บีเอ็มดับเบิลยูสนตั้งโรงงานผลิตบิ๊กไบค์ในไทย กระทรวงอุตสาหกรรมวางเป้าหมายดันไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ในภูมิภาคอาเซียนให้ได้ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า หลังบีโอไอเปิดประเภทส่งเสริมการลงทุนบิ๊กไบค์ที่มีขนาดเครื่องยนต์ 248-499 ซีซี
ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยหลังการหารือร่วมกับนายแฟรงค์ ปีเตอร์ อานด์ ผู้บริหารฝ่ายการผลิตบริษัท บีเอ็มดับเบิลยู ประจำสำนักงานใหญ่ประเทศเยอรมนี และคณะผู้บริหารบีเอ็มดับเบิลยูในไทยเมื่อวันที่ 7 ก.ย.ว่า บริษัทได้ยืนยันในการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ของบีเอ็มดับเบิลยูในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะรวมไปถึงโอกาสการตั้งโรงงานผลิตรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ หรือบิ๊กไบค์ (Big Bike) หลังจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้เปิดส่งเสริมฯ บิ๊คไบค์ที่มีขนาดเครื่องยนต์ 248-499 ซีซี
“เดิมนั้นบีโอไอให้การส่งเสริมบิ๊กไบค์เฉพาะเครื่องยนต์ 500 ซีซีขึ้นไป แต่บิ๊กไบค์ขนาดต่ำกว่า 500 ซีซีตลาดโลกขยายตัวดีมาก เช่นเดียวกับที่มีคนสนใจที่จะผลิตในไทย ซึ่งหากบีเอ็มดับเบิลยูเข้ามาก็น่ายินดี ขณะเดียวกัน บริษัทยังพร้อมที่จะร่วมมือพัฒนาแรงงานฝีมือด้านอุตสาหกรรมยานยนต์กับไทยเพราะมีปัญหาการขาดแคลนซึ่งจะได้หารือรายละเอียดร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป” รมว.อุตสาหกรรมกล่าว
นอกจากนี้ ทางบีเอ็มดับเบิลยูยังสอบถามถึงโครงสร้างภาษีอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย โดยได้ยืนยันที่จะยึดหลักการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวก็จะสอดคล้องกับมาตรฐานของสหภาพยุโรป ดังนั้นจึงไม่น่าจะเป็นปัญหาใดๆ กับทางบีเอ็มดับเบิลยูที่ปัจจุบันเน้นผลิตรถยนต์ที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว
นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า การที่บอร์ดบีโอไอได้เห็นชอบเปิดประเภทส่งเสริมกิจการลงทุนบิ๊กไบค์ที่มีขนาดเครื่องยนต์ 248-499 ซีซี เนื่องจากอุตสาหกรรมดังกล่าวกำลังขยายตัวได้ดีและมีผู้สนใจลงทุนเป็นจำนวนมาก จึงเป็นความตั้งใจที่จะให้ไทยเป็นฐานการผลิตบิ๊กไบค์ในภูมิภาคอาเซียนให้ได้ภายใน 2-3 ปีข้างหน้าเช่นเดียวกับที่ไทยได้เคยส่งเสริมรถกระบะมาแล้ว
ปัจจุบันการผลิตบิ๊กไบค์ของไทยส่วนใหญ่เป็น 250 ซีซีขึ้นไป โดยผู้ผลิตสำคัญมี 4 ยี่ห้อ คือ ดูคาติ (Ducati) จากอิตาลี ไทรอัมพ์ (Triumph) จากอังกฤษ คาวาซากิ และฮอนด้า จากญี่ปุ่น ซึ่งมาตรการที่ส่งเสริมฯ จะช่วยให้มีการขยายฐานการผลิตเพื่อการส่งออกมากขึ้น และเงื่อนไขส่งเสริมฯ ได้กำหนดใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตภายในประเทศจำนวน 4 ใน 6 ชิ้น ซึ่งนั่นหมายถึงการจะส่งเสริมการผลิตชิ้นส่วนในไทยเพิ่มขึ้นตามมา
“บิ๊กไบค์ขนาด 500 ซีซีขึ้นไปยอมรับว่ามีราคาค่อนข้างแพง ซึ่งการส่งเสริมเครื่องยนต์ขนาดที่เล็กลงหากแต่ละรายผลิตได้รายละแสนคันก็ถือว่ามากพอที่จะทำให้ไทยเป็นฐานการผลิตในภูมิภาคได้ไม่ยาก” นางอรรชกากล่าว