ 200-300 บาท” บังหมาน ยืนยัน

นอกจากนี้ ชาวบ้านอีกส่วนหนึ่งก็ยังบอกเล่าว่า ในแต่ละวันเขาใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงออกเรือทำประมงในทะเล มีรายได้เฉลี่ยวันละ 3,000-4,000 บาท การปกป้องท้องทะเลไม่ให้มีสิ่งแปลกปลอมในนาม “ท่าเรือน้ำลึก” รุกคืบเข้ามาทำลายจึงเปรียบได้กับการต่อสู้เพื่อปกป้องหม้อข้าวหม้อแกง

 
“จะนะ” ไม่แพ้! ทะเลไม่แพ้... ถ้ารัฐพูด “ความจริง”

ความบอบช้ำจากโครงการก่อสร้างโรงแยกก๊าซไทย-มาเลย์ และโรงไฟฟ้าจะนะ ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่เรียนรู้ที่จะตรวจสอบข้อมูลจริงก่อนปักใจเชื่อเช่นทุกครั้ง และดูเหมือนว่า “รัฐ” จะไม่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจอีกต่อไป ถ้ายังเลือกปิดหูปิดตาคนในท้องถิ่นด้วยการเปิดเผยข้อมูลด้านเดียว ชนิดอ้างวาทกรรมการพัฒนา และบีบคอคนในพื้นที่ให้กลายเป็นผู้ร้ายขัดขวางการพัฒนาของประเทศชาติ

“ถ้าชาวบ้านไม่แพ้ ทะเลก็ไม่แพ้ จะนะก็ไม่แพ้ ที่ผ่านมา รัฐบาลไม่ได้พูดความจริงต่อประชาชน ตอนที่สร้างโรงแยกก๊าซไทย-มาเลย์ นายทุนมาบอกเราว่าโรงแยกก๊าซดี ไม่มีผลกระทบต่อชาวบ้าน แต่ไม่เป็นความจริงสักอย่าง เจ้าหน้าที่ TTM (บริษัท ทรานส์ ไทย-มาเลเซีย (ประเทศไทย)) เคยบอกชาวบ้านป่างาม ชาวตลิ่งชัน ว่า ต่อไปจะไม่ต้องใช้แก๊สราคาแพง จะเดินท่อส่งแก๊สเข้าบ้าน เปิดวาล์วแก๊สปุ๊บ ทำกับข้าวได้ทันที แต่จนถึงทุกวันนี้ชาวบ้านก็ยังใช้แก๊สราคาแพงเหมือนเดิม! อยากให้หน่วยงานรัฐพูดความจริงกับชาวบ้านเสียที” หนุ่มใหญ่ชาวจะนะพูดขึ้นในวงเสวนา เรียกเสียงตบมือโห่ร้องชอบใจจากชาวบ้านได้เกรียวกราว

สอดคล้องกับคำพูดของนายอดิเรก หมัดหมาน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาทับ ที่ยืนยันชัดเจนว่า อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมเจ้าท่า มาชี้แจงข้อมูลให้ประชาชนทราบ และให้ประชาชนเจ้าของพื้นที่เป็นคนตัดสินใจเองว่าจะเอาหรือไม่ เพราะท้ายที่สุดแล้วประชาชนในพื้นที่คือคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง

“รัฐต้องมาพูดความจริงกับประชาชน ว่าถ้ามีท่าเรือน้ำลึกเกิดขึ้นที่บ้านสวนกง พี่น้องที่นี่จะได้หรือเสียผลประโยชน์อย่างไรบ้าง และถ้าจะต้องบังคับใช้กฎหมายท้องถิ่นเพื่อรักษาผลประโยชน์ของพี่น้อง ผมก็พร้อมที่จะทำ ตอนนี้หน่วยงานราชการในพื้นที่ยังไม่มีการประสานงาน และบูรณาการกันเท่าที่ควร ผมในฐานะคนกลางก็จะประสานงานระหว่างประชาชนกับรัฐ” นายก อบต.นาทับ กล่าว

 
ในขณะเดียวกัน นายพิรสิญจน์ พันธุ์เพ็ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ก็ให้คำตอบแบบแบ่งรับแบ่งสู้ว่า ในยุทธศาสตร์การพัฒนา จ.สงขลา นั้น ทางจังหวัดพยายามส่งเสริมกิจกรรมการอนุรักษ์และฟื้นฟูทะเลโดยการวางปะการังเทียม ทั้งนี้ ในยุทธศาสตร์ระดับประเทศที่จะใช้พื้นที่บ้านสวนกงเป็นท่าเรือน้ำลึกนั้น ตนมองว่าสำหรับการพัฒนาดังกล่าวต้องมีการสูญเสียทรัพยากรทั้งทางบก และทางทะเล และต้องมาคำนวณว่าจะทดแทนสิ่งที่เสียหายเหล่านี้ไปอย่างไร ซึ่งอย่างไรก็ตาม จะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องนี้ด้วย

“ผู้ที่เป็นเจ้าของโครงการจะต้องให้ข้อมูลที่แท้จริงต่อประชาชน และประชาชนเองก็ต้องให้ข้อมูลที่แท้จริงต่อภาครัฐด้วย เราปฏิเสธการพัฒนาไม่ได้ แต่การพัฒนาจะต้องเกิดประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ใช่ฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์ และอีกฝ่ายเสียประโยชน์อย่างมหาศาล” นายพิรสิญจน์ แสดงความคิดเห็น

ทั้งหมดทั้งมวลจึงจบลงด้วยคำถามที่ว่า... 

ทุกวันนี้รัฐบาลพูด “ความจริง” ต่อประชาชนแล้วหรือยัง?

และรัฐบาลเงี่ยหูฟัง “ความจริง” จากปากประชาชนบ้างไหม?

หรือเพียงแค่ปล่อยให้เสียงเล็กๆ ของคนท้องถิ่นในฐานะผู้ได้รับผลเสีย ผ่านหูซ้ายทะลุหูขวา เพียงเพราะ “ผลประโยชน์” บางอย่างเป็นเรื่องจริงที่ “พูดไม่ได้” ?!!!
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น