ร.ฟ.ท.สรุปผลการศึกษาส่วนต่อรถไฟสายสีแดงช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต อีก4 สถานีวงเงิน 7.6 พันล้าน เผยผลตอบแทนทาง ศก.สูงกว่า 20% เตรียมเสนอขออนุมัติผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ตั้งเป้าเปิดบริการปี 2560 เชื่อมการเดินทางจาก จ.ปทุมธานีเข้าใจกลาง กทม.
เมื่อวันที่ 22 มีนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้สัมมนา “สรุปผลการศึกษาโครงการจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา และออกแบบรายละเอียด โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ส่วนต่อขยาย ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต” โดยมีนายศิริพงศ์ ห่านตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เป็นประธานเปิดงาน เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมสัมมนา โดยมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันการศึกษา และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมสัมมนากว่า 120 คน
ทั้งนี้ บริษัทที่ปรึกษาได้นำเสนอผลสรุปการศึกษาและออกแบบรายละเอียดโครงการฯ อย่างรอบด้าน โดยผลจากการศึกษาด้านวิศวกรรม สรุปว่าโครงการฯ มีแนวเส้นทางเริ่มต้นจากสถานีรังสิตขึ้นไปทางทิศเหนือตามแนวเขตทางรถไฟเดิม เป็นทางรถไฟระดับดิน ขนาดราง 1.0 เมตร จำนวน 3 ราง มีสถานี 4 สถานี ประกอบด้วย สถานีคลองหนึ่ง สถานีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สถานีเชียงราก และสถานีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยออกแบบสถานีเป็น 2 ชั้น คือชั้นชานชาลาอยู่ระดับดินและชั้นจำหน่ายตั๋วอยู่ชั้นบน รวมระยะทาง 8.65 กิโลเมตร สามารถรองรับได้ทั้งรถไฟดีเซลและรถไฟฟ้าระบบสายส่งเหนือราง (Overhead Catenary System) นอกจากนี้ รฟท. ยังได้ออกแบบสะพานข้ามคลองเปรมประชากรที่บริเวณสถานีคลองหนึ่งและสถานีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เพื่อเพิ่มช่องทางในการเข้าสู่ระบบรถไฟชานเมืองของประชาชนให้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
สำหรับผลการศึกษาทางด้านเศรษฐกิจ โครงการรถไฟชานเมือง(สายสีแดง)ส่วนต่อขยาย ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความเหมาะสมในการลงทุน เนื่องจากมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง (Economic Internal Rate of Return : EIRR กว่าร้อยละ 20) โดยมีมูลค่าการก่อสร้างเบื้องต้นประมาณ 7,600 ล้านบาท แบ่งเป็นงานเวนคืน 85 ล้านบาท งานด้านโยธาและราง 4,500 ล้านบาท และงานระบบไฟฟ้า 3,000 ล้านบาท
ในส่วนของผลการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ได้มีการกำหนดมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมในประเด็นสำคัญ อาทิ มาตรการด้านคมนาคม โดยการประชาสัมพันธ์แผนการก่อสร้างให้สาธารณชนทราบล่วงหน้า มาตรการด้านเศรษฐกิจและสังคม ตั้งหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียน กรณีที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากโครงการ ฯ และเร่งแก้ปัญหาโดยเร็วที่สุด มาตราการด้านการโยกย้ายและเวนคืน จะดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและชดเชยทรัพย์สินตลอดแนวเส้นทางโครงการตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม และเปิดโอกาสให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมจากผู้ที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่น เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนภายหลังการสัมมนาในครั้งนี้ ร.ฟ.ท.จะสรุปผลการศึกษาโครงการ และออกแบบรายละเอียด พร้อมจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา เพื่อเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สผ.) ก่อนนำเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติดำเนินงานโครงการฯ ซึ่งตามแผนการดำเนินงานจะสามารถเปิดให้บริการได้ประมาณปี 2560 เมื่อเปิดให้บริการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ส่วนต่อขยาย ช่วงรังสิต-ธรรมศาตร์ ศูนย์รังสิต จะช่วยเพิ่มศักยภาพการพัฒนาของพื้นที่ในจังหวัดปทุมธานี ในการรับ-ส่งประชาชนที่เดินทางระหว่างใจกลางเมืองกับชานเมือง ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินทางและขนส่ง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้มากยิ่งขึ้น