ก.อุตฯ ฉวยจังหวะน้ำตาลตลาดโลกต่ำ เร่งนำผลศึกษาทีดีอาร์ไอสรุปจัดทำแผนปรับโครงสร้างอุตฯ อ้อยและน้ำตาลทราย หวังเดินหน้าลอยตัวราคาน้ำตาลสิ้นปีนี้ แย้มรูปแบบอาจมีเพดานต่ำสุด-สูงสุด คงระบบ 70:30
นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า เร็วๆ นี้คณะทำงานผลการศึกษาโครงการศึกษาวิจัยแนวทางการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่มีนางอรรชกา สีบุญเรือง รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน จะหารือถึงแนวทางการดำเนินงาน โดยเฉพาะแนวทางการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรมที่ต้องการประกาศใช้ให้ทันฤดูหีบปี 56/57 หรือก่อน พ.ย.นี้
“คงจะนำเอาผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอมาพิจารณาประกอบแนวทาง โดยจะดำเนินงานในส่วนที่ทำได้ก่อน ก็จะพยายามจะให้จบโดยเร็ว ซึ่งทั้งหมดก็ต้องเชิญทั้งฝ่ายชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลทรายมาร่วมกันหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ไปในทิศทางเดียวกัน” นายสมศักดิ์กล่าว
ทั้งนี้ แนวทางการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายนั้นเห็นว่าจำเป็นจะต้องพิจารณาก่อนที่ไทยจะก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ปี 2558 ที่ท้ายสุดระบบราคาจะต้องได้รับการแก้ไขไว้รองรับ โดยเบื้องต้นรูปแบบอาจจะมีการกำหนดเพดานราคาต่ำสุดและสูงสุดไว้และให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) ทำหน้าที่ในการดูแลส่วนต่างเพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้บริโภคและชาวไร่ โดยยังคงระบบแบ่งปันผลผลิตระหว่างชาวไร่กับโรงงาน 70:30 อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำตาลทรายปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์ยังกำหนดให้น้ำตาลเป็นสินค้าควบคุมราคาก็จะต้องพิจารณาประเด็นดังกล่าวด้วย
แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกล่าสุดเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 17 เซ็นต์ต่อปอนด์ และมีแนวโน้มอีก 1-2 ปียังคงทรงตัวเนื่องจากผลผลิตของโลกเริ่มล้นตลาด ประกอบกับเศรษฐกิจโลกชะลอตัวทำให้ความต้องการลดต่ำ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ไทยจะลอยตัวน้ำตาลทรายในช่วงราคาน้ำตาลขาลงมากสุด แต่การปฏิบัติต้องวางแนวทางให้ชัดเจน ซึ่งขณะนี้ทั้งฝ่ายโรงงานและชาวไร่ยังคงคัดค้านการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายตามแนวทางของทีดีอาร์ไอในประเด็นที่ฝ่ายของตนเสียเปรียบ
“ทีดีอาร์ไอเสนอให้ลอยตัวอิงตลาดโลกไปเลยเพราะเกรงว่าการมีเพดานต่ำสุดสูงสุดไว้แล้วจะคุมราคาไม่ให้เกินเพดานได้มากน้อยเพียงใด หรือต้องไม่เกิดการฮั้วราคา แต่โรงงานเสนอให้มีเพดานต่ำสุด-สูงสุดเพื่อลดผลกระทบเมื่อราคาตลาดโลกวิกฤต ซึ่งชาวไร่ก็เห็นด้วยในแนวนี้ ส่วนกองทุนฯ นั้นทางที่ดีอาร์ไอก็ให้เลิกเก็บเงิน 5 บาทต่อกิโลกรัม จากการขึ้นราคาหน้าโรงงานเข้าทั้งหมดแล้วกำหนดมีรายได้จากการจำหน่ายน้ำตาลทรายใหม่ ที่สุดก็ไม่ต่างกันมากนัก” แหล่งข่าวกล่าว
นอกจากนี้ ทีดีอาร์ไอยังกำหนดให้บริษัทอ้อยและน้ำตาลทราย (อนท.) ขายน้ำตาลทรายทั้งดิบและขาวในการทดสอบราคาเพื่อนำมาคำนวณรายได้จากเดิมที่จะไม่นำน้ำตาลทรายขาวมาคำนวณ ซึ่งจะทำให้ราคาอ้อยของชาวไร่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมากทำให้โรงงานจะต้องจ่ายค่าอ้อยเพิ่มขึ้นมากกว่าปัจจุบัน ด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้โรงงานไม่เห็นด้วยค่อนข้างมาก ขณะที่ชาวไร่เองก็ต้องการที่จะนำเอารายได้ผลิตภัณฑ์พลอยได้ทั้งกากน้ำตาล เอทานอล ฯลฯ มาเข้าระบบ แต่ฝ่ายโรงงานไม่ยอมรับ เป็นต้น