xs
xsm
sm
md
lg

วิตก‘เงินลงทุน’รีบเร่งไหลทะลักเข้าพม่า

เผยแพร่:   โดย: แครีย์ แอล ไบรอน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Myanmar rush risks undermining progress
By Carey L Biron
04/05/2012

การผ่อนคลายมาตรการลงโทษคว่ำบาตรพม่า อาจส่งผลให้มีเงินลงทุนต่างประเทศหลั่งไหลทะลักทลายเข้าไปชนิดที่ถึงขั้นคุกคามเป็นอันตรายต่อกระบวนการปรับตัวเปลี่ยนแปลงอันละเอียดอ่อนของแดนหม่อง ประเทศซึ่งก่อนหน้านี้ไม่นานยังปิดตัวเองและถูกปกครองโดยฝ่ายทหารอย่างแน่นหนา ขณะเดียวกัน สิทธิของประชาชนคนสามัญและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ก็จะถูกเหยียบย่ำท่ามกลางความร้อนรนรีบเร่งดังกล่าวนี้

วอชิงตัน – ขณะที่รัฐบาลต่างๆ ในโลกตะวันตกกำลังอภิปรายถกเถียงกันเกี่ยวกับวิธีการอันถูกต้องเหมาะสมในการผ่อนคลายมาตรการลงโทษคว่ำบาตรพม่าอยู่นั้น ก็มีความหวาดหวั่นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ว่า เงินลงทุนต่างประเทศที่กำลังไหลทะลักเข้าไปอย่างมากมายและเร่งรีบ อาจสร้างความเสียหายให้แก่กระบวนการปรับตัวเปลี่ยนแปลงอันละเอียดอ่อนที่กำลังดำเนินอยู่ในแดนหม่อง
“ผมกำลังมองเห็นการไหลทะลักของการลงทุนอย่างชนิดเกินเลยไปมาก จนกระทั่งถ้าหากสามารถกระทำสิ่งที่ทำให้เกิดการชะลอการลงทุนได้ ก็น่าที่จะเป็นผลประโยชน์ระยะยาวสำหรับประเทศนี้” เล็กซ์ เรฟเฟล (Lex Rieffel) นักเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญเรื่องภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของ สถาบันบรูกกิงส์ (Brookings Institution) กล่าวในวันพฤหัสบดี(3 พ.ค.) ณ สภาเพื่อความสัมพันธ์กับต่างประเทศ (Council on Foreign Relations) ในกรุงวอชิงตัน อันเป็นสถาบันคลังสมองที่ทรงอิทธิพลยิ่งของสหรัฐอเมริกา

“ผมสามารถยืนยันกับพวกคุณได้ว่า ถึงเรายังพยายามคงการคว่ำบาตรเอาไว้ ก็ยังจะมีเงินลงทุนมากมายเข้าไปในประเทศนี้อยู่ดี ทว่าด้านที่น่าจะมีการลงทุนต่ำเกินไปก็เห็นจะเป็นเรื่องคน – รัฐบาล (พม่า) เวลานี้กำลังพบปะหารือกับพวกนักลงทุน นักลงทุนไม่ว่า นาย ก นาย ข นาย ค ต่างก็ไปหาพวกเขา (รัฐบาลพม่า) หมด แต่ (รัฐบาลพม่า) ไม่มีการจัดเวลาเอาไว้สำหรับการพิจารณาตัดสินใจที่สำคัญๆ หรือการดำเนินการในสิ่งที่สำคัญๆ หรอก” เขากล่าวต่อ

สืบเนื่องจากเหตุการณ์สำคัญยิ่งยวด 2 ประการที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ช่วงระยะไม่กี่สัปดาห์หลังๆ มานี้ เราจึงได้พบเห็นกระแสความเคลื่อนไหวอันสับสนชุลมุนในเรื่องเกี่ยวกับการเข้าไปลงทุนในพม่า เหตุการณ์อย่างแรกคือการเลือกตั้งซ่อมสมาชิกรัฐสภา ซึ่งปรากฏว่า พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy หรือ NLD) อันเป็นพรรคการเมืองของนางอองซานซูจี ผู้นำฝ่ายค้าน คว้าชัยชนะไปได้ถึง 43 ที่นั่ง โดยหนึ่งในจำนวนนี้เป็นของ ซูจี เอง ซึ่งทำให้เธอสามารถก้าวเข้าไปอยู่ในแวดวงรัฐบาลได้อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก โดยในที่สุดแล้วเธอก็สาบานตัวเข้าดำรงตำแหน่งเป็น ส.ส.เมื่อวันพุธ (2 พ.ค.)ที่ผ่านมา

มีรัฐบาลของหลายๆ ประเทศ เป็นต้นว่า สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ได้ใช้ผลการเลือกตั้งซ่อมคราวนี้เป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการลดเลิกบรรดามาตรการลงโทษคว่ำบาตรพม่าซึ่งพวกเขาได้ประกาศใช้นานปีแล้ว มาตรการเหล่านี้ถือว่าประสบความสำเร็จทีเดียว ในการตัดขาดพม่าออกจากปริมณฑลจำนวนมากของโลก และทำให้การลงทุนต่างประเทศย่างก้าวเข้าไปยังแดนหม่องได้ด้วยความลำบากยากเย็นยิ่ง ถ้าหากไม่ถึงขั้นเป็นไปไม่ได้เลย

เหตุการณ์ประการที่สอง ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการเลือกตั้งซ่อม ได้แก่การที่รัฐบาลพม่าดำเนินขั้นตอนต่างๆ ซึ่งควรที่จะได้กระทำตั้งนานแล้ว เพื่อเปิดทางให้สกุลเงินตราของตน อันได้แก่ สกุลเงินจ๊าด สามารถซื้อขายได้อย่างเสรี

ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา พวกเจ้าหน้าที่รัฐบาลพม่าพยายามรักษาให้ค่าเงินจ๊าดผูกโยงกับอัตราค่าเงินทั่วโลกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund หรือ IMF) ขณะที่อัตราดังกล่าวนี้ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนอย่างเป็นทางการของพม่าอยู่ที่ เงินจ๊าดระหว่าง 6 ถึง 8 จ๊าด แลกได้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่อัตราในตลาดมืดกลับวนเวียนอยู่ในช่วงระหว่าง 700 ถึง 1,400 จ๊าด แลกได้ 1 ดอลลาร์ ความแตกต่างอย่างมากมายมหาศาลถึงขนาดนี้ ก่อให้เกิดอุปสรรคอันใหญ่โตมโหฬารในการทำธุรกิจอย่างชนิดเปิดเผยตรงไปตรงมา

“การตัดสินใจในเรื่องค่าเงิน นับเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญกว่าการเลือกตั้งซ่อมเสียอีก เมื่อพิจารณาจากแง่มุมของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นแก่ชีวิตของประชาชนสามัญชนของพม่า” เรฟเฟล บอก

แม้กระทั่งก่อนหน้าการเลือกตั้งซ่อมคราวนี้เสียอีก ในช่วงปีที่ผ่านมาก็มีพวกตัวแทนธุรกิจต่างประเทศเริ่มหลั่งไหลเข้าไปในพม่า ในขณะที่แดนหม่องได้ลงมือดำเนินการปฏิรูปด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่องเป็นชุดใหญ่ ถึงแม้การปฏิรูปเหล่านี้ยังมีประเด็นเป็นที่ถกเถียงโต้แย้งกันอยู่ แต่ก็เห็นกันโดยทั่วไปว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก รายงานหลายๆ กระแสบ่งบอกให้ทราบว่า เที่ยวบินเดินทางเข้าพม่า ตลอดจนห้องพักโรงแรมระดับไฮเอ็นในนครย่างกุ้ง อยู่ในสภาพเต็มล้น โดยที่ผู้เดินทางและผู้เข้าพักจำนวนมากก็คือพวกที่คาดหวังมองหาลู่ทางในการลงทุนนั่นเอง

เวลานี้ การแข่งขันกันในเรื่องการลงทุนกำลังอยู่ในอาการร้อนระอุมากด้วยซ้ำไป ดังในหนังสือที่ประชาคมทางธุรกิจของสหรัฐฯส่งไปถึงประธานาธิบดีบารัค โอบามา ในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งกล่าวว่า “พวกบริษัทของสหรัฐฯกำลังประสบความเสียเปรียบตั้งแต่ตอนตั้งต้นทีเดียว เนื่องจากมีพวกหน่วยงานและกิจการจำนวนมาก จากยุโรปและจากที่ต่างๆ ในเอเชีย พากันเพิ่มพูนยกระดับการเข้ามีปฏิสัมพันธ์ของพวกเขาขึ้นไปมากทีเดียวในระยะไม่กี่เดือนหลังๆ นี้”

หนังสือฉบับนี้ ซึ่งลงนามโดย หอการค้าสหรัฐฯ (US Chamber of Commerce), สภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน (US-ASEAN Business Council) ตลอดจนองค์กรอื่นๆ เป็นต้นว่า สถาบันน้ำมันปิโตรเลียมอเมริกัน (American Petroleum Institute) เรียกร้องให้สหรัฐฯ “ดำเนินการยกเลิกมาตรการลงโทษคว่ำบาตร ในด้านการอำนวยความสะดวกแก่บริการต่างๆ ทางภาคการเงิน และการทำธุรกรรมทางการเงิน โดยขอให้กระทำอย่างประสานสอดคล้องไปกับการผ่อนคลายข้อห้ามทางด้านการลงทุน”

ประเด็นเรื่องการลงโทษคว่ำบาตรนี้ เป็นประเด็นที่พวกนักเฝ้าจับตามองพม่ามีความคิดเห็นแตกแยกขัดแย้งกันมาเป็นแรมปีแล้ว รวมทั้งประสิทธิผลโดยรวมของระบบการลงโทษคว่ำบาตรระหว่างประเทศอันมีอยู่หลายระบบนั้น ก็ยังเป็นสิ่งที่ถกเถียงอภิปรายกันอยู่จวบจนถึงเวลานี้ อย่างไรก็ดี ในเมื่อแทบทุกฝ่ายต่างกำลังเห็นพ้องกันว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องกลับมาพิจารณาทบทวนคำสั่งห้ามทั้งทางภาคการเงินและทางด้านอื่นๆ ซึ่งมีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน การสนทนาถกแถลงเวลานี้ จึงกำลังเปลี่ยนมาเป็นเรื่องที่ว่า ควรผ่อนคลายยกเลิกมาตรการเหล่านี้ด้วยความรวดเร็วหรือเชื่องช้าขนาดไหน

“พวกเราไม่เห็นด้วยกับวิธีแก้ไขปัญหาที่เสนอโดยทางประชาคมธุรกิจ” เจนนิเฟอร์ ควิกลีย์ (Jennifer Quigley) ซึ่งทำงานอยู่กับองค์กร “ยูเอส แคมเปญ ฟอร์ เบอร์มา” (US Campaign for Burma ทั้งนี้รัฐบาลสหรัฐฯและชาติตะวันตกจำนวนมากยังคงเรียกชื่อประเทศพม่าในภาษาอังกฤษว่า Burma ไม่เปลี่ยนไปเป็น Myanmar ซึ่งทางการแดนหม่องเริ่มใช้ในยุคระบอบเผด็จการทหาร) กล่าวกับสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (Inter Press Service หรือ IPS) “พวกเขาคิดว่าควรอนุญาตให้พวกเขาสามารถเข้าไปลงทุนในทุกภาคส่วนทุกภาคอุตสาหกรรม โดยไม่มีข้อจำกัดอะไรกันอีกแล้ว เหตุผลที่พวกเขาหยิบยกขึ้นมาโต้แย้งก็คือ 'ตอนนี้คนอื่นๆ ต่างกำลังได้รับอนุญาตให้เข้าไปกันหมดแล้ว ดังนั้นเราจึงไม่ต้องการถูกทิ้งให้ค้างเติ่งอยู่' แต่จริงๆ แล้วมันยังเร็วเกินไปหน่อยนะที่จะยอมให้พวกบริษัทของสหรัฐฯเข้าไปได้”

ในระบบเศรษฐกิจที่ตกอยู่ในภาวะเสียหายยับเยินเฉกเช่นเศรษฐกิจของพม่าในปัจจุบัน ประเทศนี้เรียกได้ว่าขาดไร้ระเบียบกฎหมายสำหรับการป้องกันตนเองโดยสิ้นเชิง ขณะที่พวกนักลงทุนระหว่างประเทศเริ่มเข้าแถวจะวิ่งถลันเข้าไป ดังนั้น US Campaign for Burma ตลอดจนองค์กรอื่นๆ จำนวนมาก จึงกำลังพยายามผลักดันให้สหรัฐฯและตัวแสดงระหว่างประเทศรายสำคัญรายอื่นๆ ยอมรับแผนแม่บทที่จะเป็นการวางกรอบวิธีการในการมุ่งเน้นส่งเสริมการลงทุน ซึ่งจะส่งผลในทางบวกต่อประชาชนชาวพม่า

เรื่องที่สำคัญมากๆ ในกรอบดังกล่าวนี้ ก็มีดังเช่น การสร้างหลักประกันว่าพวกชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนชาติพันธุ์ที่ถูกทอดทิ้งละเลยมายาวนานแล้ว จะได้ประโยชน์จากการลงทุนของต่างประเทศเหล่านี้ ควิกลีย์ชี้ว่า ยิ่งเมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่า ทรัพยากรธรรมชาติของพม่าจำนวนมากมาย ก็อยู่ในบรรดาพื้นที่ซึ่งชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่างๆ เป็นประชากรส่วนใหญ่ ดังนั้น “กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ จึงรู้สึกกันว่า ระบอบปกครองปัจจุบันกำลังหันมาเจรจาหารือกับพวกเขา ก็เพียงเพราะหวังผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ ในขณะนี้ การเจรจาหยุดยิงต่างๆ จึงยังอยู่ในสภาพเปราะบางเป็นอย่างยิ่ง”

ทั้งนี้ถึงแม้จะมีการดำเนินการปฏิรูปในด้านอื่นๆ จำนวนมากแล้ว แต่ความขัดแย้งและการสู้รบอย่างรุนแรงระหว่างรัฐบาลกับพวกชนกลุ่มน้อยที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ก็ยังคงดำเนินอยู่ เช่นเดียวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากความขัดแย้งเหล่านี้

เรื่องมาตรการลงโทษคว่ำบาตร ยังถือได้ว่าเป็น 1 ในบรรดาประเด็นสำคัญที่สุดซึ่งสามารถยกระดับฐานะของประชาคมระหว่างประเทศ ในการเจรจาต่อรองกับรัฐบาลพม่า

“ถ้าหากเรายินยอม และเปิดทางให้การลงทุนต่างประเทศไหลเข้าไป ก็จะไม่มีแรงจูงใจใดๆ เหลืออีกแล้วที่จะใช้มาผลักดันรัฐบาล (พม่า) ให้มุ่งหน้าสู่การหาหนทางแก้ไขปัญหาด้วยวิถีทางการเมือง” ควิกลีย์ กล่าว

ยังมีฝ่ายอื่นๆ ที่มองว่า เรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกำลังกลายเป็นเรื่องใหญ่ ถึงขนาดใกล้ที่จะบดบังความน่าวิตกด้านอื่นๆ อันเป็นเรื่องรีบด่วนยิ่งกว่าไปเสียแล้ว

“สหรัฐฯจำเป็นที่จะต้องทำตัวให้โหดๆ เข้าไว้ในเรื่องการยกเลิกมาตรการลงโทษคว่ำบาตร เพราะทันทีที่มาตรการเหล่านี้ถูกยกเลิกไปรัฐบาลทหารพม่า [ที่เวลานี้อยู่ในเครื่องแต่งกายพลเรือน] ก็น่าที่จะโยน อองซานซูจี, พรรค NLD ของเธอ, และกลุ่มพลังเรียกร้องประชาธิปไตยอื่นๆ ลงถังขยะไป” จี มาย ควง (Kyi May Kaung) นักวิเคราะห์ซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ในกรุงวอชิงตัน ให้ความเห็นกับสำนักข่าวไอพีเอส

“สหรัฐฯจะต้องระมัดระวังเป็นอย่างมากว่าตนเองกำลังลดทอนความสำคัญของเรื่องสิทธิมนุษยชน เหมือนอย่างที่ดูเหมือนสหรัฐฯกำลังทำอยู่ในกรณีของ เฉิน กวงเฉิง (Chen Guangcheng) ในปักกิ่ง” นักวิเคราะห์ผู้นี้กล่าว โดยหมายถึง ทนายความผู้ตาบอดชาวจีน ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ได้เข้าไปลี้ภัยอยู่ในสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำกรุงปักกิ่ง ทว่าเวลานี้เขาได้ออกมาจากที่นั่นแล้ว แต่อนาคตในเฉพาะหน้าของเขาจะเป็นอย่างไรต่อไปนั้น ยังดูไม่มีความแน่นอนเอาเสียเลย
(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น