โพลจี้รัฐ-แบงก์ชาติคุมเงินไหลเข้า สกัดบาทแข็ง ชี้อัตราเหมาะสมควรอยู่ที่ 30.48 บาท/เหรียญสหรัฐ หากแข็งแตะ 27 บาทต้องขาดทุนเพิ่มจนต้องปลดคนงานถึงขั้นปิดกิจการ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการสำรวจผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทจากกลุ่มผู้ประกอบการ 600 รายทั่วประเทศว่า ผู้ประกอบการ 45.6% ระบุค่าเงินบาทในปัจจุบันอยู่ในอัตราที่ไม่เหมาะสม คือแข็งค่าจนเกินไป และหากแข็งค่าขึ้นมากกว่านี้จะรับผลกระทบไม่ไหว ขณะที่อีก 38% ระบุว่าเหมาะสมปานกลาง
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ 73.7% ระบุว่าเงินบาทที่แข็งค่ากระทบต่อการดำเนินธุรกิจตั้งแต่ปานกลางจนถึงมาก เพราะทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาลดลง กำไรลดลง ยอดส่งออกสินค้าลดลง สภาพคล่องของธุรกิจลดลง และคำสั่งซื้อลดลง โดยเห็นว่าเงินบาทระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกเลยควรอยู่ที่ 31.29 บาท/เหรียญสหรัฐ แต่ระดับที่เหมาะสมที่สุดคือ 30.48 บาท/เหรียญสหรัฐ ส่วนระดับที่ธุรกิจทานทนได้อยู่ที่ 29.18 บาท/เหรียญสหรัฐ ขณะที่ในช่วงต้นปีที่มีการวางแผนดำเนินธุรกิจ ค่าเงินบาทอยู่ที่ 30.17 บาท/เหรียญสหรัฐ และคิดขณะนั้นว่าเงินบาทน่าจะแข็งสุดที่ 29.54 บาท/เหรียญสหรัฐเท่านั้น
“ผู้ประกอบการ 81% ระบุหากค่าเงินอยู่ในช่วง 29-29.90 บาท/เหรียญสหรัฐยังสามารถแบกรับได้ แต่มี 14.3% ระบุจะขาดทุนมากขึ้น หากเงินบาทอยู่ในช่วง 28-28.90 บาท/เหรียญสหรัฐ มีเพียง 47.6% เท่านั้นที่แบกรับได้ ส่วน 36.4% ระบุขาดทุนมากขึ้น และอีก 9.3% ระบุจำเป็นต้องปรับลดคนงาน แต่หากแข็งค่าอยู่ที่ 27-27.90 บาท/เหรียญสหรัฐ มีผู้ประกอบการเพียง 30.2% ที่แบกรับได้ แต่อีก 44.6% ระบุขาดทุนมากขึ้น ส่วนอีก 12% ระบุจะปลดคนงาน และมี 9.8% จำเป็นต้องปิดกิจการ” นายธนวรรธน์กล่าว