xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีเชื่อมั่น ม.ค.พุ่งติดต่อกัน 4 เดือน ห่วงค่าแรง-การเมืองตัวการฉุดหัวทิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ม.ค. 56 พุ่งติดต่อกัน 4 เดือน หลังคนมั่นใจเศรษฐกิจฟื้น รายได้เพิ่ม สินค้าเกษตรราคาดี จับตาไตรมาส 2 อาจมีแรงฉุดจากปัญหาค่าแรงกระทบปลดคนงาน การเมืองวุ่นวาย

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นประจำเดือน ม.ค. 2556 ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกรายการติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้อนาคตอยู่ที่ 100 เพิ่มขึ้นจากเดือน ธ.ค. 2555 ที่ 98.3 สูงสุดในรอบ 16 เดือน ขณะที่ความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานอยู่ที่ 72.9 เพิ่มจาก 71.7 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 72.1 เพิ่มจาก 70.6 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ 81.7 เพิ่มจาก 80.2 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน 63.5 เพิ่มจาก 62.4 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต 87.7 เพิ่มจาก 86.1

ปัจจัยบวกที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นสูงขึ้น มาจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับคาดการณ์จีดีพีปี 2555-56 เพิ่มขึ้น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ตามเดิมที่ 2.75% ต่อปี และค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในกรอบ 29.70-31.70 บาท ตลาดหุ้นมีความคึกคัก รวมถึงนโยบายการเพิ่มรายได้จากการปรับค่าแรงงาน 300 บาท และการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรในระดับสูง

ส่วนปัจจัยลบ ส่วนใหญ่เป็นความกังวลเกี่ยวกับการถูกเลิกจ้างงานหลังจากปรับค่าแรง 300 บาท ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเด็นแก้รัฐธรรมนูญและเขาพระวิหารที่อาจกลับมาเป็นประเด็นรุนแรง และความผันผวนของค่าเงินบาทที่แข็งค่า รวมถึงภาวะค่าครองชีพประชาชน และราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งกระทบต่อเงินเฟ้อและความเชื่อมั่นในอนาคต

“ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ในช่วงขาขึ้น คาดว่าจะดีขึ้นต่อเนื่องตลอดไตรมาสแรก เพราะได้รับผลดีจากการขึ้นค่าแรง 300 บาท ราคาพืชผลทางการเกษตรปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคายางพารา รวมถึงการส่งออกที่กลับมาฟื้นตัว และภาคการท่องเที่ยวที่ยังเติบโตได้อย่างดี ขณะที่ปัญหาค่าครองชีพมีแนวโน้มดีขึ้น หลังประชาชนมีรายได้เพิ่มจนเพียงพอต่อราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้น เช่นเดียวกับภาคการเมืองในปัจจุบันที่เข้าสู่ช่วงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ทำให้บรรยากาศของความขัดแย้งบรรเทาลงชั่วคราว” นายธนวรรธน์กล่าว

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มความเชื่อมั่นในไตรมาสที่ 2 ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่จะต้องติดตาม ได้แก่ การปลดคนงานซึ่งจะเริ่มรับรู้ผลกระทบจากการขึ้นค่าแรง 300 บาทตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมือง หลังจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในเดือน มี.ค. ยังมีประเด็นที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งเกิดขึ้นได้อีก เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการนิรโทษกรรม รวมทั้งปัญหาความผันผวนจากค่าเงินบาท และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง
กำลังโหลดความคิดเห็น