“ต้องทำใจครับ....เพราะเจ้าโรนันมันโดนแล่ขายเป็นแพ็กในห้างทั่วไป....เขากินกันมานานแล้วครับเพราะมันอร่อย....ผมชื้อกินเป็นประจำ....ผัดฉ่าสุดยอด” เป็นเรื่องราวที่คุยกันในเว็บไซต์ในหมู่คนกินปลา นอกจากนั้นยังมีการพูดถึงส่วนประกอบของเครื่องประดับ “หัวปลากระเบนนั้น เป็นกระดูกส่วนหลังหัวที่ยื่นออกมาจากหลัง ปลาโรนัน (โรนิน) หรือกระเบนท้องน้ำ บางคนก็เรียก คดกระเบน มักจะนำมาทำหัวแหวน เครื่องรางที่ทำจากปลากระเบน ตามความเชื่อของไทย เชื่อว่าสามารถป้องกันสิ่งที่ไม่ดีที่เกิดจากทางน้ำได้ และยังเป็นมหาอุตต์ป้องกันอันตรายจากศาสตร์เร้นลับ
นอกจากนั้นชาวจีนเชื่อถือกันว่า ปลากระเบน “เป็นของช่วยเสริมโชคลาง” ทำให้เงินทองไหลมาเทมา ดังสุภาษิตจีนว่า “เนี่ยน เนี่ยน หยิ่ว อี๋” ใช้แล้วเงินเหลือ จะนำความโชคดี และสร้างความร่ำรวยให้กับผู้ที่ใช้ ครอบครอง ปลาโรนันจึงถูกไล่ล่าจนแทบจะหมดไปจากท้องทะเลไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ฝั่งอ่าวไทยที่มีพื้นที่หลบซ่อนและขยายพันธุ์น้อยกว่าทะเลฝั่งอันดามัน
ชุมชนประมงชายฝั่งอ่าวไทยส่วนใหญ่พูดตรงกันว่าปลาโรนันได้หายไปจากท้องทะเลมาแล้วไม่ต่ำกว่า 30 ปี การปรากฏตัวของปลาโรนันในพื้นที่ทะเลจะนะ จังหวัดสงขลา เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาจึงสร้างความตื่นเต้นดีใจให้กับผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนเป็นอย่างยิ่ง หลังจากที่มีปรากฏการณ์มีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ที่ชายหาด เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เคยมีและห่างหายไปจากพื้นที่มาแล้วไม่ต่ำกว่า 20 ปี เป็นการสร้างความเชื่อมั่นและเป็นการตอกย้ำให้ชุมชนมีความมั่นใจมากยิ่งขึ้นว่า แนวทางการฟื้นฟูอนุรักษ์พื้นที่ชายฝั่งของชุมชนนั้น มีความสำคัญต่อความอยู่รอดของพวกเขาในแง่ของอาชีพและรายได้ที่จะหล่อเลี้ยงให้ครอบครัวและชุมชนอยู่รอดได้อย่างแน่นอน ทะเลจะนะอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นอำเภอเล็กๆ ที่มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล 3 ตำบลได้แก่ ต.นาทับ ต.ตลิ่งชัน และ ต.สะกอม ทะเลจะนะแม้จะไม่เป็นที่รู้จักในนามของสถานที่ท่องเที่ยวเหมือนเช่นทะเลที่อื่น แต่ที่นี่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรในทะเล เนื่องจากมีการอนุรักษ์และฟื้นฟูทะเลอย่างต่อเนื่อง โดยวิธีการต่างๆ เช่น การทำอูหยำ หรือปะการังเทียม เป็นการสร้างบ้านให้สัตว์น้ำ มีการทำความสะอาดปะการัง และการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ทะเลจะนะในวันนี้จึงกลายเป็นแหล่งผลิตอาหารทางทะเลที่สำคัญอีกพื้นที่หนึ่งในจังหวัดสงขลา
การจัดทำและรวบรวมข้อมูลของเครือข่ายรักษ์ทะเลจะนะในพื้นที่ 3 ตำบล 8 หมู่บ้านพบว่า หลังจากที่ชุมชนได้กลับมาฟื้นฟูทะเล ช่วยกันขับไล่เครื่องมือประมงแบบทำลายล้างอย่างเรืออวนลาก อวนรุนไปพ้นเขตทะเลหน้าชุมชนของพวกเขา ทำให้ที่นี่มีพันธุ์สัตว์น้ำที่หลากหลาย มีปลาที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 144 ชนิด สัตว์น้ำที่หายากอย่างโลมา เต่าทะเล และสัตว์อื่นๆ กลับมามีพบในพื้นที่กว่า 38 ชนิด การทำประมงชายฝั่งสามารถสร้างรายได้ให้กับเจ้าของเรือเฉลี่ยวันละ 1,000 บาท และทำให้เกิดเศรษฐกิจชุมชนที่ต่อเนื่องตามมาคือมีผู้ประกอบการรับซื้อพันธุ์สัตว์น้ำ 15 ราย เพื่อส่งขายพ่อค้าคนกลางหรือแพในจังหวัด มีแพรับซื้อสัตว์น้ำในชุมชนจำนวน 6 แพ มีแม่ค้ารายย่อยขายสินค้าในตลาดท้องถิ่นจำนวน 115 ราย ก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในชุมชน โดยรวมมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อวันเฉพาะกิจการสัตว์ทะเล 1,161,600 บาท/วัน รวมมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อเดือนเฉพาะกิจการสัตว์ทะเล 23,232,000 บาท/เดือน (ปกติเฉลี่ยการออกทำการประมง 20 วันในหนึ่งเดือน) ซึ่งชี้ให้เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมของผลที่เกิดขึ้นจากการดูแลรักษาทะเลของคนที่มีความสัมพันธ์กับทะเลอย่างแนบแน่นก็คือชาวประมงในพื้นที่
การปรากฏตัวอีกครั้งของปลาโรนันในรอบ 30 ปี จึงเป็นการตอกย้ำว่าความอุดมสมบูรณ์ของทะเลจะนะ จึงเป็นเรื่องที่ควรได้รับความสนใจ ด้วยโรนันที่ชุมชนประมงชายฝั่งเคยรับรู้ว่าเคยมีแต่หายไปนานมาก เยาวชนและคนทั่วๆ ไปรู้จักน้อยลงทุกวัน ผู้เขียนเองก็ยอมรับว่าแม้จะทำงานกับชาวประมงชายฝั่งมานานก็เพิ่งจะได้ยินชื่อและเห็นตัวจริงของโรนัน เลยค้นคว้าเร็วๆ จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี เพื่อมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับผู้อ่าน จากการค้นคร่าวๆ ก็พบว่าปลาโรนัน (Ronan, Guitarfish) เป็นปลากระดูกอ่อนจำพวกหนึ่ง อยู่ในวงศ์ที่เรียกว่า Rhinobatidae ชอบอาศัยอยู่ในทะเลหรือปากแม่น้ำที่ติดกับทะเล มีพบในแหล่งน้ำจืดบ้างแต่ก็ไม่มากนัก มีรูปร่างคล้ายปลาฉลามแต่มีส่วนหัวแบนแหลมเหมือนปลากระเบน ซึ่งมีทั้งหมด 10 สกุล 45 ชนิด พบในเขตน้ำอุ่นทั่วโลก ทั้งทวีปอเมริกาเหนือ, ทวีปแอฟริกา, เอเชียและออสเตรเลียทางตอนเหนือ โดยปกติปลาตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ ออกลูกเป็นตัว โดยไข่พัฒนาอยู่ในลำตัวแม่ เป็นปลาที่พบได้น้อยและมีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ ได้ถูกพบเห็นบ้างโดยนักดำน้ำที่บริเวณหมู่เกาะสิมิลัน ขนาดโตเต็มที่อาจมีขนาดได้ถึง 3 เมตร หนักกว่า 200 กิโลกรัม
การปรากฏตัวอีกครั้งของปลาโรนันที่ทะเลจะนะ หลังจากชุมชนชายฝั่งได้พยายามอนุรักษ์และฟื้นฟูทะเลหน้าบ้านของพวกเขามาอย่างยาวนาน จนตัวชี้วัดแห่งความอุดมสมบูรณ์แห่งท้องทะเล ไม่ว่าเต่าทะเลกลับมาขึ้นวางไข่บนชายหาดที่มีความยาวไม่น้อยกว่า 19 กิโลเมตร มีฝูงโลมาเป็นฝูงๆ กลับเข้ามาในพื้นที่ใกล้ฝั่ง ในขณะเดียวกันการเข้ามาของโครงการขนาดใหญ่ที่ถูกกำหนดไว้ในแผนการใช้เงินกู้ 2 ล้านล้านของรัฐบาลที่จะกำหนดให้พื้นที่ทะเลจะนะเป็นพื้นที่ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก 2 ที่เชื่อมต่อกับโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของโครงการสะพานเศรษฐกิจ (Land Bridge) ที่ประกอบด้วยท่าเรือน้ำลึก รถไฟรางคู่ ท่อส่งน้ำมัน พื้นที่เก็บตู้คอนเทนเนอร์และพื้นที่ก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมทั้งสองฝั่ง ชุมชนประมงทั้งฝั่งอันดามันและในพื้นที่ทะเลจะนะอาจจะหายไปรวมทั้งปลาโรนัน ซึ่งจะต้องหายหน้าไปอีกครั้งและอาจจะหายหน้าตลอดไป