ASTVผู้จัดการรายวัน - เอสซีจี เคมิคอลส์เผยไตรมาส 2 สเปรดเม็ดพลาสติกดีขึ้นกว่าไตรมาสแรกเล็กน้อยอยู่ที่ 550-600 เหรียญสหรัฐ/ตัน พร้อมจับตาเศรษฐกิจจีน หวั่นกระทบออเดอร์สินค้า ยันเดินหน้าโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ที่เวียดนาม มั่นใจได้ข้อสรุปเงินกู้ปลายปีนี้
นายชลณัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เคมิคอลส์ ในเครือซิเมนต์ไทย (SCC) เปิดเผยว่า ไตรมาสนี้ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกกับวัตถุดิบ หรือแนฟทา (สเปรด) ดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบจากไตรมาส 1 แต่คงต้องจับตาสถานการณ์เศรษฐกิจของจีนอย่างใกล้ชิด หลังจากดัชนีการจัดซื้อของภาคการผลิตจีนลดลงต่ำกว่าระดับ 50 ทำให้มีการคาดการณ์ว่าภาคการผลิตของจีนกำลังเข้าสู่ภาวการณ์ถดถอย จะมีผลกระทบต่อคำสั่งซื้อสินค้าหรือไม่
“ขณะนี้สเปรดราคาเม็ดพลาสติก HDPE และเม็ดพลาสติก PP อยู่ที่ 550-600 เหรียญสหรัฐ/ตัน ดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนมาก และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของไตรมาสก่อนเล็กน้อย แต่คงต้องดูตลาดจีนเพราะมีอาการน่าเป็นห่วง ซึ่งออเดอร์ขณะนี้ยังมีอยู่ ทำให้สเปรดยืนอยู่ได้ แต่ถ้าจีนหยุดซื้อจะทำให้สเปรดแคบลง”
ปัจจุบันบริษัทฯ ส่งออกเม็ดพลาสติกไปจีนคิดเป็น 20-25% ของปริมาณการผลิตของบริษัทฯ นับเป็นประเทศผู้นำเข้าเม็ดพลาสติกรายใหญ่ในภูมิภาคนี้
นายชลณัฐกล่าวถึงความคืบหน้าโครงการลงทุนปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ มูลค่า 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1.35 แสนล้านบาท ที่เวียดนามว่า บริษัทฯ มั่นใจว่าจะดำเนินการจัดหาแหล่งเงินกู้สำหรับโครงการดังกล่าวได้ในปลายปีนี้ ส่วนกรณีที่ผู้ถือหุ้นเวียดนามรายหนึ่งจะถอนการลงทุนนั้นไม่มีปัญหาเพราะมีสัดส่วนการถือหุ้นเพียง 11% เท่านั้น โดยจะกระจายสัดส่วนหุ้นไปยังผู้ถือหุ้นรายอื่นแทน
ส่วนกรณีที่รัฐบาลเวียดนามเห็นชอบกรอบการศึกษาเบื้องต้นโครงการลงทุนสร้างโรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีครบวงจรที่เมืองบินห์ดินห์ ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มูลค่า 2.87 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 8.6 แสนล้านบาทในประเทศเวียดนามนั้น เนื่องจากเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่เชื่อว่าจะต้องใช้เวลามากในการดำเนินการรายละเอียดทั้งพันธมิตรร่วมทุน แหล่งเงินกู้ ฯลฯ ซึ่งโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ของเอสซีจีเองมูลค่าเงินลงทุน 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ยังใช้เวลาตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันประมาณ 8 ปีกว่าจะคืบหน้าได้ขนาดนี้
โดย ปตท.จะต้องศึกษารายละเอียดความเป็นไปได้ของโครงการ (DETAIL FEASIBILITY STUDY) แล้วเสร็จภายใน 12 เดือน หลังจากนั้นหากรัฐบาลเวียดนามอนุมัติก็จะเดินหน้าโครงการได้เลย ซึ่งโครงการนี้จะสร้างโรงกลั่นน้ำมันขนาด 6.6 แสนบาร์เรล/วัน โรงโอเลฟินส์ 6.5 ล้านตัน/ปี และโรงอะโรเมติกส์ 3.7 ล้านตัน/ ปี
ในโอกาสครบรอบเอสซีจี 100 ปี เอสซีจี เคมิคอลส์ได้เปิดบ้านให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าเยี่ยมชมในกิจกรรม” เปิดบ้าน เอสซีจี เคมิคอลส์ เส้นทางแห่งนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน “โดยแสดงนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่บูรณาการในทุกมิติ ทั้งการจัดการโรงงานเชิงนิเวศ (Eco Factory) การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco Product) และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน เน้นให้ชุมชนดูแลและพึ่งพาตนเอง (Beyond CSR)
โดยปีนี้บริษัทฯ ได้วางงบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนา (R&D) 450 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% จากปีก่อน ในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันบริษัทผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่ม (HVA) คิดเป็น 50% ซึ่งช่วยลดความผันผวนด้านราคาได้เป็นอย่างดี เพราะสินค้า HVA มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงถึง 20% เทียบกับสินค้าเกรดทั่วไปที่มีกำไรขั้นต้นเพียง 5-6% เท่านั้น
โดยเอสซีจี เคมิคอลส์ ได้มีการดูแลจัดการสิ่งแวดล้อมโรงงาน มุ่งเน้นพัฒนาปรับปรุงโรงงานตลอดทั้งซัปพลายเชน โดยแลกเปลี่ยนหรือนำของเสียกลับมาใช้ใหม่ระหว่างโรงงานในเครือเพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยไม่ได้คำนึงถึงผลตอบแทนการลงทุน (IRR) แต่ต้องดีต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน
เช่น การนำความร้อนเหลือทิ้งกลับมาใช้ใหม่ในกระบวนการผลิตเม็ดพลาสติก LDPE ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปีละ 6-7 พันตัน/ปี ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อไอน้ำความดันของโรงงานผลิตเม็ดพลาสติก LDPE ไม่ต่ำกว่าปีละ 12 ล้านบาท โครงการนำกากตะกอนจากระบบบำบัดน้ำเสียชีวภาพไปเป็นอาหารไส้เดือน และนำมูลมาทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ และน้ำปัสสาวะเป็นปุ๋ยน้ำ โดยกากอุตสาหกรรมที่มีปีละ 1.4 หมื่นตันให้ไส้เดือนกินได้ปุ๋ยอินทรีย์ราว 5.6 พันตัน คิดเป็นเงิน 280 ล้านบาท
โครงการนำก๊าซไฮโดรคาร์บอนที่เผาทิ้งในหอเผากลับมาใช้ใหม่เป็นวัตถุดิบในโรงระยองโอเลฟินส์ ช่วยลดการปล่อยสารไฮโดรคาร์บอน รวมทั้งนำน้ำเสียและโซดาไฟจากโรงงานปิโตรเคมีไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเยื่อกระดาษคราฟต์ และโครงการผลิตเม็ดพลาสติกย่อยสลายทางชีวภาพ พัฒนาเม็ดพลาสติกสำหรับผลิตท่อแรงดันสูงเกรด PE ที่ทนแรงดันสูงถึง 100 ปี รีไซเคิลได้ 100% โดยมีน้ำหนักเบากว่าท่อทั่วไป 20% ทำให้ลดการใช้พลังงานในการผลิตอย่างน้อย 40%
ส่วนแนวทางใส่ใจดูแลพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนระยองในระยะยาว ได้แก่ โครงการสร้างฝายชะลอน้ำเขายายดา 5 พันฝาย โครงการหาดงามตา ปลากลับบ้าน คืนปลาสู่ทะเลระยอง โดยนำท่อ PE100 ที่เหลือจากกระบวนการผลิตมาสร้างเป็นที่อยู่อาศัยให้สัตว์น้ำในทะเล เป็นต้น