xs
xsm
sm
md
lg

ยูโรโซนปัญหาที่ยังไม่จบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

        ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในยูโรโซนดิ่งลงอย่างรุนแรงเกินคาดในเดือน ม.ค. โดยผลผลิตในฝรั่งเศสและเยอรมนีร่วงลง และสิ่งนี้ถือเป็นสัญญาณล่าสุดที่บ่งชี้ว่า ยูโรโซนกำลังเผชิญความยากลำบากในการหลุดพ้นออกจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย
        ยูโรสแตท ซึ่งเป็นสำนักงานสถิติของสหภาพยุโรป (อียู) รายงานว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมในประเทศสมาชิกยูโรโซน 17 ประเทศ ร่วงลง 0.4 %ในเดือน ม.ค. เมื่อเทียบกับเดือนธ.ค. โดยก่อนหน้านี้ นักเศรษฐศาสตร์ในโพลล์รอยเตอร์คาดว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมอาจขยับลงเพียง 0.1 % ในเดือน ม.ค.
        ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในยูโรโซนดิ่งลง 1.3 % ในเดือนม.ค.เมื่อเทียบรายปี และตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่า ชาวยุโรปซื้อรถยนต์, โทรทัศน์,ตู้เย็น และสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆในระดับต่ำในช่วงที่อัตราการว่างงานพุ่งแตะ
ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
        ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมราว 2 ใน 3 ของยูโรโซนเป็นผลผลิตจากเยอรมนี, ฝรั่งเศส และอิตาลี โดยสามประเทศนี้ครองตำแหน่งประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นลำดับที่ 1-3 ในยูโรโซนตามลำดับ
        ผู้นำยูโรโซนจะจัดการประชุมสุดยอดที่กรุงบรัสเซลส์ในช่วงเย็นวันนี้โดยตัวเลขภาคการผลิตที่อ่อนแอนี้อาจทำให้บรรดาผู้นำยูโรโซนตระหนักว่ายูโรโซนยังจำเป็นต้องดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป หลังจากวิกฤติหนี้ยูโรโซนดำเนินมานาน 3 ปีแล้ว
        ภาคการผลิตในเยอรมนีและฝรั่งเศสหดตัวลงในเดือนม.ค. แต่ยูโรสแตทไม่ได้เปิดเผยตัวเลขของอิตาลี
        รายงานตัวเลขนี้อาจกระตุ้นให้ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) พิจารณาการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจากระดับปัจจุบันที่ 0.75 % ในช่วงต่อไปในปีนี้โดยระดับ 0.75 % นี้ถือเป็นสถิติต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
        นายเดวิด แมคคี นักเศรษฐศาสตร์ของเจพี มอร์แกนระบุว่า "อีซีบีลังเลที่จะใช้โอกาสที่เหลืออยู่ในการปรับนโยบาย เพราะอีซีบีต้องการจะรักษาเครื่องมือการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ใช้ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่กว่าในปัจจุบัน แต่เราเชื่อว่าอีซีบีน่าจะมีการดำเนินการรับมือต่อแนวโน้มเศรษฐกิจมหภาคนี้"
        การพุ่งขึ้นของจำนวนคนว่างงาน และแรงกดดันที่เกิดจากมาตรการรัดเข็มขัดจะเป็นประเด็นสำคัญในการประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งจะจัดขึ้นในวันนี้และพรุ่งนี้ โดยเป็นที่คาดกันว่าผลกระทบทางสังคมที่เกิดจากวิกฤติหนี้ยูโรโซนจะเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดต่อการอยู่รอดของสกุลเงินยูโร
        ประธานรัฐสภายุโรปกล่าวเตือนในสัปดาห์นี้ว่า คนรุ่นหนึ่งอาจจะสูญเสียศรัทธาในยุโรปในอนาคต ถ้าหากไม่มีการดำเนินมาตรการอย่างรวดเร็วในการแก้ไขปัญหาการว่างงานและภาวะเศรษฐกิจถดถอย
        การประชุมสุดยอดในครั้งนี้จะเปิดโอกาสให้ผู้นำอียูได้หารือกันเกี่ยวกับนโยบายงบประมาณ โดยมีสัญญาณบ่งชี้ว่าฝรั่งเศสและสเปนอาจจะได้รับการขยายเวลาออกไปในการบรรลุเป้าหมายด้านการขาดดุลงบประมาณ ตราบใดที่ทั้งสองประเทศยังคงมีแนวโน้มบริหารการคลังอย่างระมัดระวังต่อไป
        มีแนวโน้มว่าการประชุมในครั้งนี้จะเน้นไปที่การประเมินผลกระทบที่เกิดจากวิกฤติหนี้ยูโรโซน แทนที่จะเป็นการประชุมเพื่อแก้วิกฤติ หลังจากวิกฤติหนี้ดังกล่าวส่งผลให้ยุโรปต้องเข้าช่วยเหลือกรีซ, ไอร์แลนด์ และโปรตุเกสในช่วง3 ปีที่ผ่านมา และส่งผลให้สเปนได้รับแรงกดดันเป็นอย่างมาก
        ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ได้ให้สัญญาในปีที่แล้วว่าจะทำ "สิ่งใดก็ตามที่จำเป็นต้องทำ" เพื่อปกป้องสกุลเงินยูโร ซึ่งรวมถึงการเข้าซื้อพันธบัตรของประเทศที่มีเศรษฐกิจอ่อนแอ โดยคำสัญญาดังกล่าวได้ช่วยสร้างความเชื่อมั่นในตลาดการเงินและส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมลดลงอย่างมาก รวมทั้งส่งผลให้ตลาดการเงินเข้าสู่ภาวะ
เสถียรภาพในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา
        อย่างไรก็ดี วิกฤติหนี้ยูโรโซนมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในระยะยาว โดยในขณะนี้จำนวนคนตกงานในอียูอยู่ที่ 27 ล้านคน หรือ 11 % ของประชากรอียู ซึ่งรวมถึงครึ่งหนึ่งของประชากรวัย 15-24 ปีในสเปนและกรีซ
        ประเด็นนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการอภิปรายเกี่ยวกับทางเลือกระหว่างมาตรการรัดเข็มขัดและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยในขณะนี้รัฐบาลฝ่ายกลาง-ซ้ายในหลายประเทศสูญเสียความเชื่อมั่นในมาตรการตัดงบประมาณ
อย่างเข้มงวดที่อียูกำหนดมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเศรษฐกิจไม่ได้เติบโตขึ้นหลังการดำเนินมาตรการรัดเข็มขัด
        นายเคลเมนส์ เฟาสท์ หัวหน้าสถาบันเศรษฐกิจ ZEW ของเยอรมนีกล่าวเตือนในเดือนก.พ.ว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างต่อเนื่องและอัตราการว่างงานที่ระดับสูงในกรีซและสเปนอาจส่งผลให้เกิดความแตกแยกในยุโรปและอาจนำไปสู่การล่มสลายของสกุลเงินยูโร
        นายเฟาสท์กล่าวต่อรอยเตอร์ว่า "สิ่งนี้คือสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นและอาจนำไปสู่การแยกตัวออกจากยูโรโซน ขณะที่ในอนาคต ประชากรในประเทศกลุ่มนี้อาจจะกล่าวว่า 'เราไม่เชื่อว่าสถานการณ์จะดีขึ้น'"
        นายเฟาสท์กล่าวว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว อียูก็จำเป็นต้องเลือกระหว่างการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ในการจัดสรรเงินให้แก่ภาคใต้ของยุโรปหรือการที่ประเทศหนึ่งตัดสินใจถอนตัวออกจากยูโรโซน
        นายเฟาสท์กล่าวว่า "ถ้าหากสถานการณ์นี้ดำเนินต่อไป และอัตราการว่างงานพุ่งขึ้นสู่ระดับราว 30 % ในสเปน ก็มีความเป็นไปได้สูงมากที่จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น"
        นายโซลท์ ดาร์วาส นักเศรษฐศาสตร์ของสถาบันบรูเกล แสดงความเห็นเช่นเดียวกัน โดยนายดาร์วาสกล่าวต่อรอยเตอร์ว่า "มีความเป็นไปได้สูงที่ถ้าหากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไม่ได้ปรับตัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดและอย่างแข็งแกร่งมากรัฐบาลบางประเทศก็อาจจะล่มสลาย และอาจจะเกิดหายนะตามมา และบางประเทศจะถอนตัวออกจากยูโรโซน"
        ในร่างแถลงการณ์ที่เตรียมไว้ก่อนการประชุมสุดยอด ผู้นำอียูกล่าวย้ำถึงความกังวลเกี่ยวกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและการว่างงาน และให้สัญญาว่าจะดำเนิน "แผนริเริ่มจ้างงานคนอายุน้อย" โดยกันเงินไว้เกือบ 6 พันล้านยูโรเพื่อช่วยเหลือประเทศที่ได้รับความเสียหายมากในอียูในช่วง 7 ปีข้างหน้า
        ร่างแถลงการณ์นี้ระบุว่า "การว่างงานถือเป็นปัญหาทางสังคมที่สำคัญที่สุดที่เรากำลังเผชิญอยู่ โดยสิ่งที่สำคัญก็คือการแก้ไขผลกระทบทางสังคมที่เกิดจากวิกฤตการณ์ และการต่อสู้กับความยากจนและการกีดกันคนออกจากสังคม"
        อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์บางคนกล่าวว่า ปริมาณเงิน 6 พันล้านยูโรนี้ถือว่าน้อยเกินกว่าที่จะส่งผลกระทบใดๆได้ เพราะจำนวนเงินดังกล่าวหมายความว่าคนว่างงานอายุน้อยแต่ละคนในประเทศสมาชิกอียู 27 ประเทศ จะได้รับความช่วยเหลือเพียงคนละ 100 ยูโรเท่านั้น
        เจ้าหน้าที่ระดับสูงคนหนึ่งในยูโรโซนกล่าวว่า "6 พันล้านยูโรถือว่าเป็นระดับที่ไม่มากพอ ผมคิดว่า 6 หมื่นล้านยูโรก็จะถือเป็นระดับที่ไม่มากพอเช่นเดียวกัน สิ่งนี้ถือเป็นการดำเนินการรับมือในทางการเมือง แต่ไม่ใช่การ
รับมือที่มีความสำคัญ"
        นายมาร์ติน ชูลส์ ประธานรัฐสภายุโรป กล่าวในการให้สัมภาษณ์แก่รอยเตอร์ว่า ในการแก้ไขปัญหาการว่างงานได้อย่างเหมาะสมนั้น อียูจำเป็นต้องกันเงินไว้ในระดับเดียวกับที่ใช้ในการช่วยเหลือธนาคารพาณิชย์
        ผู้นำยูโรโซนเคยค้ำประกันเงิน 7 แสนล้านยูโรสำหรับใช้ในกลไกช่วยเหลือธนาคารพาณิชย์และช่วยเหลือประเทศที่มีหนี้สินสูง
        นายชูลส์กล่าวว่า "ถ้าหากเรามีเงิน 7 แสนล้านยูโรไว้ใช้ในการสร้างเสถียรภาพให้แก่ระบบธนาคาร เราก็จำเป็นต้องมีเงินอย่างน้อยในระดับเดียวกันเพื่อสร้างเสถียรภาพให้แก่คนรุ่นหนุ่มสาวในประเทศกลุ่มนี้"
        "เราเป็นแชมเปี้ยนโลกในด้านการตัดงบประมาณ แต่เราด้อยกว่าประเทศอื่นๆในด้านแนวคิดเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ"
        นักการทูตของอียูกล่าวว่า การประชุมสุดยอดในครั้งนี้ไม่มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการอภิปรายเรื่องการจ้างงานหรือภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากผู้นำอียูหลายคนชะล่าใจต่อปัญหานับตั้งแต่อีซีบีเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องนี้
        อย่างไรก็ดี ผู้นำอียูอาจจะเริ่มใส่ใจต่อปัญหาขึ้นมาบ้าง เนื่องจากคนว่างงานอายุน้อยและสมาชิกสหภาพแรงงานราว 10,000 คนมีแนวโน้มที่จะชุมนุมประท้วงต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัดและภาวะว่างงานในกรุง
บรัสเซลส์ก่อนการประชุมสุดยอดในครั้งนี้
(ข่าวจากสำนักข่าว รอยเตอร์)
 
T.Thammasak
กำลังโหลดความคิดเห็น