xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจไมซ์โตสะพัด 8.8 หมื่นล้าน UBM ขยายสาขาพม่ารองรับ AEC

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางนุชรินทร์ ภารดีวิสุทธิ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ยูบีเอ็ม (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำด้านการจัดงาน Exhibitions ระดับโลกที่กำลังเตรียมแผนงานเพื่อเจาะตลาด AEC อย่างเต็มที่
TCEB ระบุเหตุน้ำท่วมปี 54 และกระแสตื่นตัวการเปิดตลาด AEC ส่งผลธุรกิจไมซ์เติบโตกว่า 10% ในปี 55 คาดปี 56 มีเงินหมุนเวียนในธุรกิจไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นล้านบาท ด้านUBM ผู้จัดงานนิทรรศการระดับโลกมั่นใจไทยมีโอกาสเป็นศูนย์กลางธุรกิจในอาเซียน เตรียมผุดสาขาใหม่ในเมียนมาร์ พร้อมเปิดตัวงานแสดงสินค้าครั้งใหญ่

นางนุชรินทร์ ภารดีวิสุทธิ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำด้านการบริหารงานการจัดงานแสดงสินค้าและอุตสาหกรรมนานาชาติ (Exhibitions)ในประเทศไทยและภาคพื้นเอเชีย เปิดเผยถึงภาวะรวมของของธุรกิจไมซ์ (MICE : Meetings, Incentive Travel, Conventions, Exhibition) ในประเทศไทยว่า จากข้อมูลของสำงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB (ThailandConvention & Exhibition Bureau) ระบุว่า ในปี 2555มีอัตราการเติบโตสูงขึ้นมากกว่า 10% คิดเป็นมูลค่าตลาดรวมประมาณ 8.8 หมื่นล้านบาท พร้อมมีจำนวนผู้เดินทางเข้าร่วมงานประมาณ 9.4 ล้านคน โดยคาดการณ์ว่าในปี 2556 ธุรกิจไมซ์จะมีเงินหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 60,000 ล้านบาท ขณะที่ในส่วนของงานแสดงสินค้าและอุตสาหกรรมนานาชาติจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 15-20% โดยมีนักธุรกิจต่างประเทศเดินทางเข้ามาร่วมงานและสร้างรายได้ประมาณ 40,000 ล้านบาท

“การขยายตัวของธุรกิจไมซ์ในปีที่ผ่านมาเป็นผลมาจากปัจจัยเสริม 2 ข้อคือ เหตุการณ์อุทกภัยในประเทศไทยเมื่อปี 2554 ได้กระตุ้นให้ธุรกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันยังได้รับความสนใจจากนักธุรกิจต่างชาติที่กำลังมองหาโอกาสลงทุนใหม่ๆ อันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจซบเซาในยุโรปและสหรัฐอเมริกา รวมถึงภาวะเงินเฟ้อในจีนและอินเดีย จึงทำให้การเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC โดยเฉพาะประเทศไทยเป็นพื้นที่เป้าหมายของนักลงทุนเพิ่มมากขึ้น”

นางนุชรินทร์ กล่าวด้วยว่า หากเปรียบเทียบในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกันแล้วแม้ว่าไทยจะเป็นรองสิงคโปร์ในด้านความคล่องตัว แต่ยังได้เปรียบกว่ามากในด้านจำนวนประชากรและการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมการผลิต ส่วนอีกประเทศที่มีความน่าสนใจคืออินโดนีเซียที่มีจำนวนประชากรขนาดใหญ่มาก แต่ยังเป็นรองในเรื่องสาธารณูปโภคพื้นฐานและขนาดพื้นที่การจัดงานซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพโดดเด่นที่สุดที่จะเป็นศูนย์กลางธุรกิจไมซ์ในอาเซียน

ในส่วนของภาพรวมตลาดการจัดงานแสดงสินค้านั้นยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยยึดจำนวนและขนาดพื้นที่การจัดงานเป็นปัจจัยหลักในการแบ่งสัดส่วนผู้นำตลาดซึ่งปัจจุบันยังคงเป็นกรมส่งเสริมการส่งออก โดยในส่วนของ UBM ถือเป็นหนึ่งในผู้นำตลาดภาคเอกชน โดยในปี 2555 มีผลการดำเนินงานที่ขยายตัวสูงมากอันเนื่องมาจากการจัดงานสำคัญคือ BOI Fair จึงทำให้บริษัทมีรายได้รวมประมาณ 800 ล้านบาท ส่วนในปี 2556 คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตตามปรกติคือประมาณ 15-20% หรือประมาณ 400 ล้านบาท

บริษัทยังมีแผนการขยายงานด้านอื่นๆ คือ การจัดงานแสดงสินค้าใหม่เป็นครั้งแรกคือ Thai Water 2013 ในช่วงเดือนมิ.ย.56 ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าเกี่ยวกับเทคโนโลยีการบริหารจัดการน้ำดีและน้ำเสีย โดยเตรียมพร้อมที่จะยกระดับเป็นงาน Asia Water ต่อไป นอกจากนี้ในช่วงเดือนต.ค.56 ยังจะเปิดตลาดจัดงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติครั้งแรกในประเทศเมียนมาร์คืองานแสดงสินค้าเครื่องจักรอุตสาหกรรมและยานยนต์ Intermach ซึ่งถือเป็นการจัดงานประเภทนี้ในต่างประเทศเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี

“บริษัทยังได้ลงนามใน MOU ร่วมกับ Local Partnerในประเทศเมียนมาร์ไปแล้วเมื่อเร็วๆ นี้เพื่อเตรียมเปิดสาขาใหม่เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีอยู่แล้ว 7 สาขาในกลุ่มประเทศอาเซียนคือ ไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และ 2 สาขาในเวียดนาม นอกเหนือไปจากบริษัทแม่ในประเทศอังกฤษ และสาขาอื่นๆ อีกทั่วโลก

จากกระแสการตื่นตัวเรื่องการเปิด AEC ทำให้ขณะนี้องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่เริ่มมีความเคลื่อนไหวในการเจรจาธุรกิจกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียนเพิ่มขึ้น ขณะที่ธุรกิจ SMEs หรือบริษัทรับช่วงการผลิต (OEM - Original Equipment Manufacturer) ที่ยังไม่เคยเปิดการค้ากับต่างประเทศมาก่อนจำเป็นต้องหาโอกาสเพื่อเข้าถึงตลาดใหม่ๆมากขึ้น การร่วมงานแสดงสินค้าจึงถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยสร้างโอกาสทางการค้าให้เกิดขึ้นและถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ในการปรับตัวของผู้ประกอบการในภาวะการแข่งขันจากรอบด้าน

“ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญกับการออกงานแสดงสินค้าเสมือนกับเป็นเครื่องมือทางการตลาดหนึ่งที่ควรจัดสรรงบประมาณการตลาดประจำปีไว้โดยเฉพาะ เนื่องจากงานระดับนานาชาติจะช่วยดึงคู่ค้าจากต่างประเทศเข้ามาสู่การเจรจาการค้า ทำให้การส่งออกขยายตัว ซึ่งในอนาคตอาจทำให้แบรนด์ก้าวสู่ระดับโลกได้”

การร่วมงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติถือเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของผู้ประกอบการไทยในเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการที่ต้องการรุกตลาดประเทศเพื่อนบ้านและกลุ่มที่ตั้งรับกับการแข่งขันของตลาด ทั้งสองกลุ่มจะต้องเร่งพัฒนาตนเองให้พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงและการไหลเข้าของทั้งผู้บริโภคและองค์กรธุรกิจ รวมทั้งแสวงหาโอกาสต่อยอดทางธุรกิจ หรือร่วมมือกับพันธมิตรกลุ่มใหม่จากประเทศอาเซียนด้วยเช่นกัน

สำหรับ UBM ในฐานะผู้จัดงานนิทรรศการระดับโลกมีความมั่นใจว่าพร้อมจะผลักดันให้เกิดการเจรจาทางการค้า โดยดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้าสู่การลงทุนในประเทศไทยและส่งเสริมการขยายตัวของผู้ประกอบการไทยให้ไปต่างประเทศ (Global-to-Local-to-Global) โดยใช้ 3 กลยุทธ์สำคัญคือ

1.Pull การดึงคู่ค้ารายใหญ่จากต่างประเทศเข้ามาในไทยผ่านงานแสดงสินค้าและอุตสาหกรรมคุณภาพชั้นนำ อาทิ งานนิทรรศกาารด้านสิ่งแวดล้อม พลังงานทดแทน พลังงานทางเลือก (Renewable Energy Asia, Pumps & Values Asia, Entech Pollutec Asia, Thai Water) งานแสดงสินค้าด้านเทคโนโลยีเครื่องจักรกล (Intermach) และงานแสดงสินค้าด้านส่วนผสมทางอาหารที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Food ingredients Asia : Fi Asia)

2.Push รองรับความต้องการในการขยายตัวขององค์กรธุรกิจไทยไปสู่ระดับนานาชาติผ่าน Exhibitions ทั่วโลกกว่า 400 งาน อาทิ Hong Kong Jewelry & Gem Fair, Medi - Care Foods Expo-Tokyo โดยผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าร่วมได้ผ่านเครือข่าย UBM ใน 6 ประเทศทั่วอาเซียน ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และอินเดีย เป็นต้น

3.Technology learning การร่วมงานแสดงสินค้าและอุตสาหกรรมระดับนานาชาติของผู้ประกอบการนั้นถือได้ว่าเป็นการประกาศศักยภาพทางเทคโนโลยีขององค์กร ผลที่ตามมาคือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคโนโลยีทั้งของตนเองและคู่แข่งทางธุรกิจ (Technology Transfer) และผู้เข้าชมงานสามารถเลือกนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ จากผู้จัดแสดงนิทรรศการมาปรับใช้ให้เหมาะกับธุรกิจของตน โดยไม่ต้องเดินทางไปดูงานในต่างประเทศ เพราะภายในงานมีบริษัทชั้นนำทั้งในและต่างประเทศหลายร้อยบริษัทจากนานาประเทศมาร่วมแสดงเทคโนโลยีที่น่าสนใจมากมาย


กำลังโหลดความคิดเห็น