xs
xsm
sm
md
lg

จับผิด...ผี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ระหว่างที่เรากำลังนั่งขนหัวลุกอยู่กับสารพัดผีที่หน้าจอ อากาศเย็นฉับพลันชวนหวั่นเข้าไปอีก “ฮัลโลวีน” คืนนี้อาจน่ากลัวขึ้นทันใด แต่ไม่ใช่กับนักฟิสิกส์ที่กำลังครุ่นคิดถึงความเป็นไปได้ ว่า ผีเหล่านี้กำลังหลอกเราแบบไหน
ผีมีจริงหรือไม่ เรายังไม่ฟันธง แต่การปรากฎตัวของผีในแบบต่างๆ ชวนให้ฉงนสงสัยถึงความน่าจะเป็น บ้างก็ไม่สอดคล้องตามหลักวิทยาศาสตร์ หลักคณิตศาสตร์ ซ้ำยังค้านกันเอง (uhsecho.com)
ศ.ดร.คอสตัส เอฟติมอย (Costas Efthimiou) นักฟิสิกส์ทฤษฎี กับ โซฮาง คานธี (Sohang Gandhi) นักศึกษา มหาวิทยาลัยเซ็นทรัล ฟลอริดา สหรัฐอเมริกา เขียนบทความตีพิมพ์ลงวารสารวิจารณ์วิทยาศาสตร์ “สเคปติคอล อินไควเรอร์” (Skeptical Inquirer) โดยใช้กฎทางฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ช่วยชี้จุดที่ไม่สอดคล้องของ “ความเป็นผี” ที่เล่าต่อๆ กันมา รวมถึงในภาพยนตร์ต่างๆ

ผีมาทีไร ทำไมต้องหนาว…ววว

อากาศรอบตัวที่ร้อนอบอ้าว จะกลายเป็นหนาวขึ้นทันใด เมื่อมีวิญญาณหรือผีสักตนปรากฏตัว แท้จริงแล้วสภาพอากาศที่เปลี่ยนอุณหภูมิอย่างรวดเร็วนั้น เป็นเพราะการถ่ายเทความร้อน ซึ่งพบได้บ่อยครั้ง

เอฟติมอย ได้ยกตัวอย่าง การทดลองที่แกลอรีหลอนแห่งหนึ่ง ในแฮมตัน คอร์ต พาเลซ ไม่ห่างจากลอนดอนมากนัก (Haunted Gallery at Hampton Court Palace) ที่แห่งนี้ร่ำลือว่ามีวิญญาณของแคทเธอรีน โฮวาร์ด (Catherine Howard) ซึ่งเธอถูกประหารชีวิตโดยพระเจ้าเฮนรีที่ 8 ในปี ค.ศ.1542 ใครก็ตามที่เข้าไปเยือนจะได้ยินเสียงกรีดร้อง และบ้างก็เห็นผีจะจะ ในแกลเลอรี
สถานที่สำรวจความขนลุก แฮมป์ตัน คอร์ต พาเลซ พระราชวังของพระเจ้าเฮนรีที่ 8 ว่ากันว่าในแกลอรีหลอนแห่งนี้  มีวิญญาณซ่อนอยู่ เจอมาแล้วหลายราย (flickriver.com)
ทีมนักจิตวิทยาผู้ไม่กลัวผี ซึ่งนำโดย ริชาร์ด ไวซ์แมน (Richard Wiseman) จากฮาร์ต์ฟอร์ดไชร์ (Hertfordshire University) ได้ทดลองเข้าไปติดตั้งกล้อง และตัววัดการเคลื่อนที่ของอากาศในแกลเลอรีดังกล่าว และได้สอบถามผู้เข้าชมราว 400 คน ว่ารู้สึกอย่างไร

ผู้ที่ตอบคำถามมากกว่าครึ่งบอกว่า รู้สึกได้เลยถึงความเย็นจากอุณหภูมิที่ลดลงอย่างรวดเร็ว และบางคนยังรู้สึกได้ว่าผีปรากฏตัวอยู่บริเวณนั้น ขณะที่อีกหลายคนบอกชัดเจนว่า พวกเขาเห็นตัวของอลิซาเบธด้วย

ปรากฏการณ์ขนลุกซู่ที่เกิดขึ้น ก็คือ การปรับสมดุลของความร้อน เมื่อวัตถุที่มีความร้อนสูงกว่า (หรือร่างกาย) อยู่ใกล้กับวัตถุเย็นกว่า จะมีพลังงานจะเคลื่อนจากความอุ่นไปหาความเย็น ซึ่งพลังงานดังกล่าวก็คือความร้อนนั่นเอง ความร้อนจะถ่ายเทไปที่เย็นกว่า และจะสิ้นสุดเมื่ออุณหภูมิของวัตถุทั้ง 2 เท่ากัน เรียกว่า “สมดุลทางความร้อน” (Thermal equilibrium)
การสร้างความสมดุลของอุณหภูมิในสถานที่แห่งหนึ่ง อากาศร้อนเคลื่อนไปหาอากาศเย็น (ตามภาพซ้าย) แต่ในสถานการณ์จริงแล้ว ทิศทางของการถ่ายเทความร้อนจะไร้รูปแบบ ทำให้เกิดการปรับอุณหภูมิฉับพลัน นั่นทำให้เรารู้สึกเย็นขึ้นอย่างรวดเร็ว (Costas J. Efthimiou and Sohang Gandhi)
กลับมาที่จุดเกิดเหตุ ในแกลเลอรีหลอน ทีมของ ดร.ไวซ์แมน เชื่อว่า เหตุที่ทำให้อยู่ๆ ก็หนาวขึ้น น่าจะเป็นเพราะประตูที่ปิดตายจำนวนมาก ซึ่งทางออกเก่าเหล่านี้เป็นช่องลมโกรก จึงทำให้มีอากาศลอดผ่านเข้ามาได้ และยังมีจุดที่อุณหภูมิต่ำสุด 2 องศาเซลเซียส ถึง 2 ตำแหน่งด้วยกันในแกลเลอรี ทำให้เกิดโอกาสอุณหภูมิไหลเวียนปรับสมดุล

ถ้าเกิดรู้สึกหนาวฉับพลัน ในบ้านผี นั่นก็มีโอกาสที่จะเกิดความกลัว และเริ่มสยองขนลุก บางครั้งความหนาวอาจจะไม่สัมพันธ์กับอุณหภูมิที่ลดลงจริง อาจจะเป็นการถ่ายเทความร้อนจากร่างกายของคนใกล้ๆ ดังนั้นความเย็นวาบที่เกิดขึ้น จึงถูกเชื่อมโยงกับผี และเมื่อเราอยู่ในโครงสร้างอาคารเก่าๆ บวกรวมเข้ากับจินตนาการต่างๆ เรื่องผีที่เคยฟังมา… ความเย็นวาบจึงตามมาด้วยสิ่งลี้ลับนับไม่ถ้วน


ผีจับต้องไม่ได้ แล้วเอาแรงที่ไหนเดิน

ใครๆ ก็รู้ว่าผีไม่ใช่วัตถุ จับต้องไม่ได้ ในภาพยนตร์หลายเรื่อง ผีเดินทะลุคน กำแพงสิ่งของต่างๆ นั่นก็ถือว่าเป็นไปตามความเชื่อ แต่ผีเหล่านี้ส่วนใหญ่เดินได้เหมือนคน บ้างก็หยิบจับสิ่งของได้
ภาพยนตร์ เดอะ โกสต์ เป็นตัวอย่างหนึ่งที่นักวิจัยสงสัยว่า ถ้าผีไม่มีตัวตนสัมผัสคนไม่ได้ แล้วจะใช้แรงกิริยาเดินหรือหยิบจับสิ่งของอย่างไร
การเดินนั้นต้องอาศัยแรงปฏิกิริยาระหว่างเท้ากับพื้น ตามกฎการเคลื่อนที่ของนิวตัน ซึ่งกฎข้อที่ 1 คือ “กฎความเฉื่อย” ร่างกายจะรักษาสภาพอยู่นิ่งและไม่สามารถเดินได้จนกว่าจะมีแรงภายนอกมากระทำ ซึ่งระหว่างเดินนั้นมีเพียง “พื้น” เป็นวัตถุเดียวที่สัมผัสกับเท้า ดังนั้น แรงภายนอกดังกล่าวจึงมาจากพื้น

แล้วพื้นจะรู้ได้อย่างไรว่า เราจะหยุดหรือเราจะเดินเมื่อใด ก็อาศัยคำอธิบายจากกฎข้อที่ 3 ของนิวตัน เมื่อวัตถุหนึ่งมีแรงกิริยากระทำต่อวัตถุอีกชิ้นหนึ่ง วัตถุชิ้นที่ถูกกระทำย่อมมีแรงปฏิกิริยาขนาดเท่ากัน แต่กระทำในทิศทางตรงกันข้ามเสมอ และการเดินเราจะส่งแรงไปด้านหลัง ขณะที่พื้นจะส่งแรงกลับมาในขนาดเท่ากันแต่มีทิศทางไปด้านหน้า แต่ถ้าผีจะเดินได้ก็ต้องส่งแรงไปที่พื้น นั่นหมายความว่าผีต้องอยู่ในรูปที่จับต้องได้ และสามารถมองเห็นกายภาพของผีได้เช่นกัน
ภาพซ้ายอธิบายถึงการเดินว่าต้องมีแรงกิริยาและแรงปฏิกิริยา ระหว่างเท้ากับพื้นเพื่อส่งให้เราก้าวไปข้างหน้าได้ หรือถ้าเรายืนบนสเก็ตบอร์ดและเอามือยันกำแพง จะมีแรงผลักในทิศตรงกันข้ามออกมาจากกำแพง ทำให้เราเคลื่อนไปข้างหน้าได้ ซึ่งการจะส่งแรงกระทำต่อพื้นได้นั่นหมายความเราต้องอาศัย กายหยาบ แต่หากผีส่งแรงไปที่พื้นที่ได้ แสดงว่าผีต้องมีลักษณะที่จับต้องได้ (Costas J. Efthimiou and Sohang Gandhi)
อย่างไรเสีย เอฟติมอย ก็ยังไม่ด่วนสรุป โดยเขาก็เปิดช่องให้วิเคราะห์ต่อไปว่า ผีอาจจะมีพลังพิเศษ สามารถเลือกให้จับต้องได้หรือไม่ได้แล้วแต่สถานการณ์ นอกจากนี้กฎข้อที่ 2 ของนิวตันที่กล่าวถึงอัตราเร่งของวัตถุหรือการเพิ่มความเร็วขึ้น ซึ่งหาได้จากแรงที่กระทำต่อวัตถุหารด้วยมวลของวัตถุ

ดังนั้น การที่มวลหรือวัตถุจะเปลี่ยนแปลงการเคลื่อนที่ได้ อัตราเร่งต้องไม่เท่ากับศูนย์ หรือต้องมีแรงมากระทำต่อวัตถุ ซึ่งเราจะเริ่มเดินไม่ได้เลยหากไม่มีแรงมากระทำ การเดินได้ของผีจึงอาจจะอาศัยแรงจากแหล่งอื่นเพื่อให้พุ่งไปข้างหน้าได้

ประชากรแวมไพร์ที่น่าจะกลายเป็นทวีคูณ

เรื่องราวของผีดูดเลือดมีมากมาย ตั้งแต่รุ่นดึกอย่างแดรกคิวลา หรือรุ่นซ่าอย่างเบลด รวมถึงเอ็ดเวิร์ดแวมไพร์สุดหล่อสาวกรี๊ดมากกว่ากลัว ซึ่งอาหารของสิ่งไร้ชีวิตชนิดนี้คือ “เลือดมนุษย์”
ผีดูดเลือดเป็นอีกเรื่องที่ข้องใจ ถ้าอาหารของพวกมันคือเลือดมนุษย์ ดังนั้นจำนวนมนุษย์ที่จะกลายเป็นแวมไพร์จะมีมากเท่าไหร่แล้ว (The VAMPIRE blockbuster TWILIGHT)
แน่นอนว่า เมื่อแวมไพร์ดูดเลือดใคร มนุษย์คนนั้นก็จะกลายเป็นแวมไพร์ และก็ตามไปดูดเลือดมุษย์คนอื่นๆ และเปลี่ยนเป็นแวมไพร์ต่อๆ ไป ถ้าอธิบายตามการก้าวหน้าเรขาคณิต (geometric progression) คงจะไม่เหลือมนุษย์อยู่บนโลกไปนานแล้ว

ถ้าแวมไพร์ได้เหยื่อกินเลือด มนุษย์ก็จะหายไป 1 คน และได้แวมไพร์เพิ่มมาอีก 1 ตน
 เมื่อใช้หลักคณิตศาสตร์มาอธิบาย ป่านนี้โลกเราต้องเต็มไปด้วยประชากรแวมไพร์ (Costas J. Efthimiou and Sohang Gandhi)
เอฟติมอย จึงลองคำนวณ โดยสมมติว่าถ้าเราพบแวมไพร์ตัวแรกตั้งแต่เดือนมกราคม ค.ศ.1600 และข้อมูลประชากรโลกขณะนั้นมี 536,870,911 คน จากนั้นเริ่มเทียบบัญญัติไตรยางค์ โดยไม่นำข้อมูลการเกิดและตายมารวมให้ยุ่งยาก

ถ้าแวมไพร์ตัวแรกดูดเลือดมนุษย์เดือนละครั้ง เดือนกุมภาพันธ์แวมไพร์ก็จะมี 2 ตัว และมนุษย์ก็จะเหลือ 536,870,910 คน ถัดมาในเดือนมีนาคม มนุษย์หายไปเป็น 3 คน ส่วนแวมไพร์ก็จะมี 4 ตัว และเพิ่มเป็น 8 ตัวในเดือนเมษายน ซึ่งเมื่อเทียบความก้าวหน้าเรขาคณิตจะเห็นว่า มนุษย์ควรหมดไปภายใน 2 ปีครึี่ง แหล่งอาหารของแวมไพร์ก็จะหายไปด้วย

แต่ปัจจุบันมนุษย์เรายังเต็มโลก ดังนั้นแวมไพร์จึงไม่น่าจะมีอยู่จริง หรือไม่เช่นนั้นใครก็ตามที่สร้างตำนานผีดูดเลืือดขึ้นมาก็อาจจะตกวิชาคณิตศาสตร์ก็เป็นได้

เอฟติมอย เขียนรายงานฉบับนี้ขึ้นมา ก็เพื่อต้องการแสดงให้เห็นว่า แนวคิดความเชื่อเรื่องผีและแวมไพร์นั้น มีความขัดแย้งและไม่สมเหตุสมผล และที่สำคัญไปกว่านั้นอยากกระตุ้นให้เกิดการวิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้หลักวิทยาศาสตร์เข้ามาคิดอย่างเช่นเรื่องผีลี้ลับที่หลายคนกลัว เมื่อไตร่ตรองดีๆ ก็จะเห็นถึงความเป็นไปได้ และจะไม่กลัวผีหลอกอีกต่อไป







กำลังโหลดความคิดเห็น