xs
xsm
sm
md
lg

ธนาคารกลางยุโรปมีแนวโน้มลดอัตราดอกเบี้บในวันพฤหัสหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

          ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) มีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงนี้มากกว่าในช่วงใดๆ นับตั้งแต่อีซีบีปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายในเดือนก.ค. 2012 โดยอีซีบีมีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25 % สู่ 0.50 % ในการประชุมกำหนดนโยบายในวันพฤหัสบดีที่ 2 พ.ค.ที่กรุงบราติสลาวา ประเทศสโลวาเกีย
          แหล่งข่าวกล่าวว่า ขณะนี้มีแรงหนุนมากขึ้นเรื่อยๆให้อีซีบีดำเนินมาตรการ ช่วยเหลือเศรษฐกิจยูโรโซน หลังจากเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยผู้กำหนดนโยบายบางคนของอีซีบีต้องการจะดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้
          อัตราเงินเฟ้อที่ร่วงลงสู่ระดับต่ำกว่าเป้าหมายเป็นอย่างมากช่วยเปิดโอกาส ให้อีซีบีดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ระดับสูงคนหนึ่งของอีซีบียังกล่าวอีกด้วยว่า แม้แต่นายเยนส์ วีดมานน์ ประธานธนาคารกลางเยอรมนี (บุนเดสแบงก์) ก็เปิดรับทางเลือกดังกล่าว ถึงแม้เขาถือเป็นสมาชิก ที่มีแนวคิดแบบสายเหยี่ยวมากที่สุดในบรรดาสมาชิก 23 คนในคณะกรรมการกำหนดนโยบายของอีซีบี
          หลังจากการประชุมกำหนดนโยบายครั้งสุดท้ายของอีซีบีในวันที่ 4 เม.ย. นายมาริโอ ดรากี ประธานอีซีบี ก็ส่งสัญญาณว่า อาจจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆนี้ โดยเขากล่าวว่าอีซีบี "พร้อมที่จะดำเนินการ" เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจยูโรโซนที่อยู่ในภาวะถดถอย
          เจ้าหน้าที่ระดับสูงคนหนึ่งของอีซีบีกล่าวว่า "ตอนนี้เรามีอิสระแล้ว และผมจะพิจารณาเรื่องอัตราดอกเบี้ยอย่างแน่นอนในการประชุมครั้งถัดไปที่กรุงบราติสลาวา"
          การประชุมที่กรุงบราติสลาวาครั้งนี้ถือเป็นการประชุม 1 ใน 2 ครั้งในแต่ละปีของอีซีบีที่ไม่ได้จัดขึ้นที่นครแฟรงค์เฟิร์ต ซึ่งโดยปกติแล้ว อีซีบี มักจะไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยเมื่อใดก็ตามที่จัดการประชุมนอกนครแฟรงค์เฟิร์ต อย่างไรก็ดี ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาสนับสนุนให้อีซีบีปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้
          การตัดสินใจว่าจะปรับอัตราดอกเบี้ยในเดือนพ.ค.หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับตัวเลขเศรษฐกิจ โดยนายเบนัวท์ เคอเร สมาชิกสายพิราบในอีซีบี กล่าวว่า อีซีบียังไม่ได้เห็นตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีขึ้นเลยนับตั้งแต่การประชุมครั้งที่แล้ว
          อีซีบีคาดว่าเศรษฐกิจยูโรโซนอาจฟื้นตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งปีหลัง "โดยขึ้นอยู่กับความเสี่ยงช่วงขาลง"
          ถ้าหากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจอยู่ในภาวะอ่อนแอกว่าการคาดการณ์ดังกล่าว ตัวเลขนี้ก็จะกลายเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้อีซีบี ปรับลดอัตราดอกเบี้ย
          เจ้าหน้าที่ระดับสูงของอีซีบีกล่าวว่า "ถ้าหากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาสนับสนุนการคาดการณ์ของอีซีบี นั่นก็ไม่ได้เป็นการรับประกันว่า อีซีบีจะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างแน่นอน"
          ผู้กำหนดนโยบายเชื่อว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลบวกเพียงในวงจำกัดต่อเศรษฐกิจ แต่อย่างน้อยสิ่งนี้ก็แสดงให้เห็นว่า อีซีบีพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนี้ การตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจไม่ได้ รับเสียงสนับสนุนอย่างเป็นเอกฉันท์จากสมาชิกคณะกรรมการทุกรายด้วย
          ปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนให้อีซีบีผ่อนคลายนโยบายการเงิน คือดัชนี ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ที่ออกมาในวันอังคารที่ 23 เม.ย. โดยดัชนีดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า กิจกรรมทางธุรกิจในเยอรมนีดิ่งลงอย่างรุนแรง ในเดือนเม.ย.
          ดัชนี PMI ของเยอรมนีดิ่งลงจาก 50.6 ในเดือนมี.ค. สู่ 48.8 ในเดือนเม.ย. ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 4 นับตั้งแต่เดือนก.ย. 2008 ที่ดัชนีดังกล่าวร่วงผ่านระดับ 50 ลงมา โดยดัชนีที่ระดับต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าธุรกิจ หดตัวลง
          ในการร่วงผ่านระดับ 50 สามครั้งก่อนหน้านี้นั้น อีซีบีได้ตัดสินใจ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในทันทีหลังการรายงานดัชนี PMI ดังกล่าว หรือ ในอีกหนึ่งเดือนต่อมา
          สถาบัน Ifo รายงานวานนี้ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของเยอรมนีดิ่งลงอย่างรุนแรงเกินคาดในเดือนเม.ย. นอกจากนี้ ผลสำรวจของอีซีบียังแสดง ให้เห็นอีกด้วยว่า ความต้องการกู้ยืมเงินทั้งในภาคเอกชนและภาคครัวเรือนลดลง ในยูโรโซนในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้
          นักลงทุนจะมุ่งความสนใจไปยังการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือ main refinancing rate ของอีซีบี และมีแนวโน้มน้อยมากที่อีซีบีจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่อีซีบีจ่ายให้กับธนาคารพาณิชย์ ที่ฝากเงินสดช่วงข้ามคืนไว้กับอีซีบี
          อัตราดอกเบี้ยนโยบายของอีซีบีอยู่ที่ 0.75 % ในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นสถิติต่ำสุด แต่ยังคงอยู่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสำคัญ แห่งอื่นๆ
          นายคริสเตียน ชูลส์ นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารเบเรนเบิร์ก กล่าวว่า "อัตราเงินเฟ้อได้รับแรงกดดันจากปัจจัยหลายประการ ซึ่งรวมถึงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในเยอรมนี, อัตราเงินเฟ้อที่ระดับต่ำมากในเยอรมนี และการร่วงลงครั้งล่าสุดของราคาน้ำมัน และปัจจัยเหล่านี้น่าจะส่งผลให้ธนาคารกลาง เยอรมนีลดการต่อต้านการปรับลดอัตราดอกเบี้ย" อย่างไรก็ดี นายชูลส์คาดว่า อีซีบีจะตรึงอัตราดอกเบี้ยในวันที่ 2 พ.ค.
          การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลดีต่อธนาคารพาณิชย์ในประเทศที่มีเศรษฐกิจอ่อนแอในยูโรโซน เนื่องจากธนาคารกลุ่มนี้กู้เงินจำนวนมากจากอีซีบี อย่างไรก็ดี ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อกิจกรรมการปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์กลุ่มนี้
          ผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งกล่าวว่า "ขณะนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า ธนาคารพาณิชย์ จะใช้ประโยชน์จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25 % ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมของตนเองลง หรือธนาคารจะถือว่าสิ่งนี้เป็นผลกำไรและนำกำไรนี้ไปใช้เสริมเงินกองทุนของตน แต่ผมคิดว่าไม่ว่าจะเลือกทางใด ธนาคารก็จะได้ รับผลบวก"
          นายดรากีกล่าวหลังการประชุมในวันที่ 4 เม.ย.ว่า สิ่งที่จำเป็นต้องทำก็คือ "การเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ความยืดหยุ่นของธนาคารพาณิชย์ในจุดที่มีความจำเป็น"
         ถึงแม้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะแสดงให้เห็นว่า อีซีบีพร้อมที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่อีซีบีก็เชื่อว่าสิ่งนี้จะส่งผลบวกเพียงในวงจำกัด เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำมากไม่ได้ส่งผลกระทบต่อทุกประเทศสมาชิกยูโรโซนอย่างเท่าเทียมกัน โดยธนาคารในประเทศที่ประสบภาวะวิกฤติได้ผลักภาระการระดมทุนที่ระดับสูง ไปให้แก่ลูกค้าของตน
          ผู้กำหนดนโยบายของอีซีบีกำลังพิจารณาเรื่องการจัดสรรสภาพคล่องให้แก่ ธนาคารพาณิชย์ด้วย โดยอีซีบีเคยอัดฉีดเม็ดเงินกว่า 1 ล้านล้านยูโรเข้าสู่ธนาคารพาณิชย์โดยผ่านทางปฏิบัติการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำระยะยาว (LTRO) สองรอบ ในช่วงปลายปี 2011 และต้นปี 2012 เพื่อสกัดกั้นภาวะสินเชื่อหดตัว
          ธนาคารพาณิชย์ได้ชำระคืนเงินกู้ดังกล่าวก่อนกำหนดเป็นจำนวนสูงกว่า 1 ใน 4 ของ LTRO และอีซีบีก็มองว่าสิ่งนี้ถือเป็นสัญญาณในทางบวกเพราะแสดงให้เห็นว่า ธนาคารพาณิชย์พร้อมที่จะดำเนินกิจการได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือ
          การชำระคืน LTRO ส่งผลให้สภาพคล่องส่วนเกินในยูโรโซนดิ่งลงสู่ระดับ ราว 3.30 แสนล้านยูโร จากระดับสูงกว่า 6 แสนล้านยูโรในช่วงต้นปีนี้ โดยสภาพคล่องส่วนเกินคือปริมาณเงินสดที่สูงกว่าปริมาณที่ธนาคารพาณิชย์ จำเป็นต้องใช้ในการดำเนินงานในแต่ละวัน
          อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า อีซีบีจะทำเช่นใดถ้าหากระบบ การเงินเผชิญกับเหตุการณ์ร้ายแรงอย่างไม่คาดฝันในอนาคต
          นายดรากีกล่าวในวันที่ 4 เม.ย.ว่า "นโยบายการเงินของเราจะยังคงอยู่ในภาวะผ่อนคลายต่อไปตราบใดที่มีความจำเป็น" และจะมีการจัดสรรสภาพคล่องอย่างไม่จำกัดจำนวนให้แก่ธนาคารพาณิชย์ "เป็นเวลานานเท่าที่จำเป็น"
          ถึงแม้อีซีีบีไม่มีแนวโน้มที่จะทำตามอย่างธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ด้วยการส่งสัญญาณชี้นำเรื่องอัตราดอกเบี้ยในอนาคต แต่อีซีบีก็อาจจะเพิ่มรายละเอียดในคำสัญญาเรื่องการจัดสรรสภาพคล่อง เพื่อเป็นการเพิ่มความ เชื่อมั่นให้แก่ธนาคารพาณิชย์
          เจ้าหน้าที่ระดับสูงของอีซีบีกล่าวว่า "บางทีอีซีบีอาจจะระบุเจาะจง ลงไปว่า 'นานเท่าที่จำเป็น' คือเวลานานเท่าใด"
(ข่าวจากสำนักข่าว รอยเตอร์)
 
T.Thammasak
กำลังโหลดความคิดเห็น