xs
xsm
sm
md
lg

คมนาคมสั่งการบินไทยทำข้อมูลเพิ่ม ยังไม่อนุมัติตั้ง “บ.ไทยสมายล์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“พฤณท์” สั่งการบินไทยทบทวนแผนตั้ง “บ.ไทยสมายล์” ชี้รายละเอียดไม่ชัดเจน หวั่นซ้ำรอยสิงคโปร์แอร์ไลน์ ตั้งบริษัทลูก “ซิลค์แอร์” แล้ว ผลประกอบการของบริษัทแม่กลับตกต่ำ ด้าน “สรจักร” ยันการบินไทย-ไทยสมายล์-นกแอร์ แบ่งตลาดชัดเจนไม่ทับซ้อน

พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมเรื่องการจัดตั้งสายการบินไทยสมายล์แอร์เวย์ เป็นบริษัทจำกัด โดยมีนายสรจักร เกษมสุวรรณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ชี้แจงเมื่อวันที่ 25 เมษายนว่า ได้ให้การบินไทยกลับไปทำข้อมูลเพิ่มเติม เนื่องจากแผนที่เสนอมายังมีรายละเอียดไม่ชัดเจนและมีความพร้อมในการเข้าแข่งขันในธุรกิจการบินอย่างแท้จริง โดยเฉพาะข้อมูลกรณีที่สายการบินอื่นที่มีการตั้งบริษัทลูกขึ้นมาเช่นเดียวกับบริษัท ไทยสมายล์นั้น มีข้อดี-ข้อเสีย และประสบความสำเร็จหรือไม่ โดยให้ทบทวนแผนเสนอกลับมาโดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้ เนื่องจากพบว่ามีหลายสายการบินที่ตั้งบริษัทลูกขึ้นมาแล้วไม่ประสบความสำเร็จ เช่น สายการบินลุฟท์ฮันซ่า สายการบินแอร์ฟรานซ์ และบริติชแอร์เวย์ส เคยมีการตั้งบริษัทลูกถือหุ้น 100% ดำเนินธุรกิจเป็นสายการบินต้นทุนต่ำ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ในขณะที่สิงคโปร์แอร์ไลน์ตั้งซิลค์แอร์ไลน์เป็นบริษัทลูก ถือหุ้น 100% โดยซิลค์แอร์ไลน์ประสบความสำเร็จมาก แต่ในขณะที่สิงคโปร์แอร์ไลน์กลับมีผลประกอบการที่ตกต่ำลง ดังนั้น การบินไทยต้องนำข้อมูลเหล่านี้มาเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียและศึกษาให้ดี

“การบินไทยต้องทำแผนธุรกิจทั้งของการบินไทยและของไทยสมายล์ให้ชัดเจนกว่านี้ เช่น เรื่องเส้นทางบิน บอกว่าไทยสมายล์จะเข้าทำการบินทดแทนการบินไทยในเส้นทาง เชียงราย, ขอนแก่น, สมุย, โคลัมโบ, พุทธคยา, พาราณสี และบินเส้นทางใหม่ เช่น เชียงใหม่, หลวงพระบาง, ฮ่องกง, เสียมราฐ ข้อที่กังวลคือเมื่อการบินไทยยกเลิกเส้นทางเพื่อให้ไทยสมายล์บินแทนแล้วไม่เห็นว่าการบินไทยมีแผนหารายได้มาแทนรายได้จากเส้นทางที่หายไป การพัฒนาการบินไทยโดยตั้งไทยสมายล์ขึ้นเป็นหน่วยธุรกิจนั้นเห็นด้วยในหลักการ ซึ่งหน่วยธุรกิจจะมีข้อจำกัดในเรื่องการบริหารงานที่ไม่คล่องตัว ส่วนจะเปลี่ยนมาตั้งเป็นบริษัทย่อย ต้องมีข้อมูลเปรียบเทียบที่ชัดเจนว่า เป็นบริษัท แล้ว จะมีผลกระทบอย่างไรกับบริษัทแม่ ซึ่งสามารถหาข้อมูลจากสายการบินอื่นที่เคยทำมาดูได้”

ส่วนข้อเสนอตั้งกรรมการบริษัทไทยสมายล์ 9 คน โดยจะมาจากบอร์ดการบินไทย 4 คนอีก 5 คนมาคือ ดีดี, ผู้บริหารการบินไทย, ผู้ทรงคุณวุฒิ, เอ็มดี บ.ไทยสมายล์นั้น ไม่เหมาะสมควรกำหนดตามหลักกฎหมาย คือไม่เกิน 11 คน และหากแต่งตั้งเกินถึง 15 คน จะต้องขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ด้านนายสรจักรกล่าวว่า ขณะนี้ไทยสมายล์มี Cabin Factor เฉลี่ย 80% ยืนยันว่าบริการระหว่างไทยสมายล์กับนกแอร์ไม่ทับซ้อนกัน โดยนกแอร์จะเป็นโลว์คอสแอร์ไลน์ที่มีระดับให้บริการเสริมแบบเต็มที่ ต่างจากสายการบินโลว์คอสต์ทั่วไป สายการบินไทยสมายล์อยู่ระดับกลาง ให้บริการเส้นทางบินระหว่างประเทศในภูมิภาค โดยเน้นตลาดจีนและอินเดีย ส่วนการบินไทยอยู่ในระดับพรีเมียม
กำลังโหลดความคิดเห็น