xs
xsm
sm
md
lg

“ทีดีอาร์ไอ” ชี้หนี้สาธารณะไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง 5 ปี แนะรัฐบาลบริหารให้เหมาะสม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ทีดีอาร์ไอ” ชี้หนี้สาธารณะไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง 5 ปี แนะรัฐลดรายจ่าย ปรับโครงสร้างภาษีหารายได้ เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มีมุมมองเกี่ยวกับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2556 และแนวโน้มหนี้สาธารณะ 2556-2560 โดยระบุว่า การมีหนี้สาธารณะเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับประเทศที่ยังมีฐานภาษีต่ำและต้องการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ด้วยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการลงทุนในระบบความคุ้มครองทางสังคม ระบบสวัสดิการ แต่รัฐบาลต้องคำนึงถึงพื้นที่การคลังให้มีมากพอเพื่อรองรับความจำเป็นในอนาคตหากมีการขาดดุล

นายสมชัยเสนอแนวทางการบริหารหนี้สาธารณะไว้ด้วยการเพิ่มรายได้รัฐ เช่น การจัดระบบภาษีให้มีลักษณะอัตราก้าวหน้า (progressive) และตรงตามหลักความเสมอภาคทางภาษี และมีการเพิ่มภาษีใหม่ๆ โดยเฉพาะจากฐานทรัพย์สิน มีการวางแผนการใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง บริหารหนี้สาธารณะอย่างโปร่งใส มีการวางแผนระยะปานกลางถึงยาว (5 ปีเป็นอย่างน้อย) บริหารภาระทางการคลังอย่างเหมาะสม

ทั้งนี้ ได้ประมาณการแนวโน้มหนี้สาธารณะ ภายใต้สมมติฐานหลายประการ เช่น อัตราการเพิ่มของรายจ่ายประจำ อัตราดอกเบี้ย การลงทุนปกติ เป็นต้น นอกจากนี้ได้รวมผลกระทบต่อภาระหนี้สาธารณะที่เกิดจากโครงการพิเศษทั้งด้านรายได้และด้านรายจ่าย ในช่วงปี 2556-2560 ภายใต้เงื่อนไข 3 กรณี คือ เศรษฐกิจขยายตัว 4% ขยายตัว 5% และขยายตัว 6% ตลอดระยะเวลา 5 ปีดังกล่าว

นายสมชัยเห็นว่า การที่แนวโน้มหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นในทุกกรณี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในภาวะเศรษฐกิจปกติ การคลังไทยมีโครงสร้างขาดดุลโดยพื้นฐาน ดังนั้น รัฐบาลควรบริหารความเสี่ยงด้วยการเร่งรัดลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท แต่ต้องจัดการใช้จ่ายให้เกิดประสิทธิภาพ รั่วไหลน้อย และมีการดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว พร้อมไปกับส่งเสริมมาตรการอื่น ๆ เช่น การพัฒนาคน เทคโนโลยี และยกระดับสถาบันหลักของเศรษฐกิจ เพื่อให้การขยายตัวระดับสูงมีความยั่งยืน

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น ระยะสั้น ได้แก่ เศรษฐกิจขยายตัวต่ำจากเศรษฐกิจโลก อัตราดอกเบี้ยปรับสูงขึ้น ขณะที่ระยะยาว คือ คนและแรงงานที่ยังไม่พัฒนา และ การปรับปรุงระบบภาษีที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ รัฐไม่สามารถเพิ่มรายได้ภาษีจากภาษีบางประเภทได้ เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีมูลค่าเพิ่ม

โดยในระยะสั้นควรเป็นการปรับลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง เช่น หากมีการปรับลดการขาดทุนที่เกิดจากโครงการจำนำข้าวลงให้เหลือไม่เกินปีละ 7 หมื่นล้านบาทจะช่วยเพิ่มพื้นที่ทางการคลังเท่ากับประมาณ 5% ของรายได้ประชาชาติได้ในระยะเวลา 5 ปี ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับรัฐบาลไทยอย่างมีนัยสำคัญได้แน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น